สรุป 10 อันดับแรก หุ้น IPO ปี 67 ยับที่สุด พาติดดอยทะลุมากสุด 71%

สรุป 10 อันดับแรก หุ้น IPO ปี 67 ยับที่สุด พาติดดอยทะลุมากสุด 71%

สรุป 10 อันดับแรก หุ้น IPO ปี 67 หุ้น QTCG ติดลบมาสุดมาเป็นอันดับ 1 ที่ 71% ตามมาด้วยหุ้น PANEL ติดลบที่ 66%

ในปี 2567 มีการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้สามารถนำหุ้นออกเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป หรือที่นิยมเรียกกันว่าการทำ IPO (Initial Public Offering)จำนวน 32 หลักทรัพย์ และมีมากถึง 23 หลักทรัพย์ ที่มีผลตอบแทนจากราคาติดลบ และถ้าโฟกัสไปที่ติดสูงถึงกว่า 70% โดย "กรุงเทพธุรกิจ" ได้คัด 10 อับแรกที่มีการติดลบสูงสุด มีดังนี้ 

1.บริษัท คิวทีซีจี จำกัด (มหาชน) QTCG 

ประกอบธุรกิจให้บริการออกแบบ และรับเหมาติดตั้งงานระบบภายในอาคารอย่างครบวงจร

  • ตลาด mai 
  • หมวดธุรกิจ PROPCON
  • วันแรกที่ซื้อขาย 4 เม.ย.67
  • ราคา IPO 1.20 บาท เทียบราคา ณ 27 ธ.ค.67 ที่  0.35 บาท ลดลง 0.85 บาท หรือ ลดลง 70.83%
  • มูลค่าตลาด IPO 720 ล้านบาท เทียบมูลค่าตลาด 27 ธ.ค.67 ที่ 210.00 ล้านบาท ลดลง 510 ล้านบาท หรือ ลดลง 70.83%
  • ธิติวัฒน์ เงินนำโชคธนรัตน์ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 210,000,000 หุ้น สัดส่วน 35%

 

2.บริษัท เพเนเล่ส์มาติก โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) PANEL

ประกอบธุรกิจ ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่าย ผนังบานเลื่อนกันเสียง วัสดุกันเสียงสำหรับงานสถาปัตยกรรม รวมทั้งระบบประตูอัตโนมัติ และวัสดุสำหรับโรงพยาบาลและสาธารณสุข และให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร

  • ตลาด mai 

หมวดธุรกิจ PROPCON

  • วันแรกที่ซื้อขาย 22 ก.พ.67
  • ราคา IPO 3.68 บาท เทียบราคา ณ 27 ธ.ค.67 ที่ 1.26 บาท ลดลง 2.42 บาท หรือ ลดลง 65.76%
  • มูลค่าตลาด IPO 699.20 ล้านบาท เทียบมูลค่าตลาด 27 ธ.ค.67 ที่ 239.40 ล้านบาท ลดลง 459.8 ล้านบาท หรือ ลดลง 65.76%
  • อังสุรัสมิ์ อารีกุล ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 63,000,000 หุ้น สัดส่วน 33.16%

3.บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) NL

ประกอบกิจการให้บริการสำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างงานอาคารทุกประเภท รวมทั้งการติดตั้งงานระบบวิศวกรรมต่างๆ

  • ตลาด SET
  • หมวดธุรกิจ PROPCON/CONS
  • วันแรกที่ซื้อขาย 20 ก.พ.67
  • ราคา IPO 2.60 บาท เทียบราคา ณ 27 ธ.ค.67 ที่ 1.08 บาท ลดลง 1.52 บาท หรือ ลดลง 58.46%
  • มูลค่าตลาด IPO 1,300 ล้านบาท เทียบมูลค่าตลาด 27 ธ.ค.67 ที่ 540 ล้านบาท ลดลง 459.8 ล้านบาท หรือ ลดลง 58.46%
  • บริษัท อาร์แอล จรรยา กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 150,000,000 หุ้น สัดส่วน 30.00%

4.บริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ จำกัด (มหาชน) EURO

ประกอบธุรกิจการจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านครบวงจร ครอบคลุมทั้งเฟอร์นิเจอร์ชุดครัว เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์นอกอาคาร ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและแสงสว่าง สินค้าและวัสดุเพื่อการตกแต่ง ของใช้ เครื่องนอน เครื่องออกกำลังกาย และสินค้าหรืออุปกรณ์เทคโนโลยี ภายใต้ชื่อร้าน "Euro Creations" และร้านภายใต้แบรนด์อื่นๆ

  • ตลาด mai
  • หมวดธุรกิจ CONSUMP
  • วันแรกที่ซื้อขาย 14 ก.พ.67
  • ราคา IPO 10.60 บาท เทียบราคา ณ 27 ธ.ค.67 ที่ 4.80 บาท ลดลง 5.8 บาท หรือ ลดลง 54.72%
  • มูลค่าตลาด IPO 3,233.00 ล้านบาท เทียบมูลค่าตลาด 27 ธ.ค.67 ที่ 1,464.00 ล้านบาท ลดลง 1,769 ล้านบาท หรือ ลดลง 54.72%
  • นาย โกมล กัมบีร์ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 68,100,000 หุ้น สัดส่วน 22.33%

5.บริษัท สโตนวัน จำกัด (มหาชน) STX

ประกอบธุรกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง และแร่โดโลไมต์

  • ตลาด mai
  • หมวดธุรกิจ PROPCON
  • วันแรกที่ซื้อขาย 26 เม.ย.67
  • ราคา IPO 3.00 บาท เทียบราคา ณ 27 ธ.ค.67 ที่ 1.36 บาท ลดลง 1.64 บาท หรือ ลดลง 54.67%
  • มูลค่าตลาด IPO 921.40 ล้านบาท เทียบมูลค่าตลาด 27 ธ.ค.67 ที่ 417.70 ล้านบาท ลดลง 503.7 ล้านบาท หรือ ลดลง 54.67%
  • บริษัท ดราก้อน วัน จำกัด ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 79,069,650 หุ้น สัดส่วน 25.74%

6.บริษัท อินสไปร์ ไอวีเอฟ จำกัด (มหาชน) IVF

ให้บริการด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก

  • ตลาด mai
  • หมวดธุรกิจ SERVICE
  • วันแรกที่ซื้อขาย 11 ธ.ค.67
  • ราคา IPO 3.10 บาท เทียบราคา ณ 27 ธ.ค.67 ที่ 1.59 บาท ลดลง 1.51 บาท หรือ ลดลง 48.71%
  • มูลค่าตลาด IPO 1,364.00 ล้านบาท เทียบมูลค่าตลาด 27 ธ.ค.67 ที่ 699.60 ล้านบาท ลดลง 664.4 ล้านบาท หรือ ลดลง 48.71%
  • นาย ชนะชัย จุลจิราภรณ์ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 174,330,600 หุ้น สัดส่วน 39.62%

7.บริษัท ไนซ์ คอล จำกัด (มหาชน) NCP

จัดจำหน่ายสินค้าและให้บริการการตลาดแบบตรง ผ่านช่องทางการขายทางโทรศัพท์

  • ตลาด mai
  • หมวดธุรกิจ SERVICE
  • วันแรกที่ซื้อขาย 31 ก.ค.67
  • ราคา IPO 2.00 บาท เทียบราคา ณ 27 ธ.ค.67 ที่ 1.08 บาท ลดลง 0.92 บาท หรือ ลดลง 46%
  • มูลค่าตลาด IPO 360.00 ล้านบาท เทียบมูลค่าตลาด 27 ธ.ค.67 ที่ 194.40 ล้านบาท ลดลง 165.6 ล้านบาท หรือ ลดลง 46%
  • นาย ศรัณย์ เวชสุภาพร ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 91,000,000 หุ้น สัดส่วน 50.56%

8.บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) CHAO

ผลิตและจัดจำหน่ายขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์

  • ตลาด SET
  • หมวดธุรกิจ AGRO / FOOD
  • วันแรกที่ซื้อขาย 9 ก.ค.67
  • ราคา IPO 11.80 บาท เทียบราคา ณ 27 ธ.ค.67 ที่ 6.50 บาท ลดลง 5.3 บาท หรือ ลดลง 44.92%
  • มูลค่าตลาด IPO 3,540.00 ล้านบาท เทียบมูลค่าตลาด 27 ธ.ค.67 ที่ 1,950.00 ล้านบาท ลดลง 165.6 ล้านบาท หรือ ลดลง 44.92%
  • บริษัท เจ้าสัว กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 136,800,000 หุ้น สัดส่วน 45.60%

9.บริษัท บีพีเอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) BPS

จำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อไฟฟ้าภายในอาคาร สินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์โซลาร์เซลบริการจัดหา ออกแบบติดตั้ง โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลแบบติดตั้งบนหลังคา ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า โครงข่ายไฟเบอร์ออพติกเพื่อการสื่อสาร และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวก ภายในที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์

  • ตลาด mai
  • หมวดธุรกิจ INDUS
  • วันแรกที่ซื้อขาย 3 เม.ย.67
  • ราคา IPO 0.90 บาท เทียบราคา ณ 27 ธ.ค.67 ที่ 0.51 บาท ลดลง 0.39 บาท หรือ ลดลง 43.33%
  • มูลค่าตลาด IPO 360.00 ล้านบาท เทียบมูลค่าตลาด 27 ธ.ค.67 ที่ 204.00 ล้านบาท ลดลง 156 ล้านบาท หรือ ลดลง 43.33%
  • นาย สุรพงษ์ สาเรชพันธุ์ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 135,483,871 หุ้น สัดส่วน 33.87%

10.บริษัท อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) IROYAL

ให้บริการด้านวิศวกรรม เพื่อจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเฉพาะที่ใช้ในระบบการผลิตของโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม

  • ตลาด mai
  • หมวดธุรกิจ SERVICE
  • วันแรกที่ซื้อขาย 5 พ.ย. 67
  • ราคา IPO 6.50 บาท เทียบราคา ณ 27 ธ.ค.67 ที่ 3.74 บาท ลดลง 2.76 บาท หรือ ลดลง 42.46%
  • มูลค่าตลาด IPO 1,495.00 ล้านบาท เทียบมูลค่าตลาด 27 ธ.ค.67 ที่ 860.20 ล้านบาท ลดลง 634.8 ล้านบาท หรือ ลดลง 42.46%
  • นาง นาฎนภา ประภัทรโพธิพงศ์ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 116,421,400 หุ้น สัดส่วน 50.62%

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า หุ้น IPO ปี 2567 ออกมาค่อนข้างเยอะ แต่ทว่าผลงานยังไม่ค่อยสดใสมากนัก โดยมองว่าในปี 2568 คาดการณ์ว่า หุ้น IPO น่าจะยังไม่ค่อยดีขึ้น เนื่องจากยังไมได้เห็นบริษัทใหญ่ ๆ ที่จะเตรียมเข้า IPO เพราะฉะนั้นอาจจะต้องเข้าไปดูนโยบายของทางภาครัฐในปี 2568 อีกครั้ง 

ทั้งนี้ หุ้น IPO ในประเทศไทย หากย้อนกลับไปดูไม่ค่อยดีสักเท่าไร แต่ทว่าในต่างประเทศ หุ้น IPO ก็ไม่ดีเช่นกัน มีปัญหาคล้าย ๆ กัน นั่นคือ บริษัท มีพยายามมีความต้องการที่จะเป็น  private ให้นานขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องเหลือ รวมถึงสภาวะหรือสถานการณ์ค่อนข้างเอื้ออำนวย แต่ทว่ายังมีบางบริษัทที่เข้ามา IPO ในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งรูปแบบเพื่อเข้ามาทำระดมทุนเพิ่ม 

"ในส่วนของราคาหุ้น IPO ที่ค่อนข้างมีราคาที่แพง มองว่า หากราคาหุ้นมีทาเก็ตที่ไม่ค่อยดีมากหากราคานั่นค่อนข้างถูก ขายถูกก็จะไม่ตอบโจทย์ คนออกก็ไม่อยากออกเพราะว่า ได้หุ้นของตัวเองในราคาที่ถูก คนซื้อก็อาจจะคิดว่า ธุรกิจนั่นอาจจะไม่ได้ดีมาก แต่ทว่าราคาก็มีส่วนทำให้หุ้น IPO ไม่ค่อยน่าสนใจแต่ก็ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดยังคงต้องนำหลาย ๆ มาวิเคราะห์หุ้น IPO ด้วย"

นอกจากนี้ ธุรกิจที่เข้ามา IPO ในบางครั้งก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ หรือไม่ใช่ธุรกิจแห่งอนาคต เนื่องจากว่า เมืองไทยจุดอ่อนมีธุรกิจที่เป็นธุรกิจแห่งอนาคตน้อย  อย่างไรก็ตาม เราอาจจะไม่ได้อยากได้ธุรกิจแห่งอนาคตขนาดนั้น หากย้อนกลับไปดูหุ้น IPO ในไทย เราต้องการขนาดที่ทำให้ตลาดเกิดการตื่นตัวขึ้นมาใหม่ ยกตัวอย่าง ช่วงหนึ่งของตลาดที่มีการ IPO หุ้นรัฐวิสาหกิจ ตอนนั่นตลาดเป็นขาขึ้น เช่น อย่าง PTT หรือ AOT แต่ปัจจุบันไม่มี 

"ปัจจุบันแม้หุ้น เทคโนโลโลยีเป็นหุ้นแห่งอนาคต แต่ไทยก็ยังไม่มี หากเทียบกับเกาหลีใต้กับไต้หวัน อย่าง หุ้น TSM หรือ หุ้น Samsung มีขนาดที่ใหญ่กว่าครึ่งตลาด ในขณะที่หุ้นไทยมีหุ้น DELTA ซึ่งก็ยังไม่ใช่หุ้นสัญชาติไทย ขณะที่ หุ้นไทยที่มีคล้ายคลึงก็จะเป็น KCE หรือ CCET แต่ก็ยังไม่ใช่หุ้นเทคฯ แบบชัดเจน อย่างไรก็ตาม ขณะที่หุ้น GULF กับ INTUCH ก็ยังพอให้นักลงทุุนคึกคักขึ้นมาได้บ้าง" 

โดยเทรนด์การลงทุนหุ้น IPO ในปี 2568 มองว่า นโยบายต่าง ๆ อาจจะยังไม่สามารถเปลี่ยนเทรนด์ได้มากนัก แต่ทว่ามองไปข้างหน้าหากภาครัฐเข้ามานำเทรนด์หรือเปลี่ยนเทรนด์จะทำให้หุ้น IPO ฟื้นคืนมาได้ 

"การจะเลือกลงทุนในหุ้น IPO ต้องยอมรับว่า ข้อมูลไม่ได้น้อย เพียงแต่ หุ้น IPO มีจุดอ่อนตรงที่ว่า เราไม่ได้เห็นว่า เมื่อหุ้นตัวนั้นเข้ามา ในตลาดแล้วจะเป็นเช่นไร เพราะฉะนั้น นักลงทุนพยายามเลือกหุ้นที่เซกเตอร์มีอนาคตหรือไม่ เพราะเซกเตอร์ที่มีอนาคตเมื่อเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยแล้วการตอบรับจะไม่เหมือนกัน รวมถึง Valuation และการเติบโตเฉพาะตัวของบริษัท และต้องดูหลักธรรมาภิบาลด้วยว่ามีความตั้งใจ และเหตุผลอะไรถึงนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นไทย" 

สรุป 10 อันดับแรก หุ้น IPO ปี 67 ยับที่สุด พาติดดอยทะลุมากสุด 71%