กูรูยก‘ดาต้าเซ็นเตอร์’เทรนด์โลก ไทยหนึ่งในเป้าหมายลงทุน กลุ่ม ‘นิคมฯ-ไฟฟ้า’ เด่น
กูรูยก‘ดาต้าเซ็นเตอร์’เทรนด์โลก ไทยหนึ่งในเป้าหมายลงทุน กลุ่ม ‘นิคมฯ-ไฟฟ้า’ เด่น “บล.หยวนต้า” ชี้ปีหน้าจะเห็นภาพลงทุนมากขึ้น ปีนี้เป็นปีประกาศขอใบอนุญาต
โครงสร้างพื้นฐาน “ยุคดิจิทัล” ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคงต้องให้ “ศูนย์ข้อมูล” (Data Center) ซึ่งปัจจุบันพัฒนาการต่าง ๆ กำลังรุดหน้าสอดคล้องกับความก้าวหน้าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเช่นกัน จากเดิมที่เป็นเพียง “ศูนย์เก็บข้อมูล” สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมต่าง ๆ แต่ล่าสุดกำลังพัฒนาสู่ “ศูนย์ข้อมูลระบบคลาวด์” (Cloud) และกำลังเป็นภาพการใช้สนับสนุน “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) ในปัจจุบัน
โดยแนวโน้มทิศทางการลงทุนใน Data Center เติบโตได้อีกมาก และยังคงเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกมีการกระจายออกมาเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งไทยมีพื้นที่และไฟฟ้าที่เพียบพร้อมในการลงทุน โดย “กูรู” ประสานเป็นเสียงเดียวกันว่า หุ้นในกลุ่มแรกที่ได้รับอานิสงส์สูงคือ “กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม”
“วทัญ จิตต์สมนึก” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยโตขึ้นประมาณ 20-30% ต่อปี ซึ่งก่อนหน้านี้นักลงทุนทั่วโลกมีการเข้าไปลงทุนที่สิงคโปร์ ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าตลาด “ดาต้าเซ็นเตอร์” แต่ด้วยประเทศสิงค์โปร์มีพื้นที่ค่อนข้างเล็ก ดังนั้น นักลงทุนจึงพยายามมองหาประเทศที่น่าสนใจ และประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งประเทศที่นักลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ให้ “ความสนใจ”
“สาเหตุที่นักลงทุนให้ความสนใจมาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในเมืองไทย ส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่ ซึ่งไทยมีรองรับนักลงทุนในกลุ่มดังกล่าว เพราะต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ ดังนั้น จึงตอบโจทย์นี้และอีกหนึ่งสิ่งที่เมืองไทยได้เปรียบคือ “พลังงานไฟฟ้า” เนื่องจากธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก เพราะว่าเซิร์ฟเวอร์ต้องรันตลอดเวลาทั้งนี้ประเทศไทยถือว่ามีความมั่นคงด้านไฟฟ้าค่อนข้างสูง”
ดังนั้น จึงทำให้ “ยักษ์ใหญ่” ด้านดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลก จึงมองประเทศไทยมีจุดเด่นพื้นที่ใหญ่โต และมีไฟฟ้ารองรับได้ จึงไม่ไปลงทุนที่ประเทศเวียดนาม เนื่องจากไฟฟ้าไม่ค่อยนิ่ง
โดยหุ้นที่ได้รับประโยชน์ในกลุ่มแรกเป็น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม แน่นอน เพราะต้องเกิดการซื้อพื้นที่หุ้น บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ WHA , บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ได้ตรง ๆ ถัดไป คือ “กลุ่มไฟฟ้า” ที่สามารถขายไฟได้สูงขึ้น มองไปที่ หุ้นบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM , บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ส่วนกลุ่มอื่น ๆ อาจจะยังไม่ชัดมาก ขณะที่ หุ้นบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และ หุ้น
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ได้รับอานิสงส์บ้าง
ขณะเดียวกัน หากตลาดดาต้าเซ็นเตอร์เกิดขึ้นจริงก็จะทำให้เกิดการจ้างงาน กลุ่มค้าปลีกก็จะได้รับอานิสงส์ หลังจากที่มีการจ้างงานทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น การบริโภคก็จะดีขึ้น จึงมองไปยังหุ้นบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เป็นต้น
สำหรับ นักลงทุนหากจะเข้ามาลงทุนในกลุ่มนี้ มองว่า กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมน่าสนใจ เพราะได้ประโยชน์ทางตรงมากสุด หากย่อลงมานักลงทุนเก็บเข้าสะสมได้ แต่ปัจจุบันราคาอาจจะปรับขึ้นมาค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจึงควรรอดูจังหวะหากย่อก็เข้าไปเก็บ WHA ได้ ซึ่งเป็นหุ้นตัวนึงที่น่าสนใจ
“วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟินันเซีย ไซรัส ให้ข้อมูลต่อไปว่า ในช่วงพักหลังจะเห็นว่ามีต่างชาติเข้ามาลงทุน ส่วนโอเปอร์เตอร์ในไทยที่มีการทำดาต้าเซ็นเตอร์อยู่แล้วก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่ทว่าในอนาคตหากมีการเปิดกันเป็นจำนวนมากจนมีโอเวอร์ซัพพลายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หุ้นที่ได้มีการทำและใช้เองจะเป็นหุ้น ADVANC ขณะที่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL เปิดใช้มาหลายปีแล้ว ส่วนหุ้นที่เป็นเซนติเมนท์เป็นผู้รับจ้างสร้างจะเป็น INSET นอกจากนี้หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์ WHA และ AMATA ขณะที่กลุ่ม GULF , INTUCH , ADVANC ถัดจากนี้จะเห็นชัดมากขึ้น เนื่องจากมีการลงทุนไปค่อนข้างเยอะ
“กลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจะเป็นหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เพราะการเข้ามาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์จะต้องมีที่ดินไปตั้งก่อน และหลังจากนั้นจึงมีการแข่งกันกันหาลูกค้า ขณะที่หุ้น บริษัท อินฟราเซท จำกัด (มหาชน) หรือ INSET ก็จะได้รับอานิสงส์เช่นกัน ส่วนกลุ่มที่เป็นโอเปอร์เรเตอร์ ยังไม่แน่ชัดว่า เมื่อมีการมาตั้งกันเยอะ ๆ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จะมีโอเวอร์ซัพพลายในระยะสั้นหรือไม่”
“ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเสริมว่า แนวโน้มทิศทางการลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์ ยังคงเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกมีการกระจายออกมาเพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะจะมีอยู่ในแหล่งลงทุนเดียวไม่ได้ ซึ่งในบ้านเรามีการเข้ามาลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงด้วย โดยก่อนหน้านั้นมีไปยังมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
โดยในปีหน้าจะเห็นภาพของการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้น ขณะที่ในปีนี้เป็นปีแห่งการประกาศขอใบอนุญาต โดยมองว่าในปีหน้าหุ้นที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดในกลุ่มแรก ๆ คือ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม อย่างหุ้น WHA , AMATA และ กลุ่มที่มีการก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ เช่น หุ้น INSET เป็นต้น
ขณะที่ หุ้นที่ได้รับประโยชน์ถัดมาจะเป็นกลุ่มโครงข่ายในการสื่อสาร เช่น ADVANC และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE จะได้รับประโยชน์ รวมถึงหุ้น บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SYMC ด้วย ส่วนหุ้น GULF อาจจะได้รับประโยชน์แต่ไม่ค่อยอิมแพ็คเท่ากับโรงไฟฟ้าที่มี
“ดาต้าเซ็นเตอร์ ถือว่าเป็นธีมหลักในปีหน้าที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยหุ้นที่เป็นไม้แรก ๆ ได้รับอานิสงส์เชิงบวกไปก่อนหน้านั้นแล้ว อย่าง WHA , AMATA และ INSET ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นมาพอสมควร”