กองทุนยก‘หุ้นสหรัฐ’ดาวเด่น ยัน ‘ตลาดไร้สัญญาณฟองสบู่’ แนะธีมหุ้นกลาง-เล็ก
“ตลาดหุ้นสหรัฐ” ยังคงเดินหน้าทำ “จุดสูงสุด” (New High) ไม่หยุด !! ยิ่งเฉพาะหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งสหรัฐ และขานรับทรัมป์เสนอชื่อ“สก็อตต์ เบสเซนต์” อดีตผู้อก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์ และมือบริหารเงินให้พ่อมดการเงิน “จอร์จ โซรอส” เป็นว่าที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐ
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 พ.ย.2567) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 44,736.57 จุด เพิ่มขึ้น 440.06 จุด หรือ + 0.99% , ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,987.37 จุด เพิ่มขึ้น 18.03 จุด หรือ +0.30% ,ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 19,054.84 จุด เพิ่มขึ้น 51.18 จุด หรือ +0.27%
ขณะที่ ดัชนี Russell 2000 มีมาร์เก็ตแคปต่ำ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2,466.49 จุดในการซื้อขายระหว่างวัน ทำลายสถิติเดิมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ก่อนปิดตลาดโดยยังคงทำนิวไฮที่ระดับ 2,442.03 จุด หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง โดยผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปี
ดังนั้น การลงทุนกับตลาดหุ้นสหรัฐ ช่วงนี้จึงเต็มไปด้วยคำถามว่า จะไปต่อไหวหรือไม่? จะเกิดฟองสบู่แตกหรือไม่? “กรุงเทพธุรกิจ” เปิดมุมมอง “ผู้จัดการกองทุน” และกลยุทธ์การลงทุนใน “หุ้นสหรัฐ” หลังจากนี้
“ชวินดา หาญรัตนกูล” กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศการลงทุน 20 วันหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ราคาสินทรัพย์และตัวแปรตลาดต่างๆ ตลาดหุ้นสหรัฐ น่าจะก้าวข้ามผ่านสารพัดสตอรี่เก็งกำไรในประเด็นการกลับมาสมัยที่สองของ “ทรัมป์” ภายหลังจากทรัมป์เสนอชื่อผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ “Scott Bessent” เป็นรมว.คลังสหรัฐคนใหม่ สภาพคล่องในตลาด (25 พ.ย.) ดูผ่อนคลาย ยีลด์พันธบัตรสหรัฐปรับตัวลง ดอลลาร์อ่อนค่า ดัชนีหุ้นเอเชียแปซิฟิกและยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นพร้อมฟิวเจอร์สหรัฐ
“ว่าที่รฐัมนตรีคลังสหรัฐเป็น Hedge Fund Manager ผู้คร่ำหวอดใน Wall Street มีทักษะความรู้ความเข้าใจรวมถึงประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ-ตลาดการเงินในระดับสูงมาก ลดความเสี่ยงที่จะดำเนินนโยบายผิดพลาด และหากตัดหุ้นบิ๊กเทคสหรัฐออก สะท้อนดัชนีหุ้นสหรัฐทยอยขึ้นค่อยเป็นค่อยไป”
ดังนั้น “การปรับตัว” เข้าสู่เฟสถัดไปของตลาด น่าจะนำโดยการปรับตัวลงของยีลด์พันธบัตรสหรัฐ และดอลลาร์อ่อนค่า หนุนราคาสินทรัพย์กลับฟื้นตัวขึ้นโดยทั่วไป ตลาดหุ้นสหรัฐยังขึ้นต่อได้ เพราะหุ้นเติบโต มีมาร์เก็ตแคปสูง อย่าง BIG TECH และ Magnificent 7 แต่ด้วยราคาหุ้นใหญ่กลุ่มนี้ค่อนข้างตึงตัว หลังทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ หุ้นสหรัฐพุ่งต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่ง ทำให้อาจโดนเทขายที่ยังต้องระมัดระวัง และหมุนกลับไป “หุ้นกลางและเล็ก” ที่ราคาหุ้นยังมาปรับตัวขึ้นไม่มาก แต่ต้องเลือกเน้นกลยุทธ์คัดเลือกหุ้นรายตัวที่ได้ประโยชน์จากนโยบายทรัมป์ 2.0 กำไรโตดี
“มนชญา รัชตกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจัดการลงทุน บลจ.ดาโอ กล่าวว่า หุ้นสหรัฐยัง “ไม่เข้าข่ายฟองสบู่” เพราะฝั่งอัตรากำไร (Earning) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ยังเติบโตดีอยู่ ดังนั้น ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปรับขึ้นรอบนี้ มีเหตุผลสนับสนุนชัดเจน และยังได้รับปัจจัยบวกต่อเนื่อง หลังจาก “ทรัมป์” ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 รวมถึงเศรษฐกิจและตลาดแรงงานสหรัฐ ยังคงแข็งแกร่งทำให้ตลาดคาดถึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ลดลงช้ากว่าที่ตลาดคาดเมื่อช่วงก่อนการเลือกตั้ง
“กุลฉัตร จันทวิมล” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มองสภาวะตลาดหุ้นสหรัฐ “ไม่ได้น่ากังวล” แบบยุค 2000 หรือยุค 1970 ที่มีอัตราการกระจุกตัวของหุ้นที่สูง โดยที่ปัจจัยพื้นฐานด้านกำไรและการเติบโตของบริษัทขนาดใหญ่ไม่แข็งแกร่งเท่ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน หากมองสัดส่วนการเงินโดยการพิจารณางบกระแสเงินสดต่อหุ้น (Metrics Free Cash Flow Yield) หุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นอย่างเหมาะสมกับแนวโน้มอัตราผลตอบแทนในระยะยาวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐยังมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง โดยเฉพาะภาคการบริโภค และนักลงทุนในตลาดคาดหวังมาตรการลดภาษีนิติบุคคลมาสนับสนุนกำไรบริษัท รวมถึงการยืดหยุ่นกฏระเบียบต่างๆ คาดว่า จะสนับสนุนสภาวะในการทำธุรกิจ รวมถึงการปล่อยกู้ และการลงทุน เป็นความคาดหวังเชิงบวกนักลงทุนในตลาด สนับสนุนอัตราผลตอบแทนหุ้นสหรัฐในปี 2567
“ไชยวัฒน์ คมโสภาพงศ์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ. เอ็มเอฟซี กล่าวว่า หลังผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จบลง ตลาดให้น้ำหนักที่หุ้นสหรัฐจะได้ปรับตัวขึ้นต่อในปี 2568 มากขึ้น เนื่องจากนโยบายขาดดุลการคลังของรัฐบาลทรัมป์ โดยนโยบายที่สนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับประเทศอื่นๆ ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐเพื่อเป็นแหล่งรายได้ชดเชยผลกระทบจากนโยบายขาดดุลการคลัง และช่วยหนุนให้หุ้นขนาดกลาง-เล็ก ในสหรัฐมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
โดยในปี 2568 การเติบโตของกำไรของหุ้นกลุ่ม Magnificent Seven ที่เป็นตัวแทนหุ้นขนาดใหญ่ มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงหลังจากที่กำไรของดัชนี S&P 500 ถูกผลักดันด้วยหุ้นกลุ่มนี้มาโดยตลอด ทำให้ตลาดมองกำไรบริษัทจดทะเบียนของดัชนี S&P500 จะมีการกระจายตัวมากขึ้น และไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม Magnificent Seven ที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่
ดังนั้น ในปี 2568 มองการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐจะมีการกระจายตัวมากขึ้น นอกเหนือจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เช่น กลุ่ม Financials, Consumer Discretionary และ Industrials รวมถึงหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนเหนือหุ้นขนาดใหญ่ (Outperform) อย่างไรก็ตาม หุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI ยังมีศักยภาพเติบโตระยะยาว
“สิทธา เซ่งไพเราะ” ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ไทยพาณิย์ กล่าวว่า ตลาดอาจมีความกังวลราคาหุ้นสหรัฐที่ตึงตัวแล้วเป็นปัจจัยกดดัน แต่ยังมองบวกว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังไปต่อได้ โดยเฉพาะกำไรบจ.ยังเติบโตได้ดีในปีนี้และปีหน้า เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ และทิศทางดอกเบี้ยของเฟดยังคงเป็นขาลง แต่ตลาดยังไม่มองบวกสุด ยังกล้าๆ กลัว ๆ ประเมินว่าในปีหน้าตลาดหุ้นสหรัฐจะปรับตัวขึ้น แต่ไม่ได้โดดเด่นเท่า 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ แต่หุ้นสหรัฐกลางและเล็ก ราคาหุ้นยังไม่ปรับขึ้นมากเมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่
ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนระยะสั้นถึงกลางช่วง 1-2 เดือนนี้ ไปจนถึงถึงต้นปี 2568 หุ้นสหรัฐยังพุ่งขึ้นได้ต่อ ในลักษณะไซด์เวย์อัป แต่ยังใช้ความระมัดระวังลงทุน ดัชนีปรับขึ้นมาที่แนวต้าน หากผู้ลงทุนถืออยู่แล้ว อาจทนถือ “รอขายทำกำไร” และเมื่อตลาดย่อลงมาแตะแนวรับเข้าซื้อสะสมเพิ่มกลุ่มหุ้นได้ประโยชน์นโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ กลุ่มคอนซูมเมอร์ ,คอมมูนิเคชั่นเซอร์วิส ,ไฟแนนเชียล