ธุรกิจโบรกเกอร์ ปี 68 ยัง 'น่าห่วง' หวั่นหุ้นไทยยังขาลง - เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้น

ธุรกิจโบรกเกอร์ ปี 68 ยัง 'น่าห่วง' หวั่นหุ้นไทยยังขาลง - เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้น

“ธุรกิจโบรกเกอร์” ปี 2568 ยัง “น่าห่วง” หวั่นสภาพตลาดหุ้นไทยยังขาลง - เศรษฐกิจไทยยังไม่เห็นแววฟื้น หวั่นฉุด “กำไร” เริ่มอ่อนแอ “บล.ทิสโก้” ชี้ทุกโบรกเกอร์ลุยปรับกลยุทธ์ตั้งแต่ปีนี้ ประคองตัวให้รอด พร้อมจับตา “โบรกเกอร์ไม่มีแบงก์แม่” อาจเห็นเทรนด์ควบรวมต่อเนื่อง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จํากัด เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สำหรับธุรกิจโบรกเกอร์ในปี 2568 ประเมินว่า “น่าเป็นห่วง” หากภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังไม่เป็นขาขึ้น หรืออยู่ในภาวะ “ขาลง” ไม่ได้เอื้ออำนวยให้มีปริมาณการซื้อขาย (วอลุ่ม) หุ้นในตลาดเพิ่มขึ้น และไม่เอื้อต่อการทำธุรกรรมต่างๆ ในตลาดหุ้นไทย เช่น การเข้ามาระดมทุนของบริษัทด้วยการขายไอพีโอ

ขณะเดียวกัน การลงทุนให้ได้กำไรในช่วงตลาดหุ้นเป็นขาลง ต้องทำธุรกรรมประเภทชอร์ตเซล แต่ปัจจุบันไม่สนับสนุนการทำธุรกรรมชอร์ตเซลในตลาดหุ้นไทย และมีการเพิ่มกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการทำธุรกรรมชอร์ตเซลยิ่งยากขึ้น

ธุรกิจโบรกเกอร์ ปี 68 ยัง \'น่าห่วง\' หวั่นหุ้นไทยยังขาลง - เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้น

“หากตลาดหุ้นไทยในปีหน้าไม่ฟื้น ทุกส่วนในตลาดน่าจะเหี่ยวแห้งตามกันไป ดังนั้นปัจจัยสำคัญยังต้องติดตามว่า ตลาดหุ้นไทยปีหน้าจะฟื้นตัวได้หรือไม่ ยังต้องรอติดตามรัฐบาลที่จะต้องพิสูจน์ความสามารถให้ได้ว่า แก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยให้เติบโต นักลงทุนกลับมาเชื่อมั่น และมั่นใจว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปีหน้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น"

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวได้หรือไม่นั้น จะอิงกับรัฐบาลจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีหน้าฟื้นตัวได้แค่ไหน ยังต้องรอติดตามรัฐบาลที่จะต้องพิสูจน์ความสามารถให้ได้ว่า แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ เพราะต้องยอมรับว่า ตอนนี้นักลงทุนในตลาดยังไม่มีความมั่นใจ ว่ารัฐบาลจะสามารถพลิกเศรษฐกิจขึ้นมาได้ จากคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุด คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวเพียง 2.9%

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ในปีนี้ธุรกิจโบรกเกอร์ จะเห็นว่าเราไม่ได้นิ่งนอนใจ เริ่มมีการปรับกลยุทธ์ ให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และเตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายต่างๆ ในปี 2568

โดยยังคงมุ่งขยายธุรกิจเติบโตคุณภาพ พัฒนาบริการในส่วนที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละแห่ง เช่น การพัฒนาคุณภาพการบริการ และปรับปรุงพัฒนาแอปพลิเคชันเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ที่สำคัญจะเห็นว่า ธุรกิจโบรกเกอร์ส่วนใหญ่มุ่งมั่นในการเพิ่มบริการแนะนำลูกค้าลงทุนต่างประเทศ เพราะว่าตลาดหุ้นไทย 2 ปีต่ำสุดในโลก และเติมเต็มการบริการครบวงจรเพิ่มทางเลือก และกระจายการลงทุนให้กับลูกค้า

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ธุรกิจโบรกเกอร์ที่มีสถาบันการเงินเป็นบริษัทแม่ ไม่น่าเป็นห่วง เพราะสถาบันการเงินต้องมีผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินที่ครบวงจร ขาดไม่ได้ที่จะต้องมีบริการการซื้อขายหุ้น ทำให้ธุรกิจเวลท์ของสถาบันการเงินเข้ามาสนับสนุนธุรกิจโบรกเกอร์ สัดส่วนสินทรัพย์ของธุรกิจโบรกเกอร์ของสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทแม่ ยังไม่ไซด์ไม่ใหญ่มาก ทำให้ยังสามารถบริหารจัดการได้

ส่วนธุรกิจโบรกเกอร์ที่มีบริษัทแม่เป็นต่างชาติ จะขึ้นกับภาวะตลาดเป็นหลัก อยู่ที่ว่าต่างชาติจะมองเห็นอนาคตตลาดหุ้นไทยในระยะข้างหน้ามากน้อยแค่ไหน ถ้าหากไม่เห็นโอกาสในระยะข้างหน้า คงจะเห็นการทบทวนการดำเนินธุรกิจโบรกเกอร์ในไทย

และสุดท้ายธุรกิจโบรกเกอร์ ที่ไม่มีสถาบันการเงินเป็นบริษัทแม่ ปัจจุบันมีจำนวนไม่กี่ราย แต่ไม่ได้มีขนาดธุรกิจใหญ่มากนัก จะมีจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจ และให้บริการเฉพาะตัวที่มีความเชี่ยวชาญ มองธุรกิจโบรกเกอร์กลุ่มนี้จะถอดใจกันหรือไม่ หากสภาพตลาดยังไม่ฟื้น อาจจะเห็นเทรนด์การควบรวมธุรกิจโบรกเกอร์กัน เช่นเดียวกับที่เห็นเกิดขึ้นในปีนี้แล้วยังต้องติดตามสภาพตลาดต่างๆ 

ขณะเดียวกันในแง่ของกฎเบียบมาตรการกำกับดูแลธุรกิจโบรกเกอร์มองว่าขณะนี้ออกมาค่อนข้างเข้มงวดแล้ว และในปีหน้าดีกรีความเข้มงวดยังคงอยู่ ดังนั้นในปีหน้า ยังคงเป็นปีที่ทางธุรกิจโบรกเกอร์ ดำเนินพัฒนาระบบเพื่อรองรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมาถือว่าความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ต่างๆ น่าจะครบถ้วน และเพียงพอแล้ว และอยากให้ทุกฝ่ายมุ่งโฟกัสเรื่องการพัฒนาตลาดหุ้นไทยให้เติบโตต่อไป

“ภาพรวมธุรกิจโบรกเกอร์ในปีนี้พบว่ามีจำนวนครึ่งหนึ่งขาดทุน และอีกครึ่งยังมีกำไร อยู่รอดได้ จากวอลุ่มตลาดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 ที่ฟื้นตัวแต่ประเมินในไตรมาส 4 ปี 2567 อาจจะแย่ลง และหากสถานการณ์ในตลาดหุ้นไทยยังไม่ฟื้นตัว พัฒนาการของตลาดหุ้นไทยยังช้าลง ประเมินว่า ในปีหน้าธุรกิจโบรกเกอร์อาจเริ่มอ่อนแอลง ดังนั้นต้องปรับกลยุทธ์รักษาการเติบโตเท่ากับปีนี้ มองว่า ทุกคนต้องพยายามเปลี่ยนโหมดมาโฟกัสให้ตลาดเติบโต ธุรกิจตัวกลางต้องเข้มเข็งด้วยถึงจะช่วยการระดมทุนของบริษัท และพัฒนาเศรษฐกิจได้”

นอกจากนี้ ทางธุรกิจโบรกเกอร์ พร้อมเข้ามาสนับสนุน “การเพิ่มมูลค่า บจ.” ตามนโยบายของทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายใต้โครงการ Jump Plus และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายใต้โครงการ Value up ให้ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับในประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จมาแล้ว มองว่า เป็นนโยบายที่น่าสนใจ ที่นักวิเคราะห์สามารถเข้ามาช่วยวิเคราะห์หุ้นเพิ่มขึ้นได้ ยังต้องติดตามในแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป และการผลักดันเรื่อง “ความยั่งยืน” ก็เป็นหวังของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย และตลาดหุ้นไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะข้างหน้า

“การแก้ไขในฝั่งซัพพลาย ทั้งการทำให้ บจ.มีความน่าสนใจมากขึ้นหากทำได้ ทำเศรษฐกิจให้เติบโต และเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน เพื่อซัพพลายดูดีขึ้น จะยิ่งทำให้ดีมานด์ในตลาดหุ้นไทยไปได้ต่อ” 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์