บจ.กลาง-อสังหาฯป่วน‘หุ้นกู้’ ThaiBMA จับตาใกล้ชิด หลังเสี่ยงชำระคืนหนี้

บจ.กลาง-อสังหาฯป่วน‘หุ้นกู้’ ThaiBMA จับตาใกล้ชิด หลังเสี่ยงชำระคืนหนี้

ThaiBMA จับตา “บจ.กลาง-อสังหาฯ” ที่มีปัญหาในตลาดหุ้นไทย ช่วง 1-2 ปีหลัง ฐานะการเงินเสื่อมถอยเร็ว-ธรรมาภิบาลบริษัทส่อแย่ กระทบบรรยากาศตลาดหุ้นกู้ยังไม่สดใส ” ประสาน “ตลท.-ก.ล.ต.” เปิดเผยข้อมูลเร็ว พร้อมวางโครงสร้างปั้น “ตลาดบอนด์” เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ภาพตลาดตราสารหนี้ไทยสิ้นปีนี้คาดมากกว่า 900,000 ล้านบาท แต่จะแตะ 1 ล้านล้านบาทตามกรอบบนหรือไม่ยังต้องติดตามสถานการณ์ซื้อขายหุ้นกู้ช่วงที่เหลือปีนี้ยอมรับบรรยากาศตลาดหุ้นกู้ยังไม่สดใส 

เนื่องจากยังมีกระแสข่าวเชิงลบการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ยังเกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดกลางและเล็ก ที่หลังจากออกเสนอขายหุ้นกู้ไปแล้ว 1-2 ปี ฐานะการเงินเริ่มมีปัญหา และมีความเสี่ยงเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการบริษัททำให้กลุ่มหุ้นกู้ไฮยีลด์ ทั้งการออกเสนอขายหุ้นกู้และความต้องการซื้อยังไม่กลับมา ขณะที่หุ้นกู้กลุ่มอินเวสท์เม้นท์เกรด ที่ออกโดยบริษัทขนาดใหญ่ ยังมีความต้องการซื้อจำนวนมากและขายได้เต็มจำนวน 

บจ.กลาง-อสังหาฯป่วน‘หุ้นกู้’ ThaiBMA จับตาใกล้ชิด หลังเสี่ยงชำระคืนหนี้

  • สำหรับ หุ้นกู้ไฮยีลด์

ยังติดตามกลุ่มบจ.ขนาดกลางและเล็ก ที่มีปัญหาในตลาดหุ้น ซึ่งปัจจุบันมักจะมีความเสี่ยงการชำระคืนหนี้มายังตลาดหุ้นกู้ด้วย รวมถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ โดยสมาคมฯ ได้ประสานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้องครบถ้วนเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อให้ทางสมาคมฯ จะประกาศขึ้นเครื่องหมายแจ้งเตือนหุ้นกู้ที่มีปัญหาได้ท่วงทีและนักลงทุนรายย่อยสามารถมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากที่สุดและใกล้เคียงกับนักลงทุนสถาบัน

พร้อมกันนี้ ทางสมาคมฯ เดินหน้าร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดมากขึ้นในการออกเสนอขายหุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงหุ้นกู้มีปัญหาชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนดในอนาคต ดูแลผู้ลงทุนรายย่อย สร้างความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นกู้

อย่างไรตาม ตลาดตราสารหนี้ไทยเติบโตขึ้นมากภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปัจจุบันมูลค่าเพิ่มขึ้นแตะ 1 ล้านล้านบาท จากช่วงเริ่มต้นเพียง 300,000 ล้านบาท ทำให้ตลาดตราสารหนี้กลายเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย จากความร่วมมือทุกภาคส่วน เน้นย้ำถึงเรื่อง “ธรรมาภิบาล” ในตลาดตราสารหนี้ไทย เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)  เปิดเผยถึงพัฒนาการตลาดตราสารหนี้เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของตลาดการเงินไทย ว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มีการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของไทยให้เป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญ เพิ่มเติมจากภาคธนาคารและตลาดทุน

ทั้งนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ รัฐสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ดีขึ้น ภาคธนาคารสามารถบริหารสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม และเอกชนมีทางเลือกระดมทุนที่หลากหลายรวมถึงตราสารหนี้ประเภท ESG หรือ Green transition เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

สำหรับพัฒนาการระยะข้างหน้าของตลาดตราสารหนี้ไทย ยังสามารถพัฒนาไปได้อีกไกลและก้าวสู่ระดับโลก วางเป้าหมายในระยะยาว มุ่งสู่การเป็น “ตลาดพันธบัตรในภูมิภาค (Regional Bond Market) เพื่อสนับสนุนลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจในเอเชีย จะนำไปสู่ความมีเสถียรภาพและมั่นคั่งของระบบการของเอเซียและประเทศไทย

ทั้งนี้ ตลาดตราสารหนี้ไทย ยังเน้นความสำคัญ 5 เรื่องคือ

1.ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดขั้นตอนที่ซับซ้อน

2.ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคลดซ้ำซ้อนของกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยลดต้นทุน จูงใจให้เกิดความต้องการระดมทุนผ่านช่องทางตราสารหนี้เป็นจำนวนมากได้

3.มุ่งพัฒนาตราสารประเภทใหม่ๆ ผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศไทย สามารถเข้าถึงได้ ด้วยตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและยังให้ผลตอบแทนดี

4.พัฒนาตลาดตราสารหนี้เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่สินทรัพย์ใหม่

5.ยกระดับมาตรฐานในการกำกับดูแลและตรวจสอบ เพื่อทำให้การลงทุนและระดมทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน