ตลท.เร่งเกณฑ์สกัด ‘จำนำหุ้น’ ล้อมคอกรื้อมาตรการ ‘กำกับซื้อขาย’ เสนอบอร์ดปลาย ม.ค.นี้

ตลท.เร่งเกณฑ์สกัด ‘จำนำหุ้น’ ล้อมคอกรื้อมาตรการ ‘กำกับซื้อขาย’ เสนอบอร์ดปลาย ม.ค.นี้

ตลท.เร่งเกณฑ์สกัด ‘จำนำหุ้น’ ล้อมคอกรื้อมาตรการ ‘กำกับซื้อขาย’ เสนอบอร์ดปลาย ม.ค.นี้ พบนำหุ้น “อาร์เอส” วางประกันในบัญชีมาร์จิน 222 ล้านหุ้น มูลค่า “พันล้าน”

ตลท. เล็งเปิดเผยข้อมูล “จำนำหุ้น” ที่อยู่ในระบบ TSD หวังช่วยนักลงทุนมีข้อมูลประกอบตัดสินใจลงทุนมากขึ้น พร้อมทบทวนมาตรการกำกับการซื้อขายอีกครั้งก่อนเสนอบอร์ดปลาย ม.ค.นี้ เปิดเกณฑ์ ก.พ. ด้านกรณี “หุ้นอาร์เอส” ดิ่งหนัก ยังไม่ได้ส่งหนังสือสอบถาม พบนำหุ้นไปวางประกันในบัญชีมาร์จิน 222 ล้านหุ้น มูลค่า 1 พันล้าน ราคาหุ้น “RS-RSXYZ” กอดคอดิ่งฟลอร์ 2 วันติด 

ตลท.เร่งเกณฑ์สกัด ‘จำนำหุ้น’ ล้อมคอกรื้อมาตรการ ‘กำกับซื้อขาย’ เสนอบอร์ดปลาย ม.ค.นี้

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ ในฐานะโฆษก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการในการกำกับการซื้อขายที่ออกมาจะมีการทบทวนอีกครั้ง โดยในช่วงปีที่ผ่านมามีการออกมาตรการ การซื้อขายกว่า 10 มาตรการ เพื่อกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุน

 

รวมทั้งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะรวบรวมข้อมูลการจำนำหุ้นผ่านระบบศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD มาเปิดเผยให้ผู้ลงทุนได้รับทราบ ซึ่งรูปแบบจะคล้ายกับการรายงานหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิน (มาร์จินโลน) ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดเผยแบบรายเดือน

โดยข้อมูลเรื่องการจำนำหุ้น ถือเป็นปัญหาที่ ตลท.และสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หารือกันมาอย่างต่อเนื่อง แม้การเปิดเผยข้อมูลการจำนำหุ้นอาจไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่เป็นการช่วยให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุนมากขึ้น โดย ตลท.ต้องการให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) มาโฟกัสที่ธุรกิจของตัวเองมากกว่า เพราะการนำหุ้นไปจำนำไม่รู้ว่าผู้บริหารเขาไปโฟกัสที่ตรงไหน

“ตลท.และ ก.ล.ต. ก็ได้มีการทำงานร่วมกันเพื่อสามารถทำหน้าที่กำกับดูแล และออกมาตรการมาช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา ส่วน ตลท.ก็จะทำหน้าที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนควบคู่การเปิดข้อมูลต่างให้แก่นักลงทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนหุ้นตัวนั้นๆ”

ตลท.เร่งทบทวน และเสนอบอร์ดปลาย ม.ค.นี้ 

โดยอยู่ในขั้นตอนของทบทวน และจะมีการนำเสนอต่อบอร์ดเพื่อทำการพิจารณาในการประชุมบอร์ดในปลายเดือนม.ค.2568 นี้ และจะแถลงถึงความคืบหน้าต่อไปในช่วงกลางเดือนก.พ. 2568 ซึ่งมาตรการในการกำกับการซื้อขายที่ผ่านมา หลายมาตรการจะทบทวนอย่างไรบ้าง โดยในช่วงปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการกำกับการซื้อขาย

ทั้งนี้ หลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติจากมาตรการฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีมาตรการต่างๆ ที่ได้ออกใช้ในปี 2567 ได้แก่ 1. มาตรการการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์ ประกอบไปด้วย การทบทวนหลักทรัพย์ที่ Short Selling ได้ การเพิ่ม Uptick ทุกหลักทรัพย์ เพื่อควบคุมผลกระทบจาก Short Sell เพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้น (Dynamic Price Band) เฟส 1 และ เพิ่มมาตรการ Auction หุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 ขึ้น

2. มาตรการกำกับพฤติกรรมซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ซึ่งกำหนดเวลาขั้นต่ำของ order ก่อนยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) รวมถึงเปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสม

3. มาตรการเพิ่มความคุ้มครองนักลงทุน โดยรายงาน Outstanding Short Position รวมถึงเพิ่มบทระวางโทษสมาชิกให้เข้มข้นขึ้น และเปิดเผยข้อมูลการถือ NVDR และลงทะเบียนผู้ใช้ HFT (การส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูง)

นอกจากนี้ ข้อมูลจำนำหุ้นยังไม่มีการเปิดเผยตลาดหลักทรัพย์กำลังพิจารณาว่าจะเปิดเผยข้อมูลเชิงสถิติได้แค่ไหน และจะแจ้งความคืบหน้าอีกครั้ง

หุ้นดิ่ง พบนำ “หุ้น RS” ไปวางประกันในบัญชีมาร์จิน

ส่วนกรณีราคาหุ้นบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)หรือ RS ร่วงลงฟลอร์ติดต่อกันสองวัน ทำให้เกิดความกังวลว่าผู้บริหารถูกบังคับขาย (Force Sell) นั้น พบว่า RS เปิดเผยข้อมูลการนำหุ้นไปใช้เป็นหลักประกันซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Margin Loan) กับโบรกเกอร์ประมาณ 222 ล้านหุ้น หรือราว 10.2% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งอาจถูก Force Sell มองเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นในการลงทุน 

ทั้งนี้ ตลท.มีหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หากมีการเคลื่อนไหวที่นักลงทุนควรรู้ จะถาม บจ.แต่กรณีนี้เป็นเรื่องการลงทุนของผู้ถือหุ้นหรือการตัดสินใจของผู้บริหารซึ่งต้องแยกกัน

โดยดูข้อมูลหุ้นที่จะใช้เป็นหลักประกัน Margin Loan ได้ หากย้อนไปดูสถิติที่มีการเปิดเผยมา สิ้นเดือนพ.ย.67 หุ้น RS มีการนำไปใช้เป็นหลักประกัน Margin loan จำนวนสูงถึง 222 ล้านหุ้น หรือ 10.2% ของหุ้นที่จดทะเบียนทั้งหมด และย้อนกลับไปเมื่อประมาณก่อนถูก Force Sell อยู่ที่ 5 บาทกว่า

ทั้งนี้ หุ้นที่เป็นหลักประกัน Margin loan กับหุ้นที่จำนำ ต่างประเภทกัน เพราะหุ้นที่จำนำต้องจดจำนำ ถ้าไปดูข้อมูลหุ้น บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG พบว่า การนำไปเป็นหลักประกัน Margin loan มีสัดส่วนสิ้นเดือนพ.ย.2567 เพียงแค่ 10.3 ล้านหุ้น หรือแค่ 0.5% แต่พบว่า มีการบังคับขายหุ้นจำนำเพื่อไปขายทอดตลาด เนื่องจากนำหุ้นไปจำนำจึงมีการบังคับ Force Sell แต่ต่างกับกรณีของหลักประกัน Margin loan ดังนั้น หากดูหุ้น THG การกระทบของหุ้นเฉพาะนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม กรณีเปิดเผยข้อมูล และการถือครองการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก.ล.ต.มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการในการปรับปรุงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เรื่องของการเปิดเผยข้อมูลเป็นหลักประกันในการเปิดเผยข้อมูล โดยสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์มีการหารือถึงข้อมูลที่เปิด ณ ปัจจุบันเป็นข้อมูลในชั้นหลักประกัน Margin loan

พบปลายปี 67 ผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้น 4-5 ครั้ง  

บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า RS ใช้หุ้นวางเป็นประกันในบัญชีมาร์จิน ตามรายงาน ตลท. เดือนพ.ย.67 พบว่าหุ้น RS ถูกใช้เป็นหลักทรัพย์วางเป็นประกันในบัญชีมาร์จินของลูกค้าจำนวน 222 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วน 60% ของการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย มีความเสี่ยงถูก Force Sell เมื่อราคาหุ้นลดลง

โดยการซื้อขายหุ้นของผู้บริหาร พบว่าช่วงปลายปี 2567 ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ RS มีการขายหุ้น 4-5 ครั้ง ๆ ละ 5-10 ล้านหุ้น ที่ราคา 5.5-5.86 บาทต่อหุ้น แม้ว่าจะคิดเป็นสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมด แต่มองไม่เป็นบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ส่วนผลการดำเนินงานยังไม่สดใส งวดไตรมาส 3 ปี 2567 RS รายงานผลการดำเนินงานปกติมีผลขาดทุน -301 ล้านบาท พลิกจากกำไร 71 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 2566 และขาดทุนเพิ่มจาก -64 ล้านบาท ในไตรมาส 2/66 เนื่องจากรายได้ลดลงกว่า -37% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ -20% จากไตรมาสก่อน ตามการหดตัวของรายได้ธุรกิจ Commerce และ Entertainment 

และแนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2567 คาด RS ยังคงมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานปกติต่อเนื่อง ส่วนฐานะทางการเงิน ณ สิ้น ไตรมาส 3 ปี 2567 มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ย 3,839 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น

หุ้น RS-RSXYZ กอดคอดิ่งฟลอร์ 2 วันติด 

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น RS วานนี้ (8 ม.ค.2568) ปรับตัวลดลง “ติดฟลอร์” ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยหุ้น RS มาอยู่ที่ 2.60 บาท ลดลง 1.14 บาท หรือ 30.48% โดยมีราคาสูงสุดของวันอยู่ที่ 2.62 บาท ซึ่งมูลค่ามาร์เก็ตแคปหายวับไป 6,000 ล้านบาท และยังเป็นราคาหุ้นต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2556 หรือ ในรอบเกือบ 12 ปี โดยหุ้น RS ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยช่วง 8 วันทำการที่ผ่านมา ราคาปรับลดลงจากราคาปิดตลาดเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 ที่ 5.50 บาท สู่ระดับ 2.60 บาท หรือ 52.3%

ส่วน บริษัท อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด จำกัด (มหาชน) หรือ RSXYZ ปรับตัวติดฟลอร์ มาอยู่ที่ 0.80 บาท ลดลง 0.35 บาท หรือ 30.43% โดยทำราคาสูงสุดของวันที่ 1.02 บาท โดยช่วง 20 วันทำการที่ผ่านมา ราคาหุ้น RSXYZ ปรับลดลง จากราคาปิดตลาดวันที่ 6 ธ.ค.2567 ที่ 2.16 บาท และทำราคาต่ำสุดวันนี้ที่ 0.80 บาท ลดลง 1.34 บาท หรือ 62%

“อาร์เอส” แจงอยู่ระหว่างตรวจสอบหุ้นร่วง ยันไร้ผลกระทบธุรกิจ

นายวิทวัส เวชชบุษกร กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน ผู้มีอำนาจรายงานสารสนเทศ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ชี้แจงพัฒนาการที่สำคัญของบริษัทเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่า จากกรณีที่ราคาหุ้น RS ปรับตัวลงเกิดจากกลไกตลาด และปัจจัยภายนอกที่ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และสถานะการเงินของบริษัท

สำหรับข่าวจากสื่อมวลชนบางสำนักที่ระบุว่า ผู้บริหารบริษัทขายหลักทรัพย์ตามเงื่อนไข (Forced sell) บริษัทไม่ทราบประเด็นดังกล่าว และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ขอยืนยันว่าไม่มีปัจจัยภายในที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และการดำเนินงานของบริษัทยังเดินหน้าไปตามวิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ในปี 2568

ทั้งนี้ บริษัทยังคงมุ่งมั่นมองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอตามพันธกิจที่มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับความสุข และความเป็นอยู่ที่ดี (Life Enriching) พร้อมดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส เพื่อให้ทุกธุรกิจในเครือเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้น หากมีพัฒนาการที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจที่สำคัญใดๆ บริษัทจะแจ้งให้นักลงทุนทราบผ่านช่องทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์