‘รายใหญ่’ หนุนมาร์จินโลนใหม่ ‘ดร.นิเวศน์’ หวังช่วยลด ‘คอร์เนอร์’ หุ้นแตก

‘รายใหญ่’ หนุนมาร์จินโลนใหม่ ‘ดร.นิเวศน์’ หวังช่วยลด ‘คอร์เนอร์’ หุ้นแตก

‘รายใหญ่’ หนุนมาร์จินโลนใหม่ ‘ดร.นิเวศน์’ หวังช่วยลด ‘คอร์เนอร์’ หุ้นแตก มีมุมมองเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้รู้ถึงราคาหุ้นที่แท้จริงได้”

หนึ่งในปัญหาที่ทำให้เกิดวิกฤติใน “ตลาดหุ้นไทย” นอกจากสภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เข้ามารุมเร้าแล้ว การจำนำหุ้นของผู้บริหารในบัญชีมาร์จินก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทย ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการรื้อเกณฑ์ margin loan ใหม่ โดยคุมเข้มหุ้น IPO ในช่วง 14 วันแรกห้ามให้มาร์จิน ต้องใช้เงินสดเท่านั้น พร้อมปรับลดเพดานปล่อยกู้รวมจากเดิมไม่เกิน 5 เท่าเหลือ 4 เท่าของผู้ถือหุ้น ปรับเพดานปล่อยกู้ต่อรายจากเดิมไม่เกิน 25% ของ equity เหลือไม่เกิน 20% ใน 2 ปีแรก และไม่เกิน 15% ในปีที่ 3 เป็นต้นไป

‘รายใหญ่’ หนุนมาร์จินโลนใหม่ ‘ดร.นิเวศน์’ หวังช่วยลด ‘คอร์เนอร์’ หุ้นแตก

ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์คำนึงถึงความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ลูกค้านำมาวางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิน และมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้และสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทยกลับคืนมา โดยนักลงทุนต่างมีมุมมองเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้รู้ถึงราคาหุ้นที่แท้จริงได้”

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การที่ ก.ล.ต.จะมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ Margin Loan ใหม่ ส่วนตัวถือว่าดี เพราะขณะนี้ข้อมูลมาร์จินค่อนข้างกระจัดกระจาย และการจำนำหุ้นน่าจะอยู่ในข่ายเช่นกัน ซึ่งหากมีการรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ที่เดียวกันที่จะบอกให้รู้ได้ว่า หุ้นตัวนั้นมีการนำไปจำนำเท่าไร และมีการวางมาร์จินเท่าไร และเมื่อมารู้ทีหลังคือบริษัทแย่ลงไปมากแล้วในชั่วข้ามคืน จากบริษัทที่ประสบความสำเร็จที่มั่นคงกลายเป็นว่าจะล้มเหลวแล้วหรือไม่

ทั้งนี้ เป็นห่วงนักลงทุน โดยเฉพาะที่เข้าไปลงทุนในหุ้นตัวเล็ก และค่อนข้างฮอต ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก แต่ในส่วนของหุ้น IPO เป็นรายละเอียดที่ไม่มาก กระทบไม่เยอะแต่ก็ควรจะต้องทำ เพราะการไฟแนนซ์หุ้น IPO มาร์จินก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่น้อย เนื่องจากพักหลังการทำมาร์จินถือเป็นเครื่องมือในการ Corner หุ้น โดยการเข้าไปทำราคาให้ผิดธรรมชาติ เป็นความต้องการที่ไม่จริง หรือเป็นความต้องการเทียม เป็นความต้องการที่ไม่มีการอิงกับปัจจัยพื้นฐาน

และพอไปถึงจุดหนึ่งที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง Corner หุ้นก็แตก ขาลงจะยิ่งหนัก เพราะลงจากถูกฟอร์ซเซลคนแรก คนต่อไปก็โดนตาม ทำให้เกิด snowball ไหลตาม ๆ กันไป อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างแตกต่างจากต่างประเทศ เนื่องจากหุ้นไทยมีเจ้าของค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ภาวะตลาดหุ้นค่อนข้างแย่ จึงทำให้ Corner แตก และจะแตกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงกลายเป็นว่า นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในหุ้นนั้นต้องเจ็บตัวในหุ้นตัวเล็ก

“การปรับปรุงเกณฑ์มาร์จินโลนใหม่ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็น เพราะก่อนหน้านักลงทุนไม่รู้ก็คิดว่า บริษัทนั้นดี แต่ถ้ามีเกณฑ์ใหม่ทำให้นักลงทุนเปลี่ยนภาพก็ไม่ลงทุนถ้ามีการทำมาร์จินเยอะขนาดนี้ ก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะให้นักลงทุนได้รับข้อมูลในการตัดสินใจซื้อหุ้นได้ และจะทำให้ Corner ไม่เกิด และหุ้น IPO ก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะพักหลังมีการนำเงินไปไล่ราคาวันแรก แต่หากมีเกณฑ์ใหม่มาก็ทำให้รู้ราคาที่แท้จริงได้”

นายทิวา ชินธาดาพงศ์ นายกสมาคมนักลงทุนประเทศไทย ให้ข้อมูลต่อไปว่า เกณฑ์มาร์จินโลนใหม่ หุ้น IPO ในช่วงแรกจะไม่ให้ใช้มาร์จิน ส่วนตัวมองว่าไม่มีผลกระทบสักเท่าไร เพราะเป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ และอาจจะอย่างให้มีการเปิดเผยรายชื่อผู้บริหารที่มีการนำหุ้นไปจำนำเพื่อให้ลดความเสี่ยงกับนักลงทุนได้ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปลงทุน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี นอกจากจะทราบบริษัทมีหนี้สินมากน้อยเท่าใด ก็จะทำให้ทราบเจ้าของมีการไปจำนำและมีหนี้สินอะไรอยู่บ้าง ช่วงที่ผ่านมาจะเจอบริษัทหลายบริษัทที่มีหนี้สินไม่ได้มากงบดุลค่อนข้างแข็งแรง แต่กลายเป็นเจ้าของดันนำหุ้นไปจำนำนอกตลาด และถูกฟอร์ซเซล ดังนั้น ถ้าเกณฑ์ใหม่ออกมาคาดน่าจะมีกระทบช่วงระยะสั้น ๆ แต่ระยะยาวยังถือว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนจะต้องทำก็คือ การคัดเลือกหุ้นที่ดี และหากตลาดหายตกใจ เชื่อว่า หุ้นที่ดีจะกลับตัวขึ้นมาก่อนทุกครั้ง นอกจากนี้นักลงทุนต้องสำรวจหุ้นในพอร์ตของตัวเองว่า ตอนที่ซื้ออาจเป็นหุ้นที่ดีและ ณ ปัจจุบัน และในอนาคตดูแล้วไม่ชัดเจนหรือไม่แน่ใจ อาจจะเปลี่ยนไปถ้าหาหุ้นที่ดีกว่า

นายอนุรักษ์ บุญแสวง หรือ โจ ลูกอีสาน นักลงทุนสไตล์เน้นคุณค่า (VI) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คาดเดาหุ้น IPO เมื่อเข้ามาแล้ว เจ้าของก็นำหุ้นไปจำนำเลย เพื่อนำเงินมาพยุงหุ้น ก.ล.ต. จึงมีความต้องการห้ามทำ และจะทำให้มีแรงซื้อที่แท้จริง ซึ่งส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องที่ดี เมื่อก.ล.ต. ทำเช่นนี้อาจมีมุมมองถึงความมั่นคงในอนาคต 

ส่วนเราที่เป็นนักลงทุนมองว่า ราคาหุ้น IPO จะได้ไม่แพงจนเกินไป เพราะทุกวันนี้หุ้น IPO เข้ามาฟันเงินนักลงทุน เมื่อพิจารณาและสังเกตเห็นว่า ในบางบริษัทคุณภาพไม่ค่อยดี แค่พอมีกำไรหน่อยก็เข้ามาฟันนักลงทุน และมาให้ค่าพีอีสูง ๆ และมีการเชียร์หุ้นค่อนข้างเยอะมาก

“ช่วงที่ผ่านมา เหมือนกับว่า หุ้น IPO เจ้าของนำไปจำนำและมาไล่ราคาหุ้นของตัวเอง เพื่อให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไป ทำให้หุ้นตัวนั้นเหมือนจะดูดี และนักลงทุนไปติดหุ้นตัวนั้นก็จะทำให้เกิดผลเสีย ก.ล.ต. อาจจะมีความห่วงใยนักลงทุนย่อยในส่วนนี้”

ทั้งนี้ แม้ว่าทุกวันนี้มีข้อมูลเปิดเผยให้นักลงทุนได้เห็น แต่ทว่าเป็นในลักษณะภาพรวมว่า บริษัทหุ้นเหล่านี้มีหุ้นที่นำไปจำนำในบัญชี

มาร์จินโลนเท่าไร กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้บอกใครนำไปจำนำ ซึ่งถ้าให้มีการชี้แจงข้อมูลในส่วนนี้ก็ถือว่า ดีแต่ไม่แน่ใจว่าจะลงรายละเอียดลึกไปหรือไม่ และเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้บริหารหรือไม่

ก่อนหน้านี้หลาย ๆ บริษัทที่ราคาสูงผิดปกติก็มาจากเงินจำนวนเหล่านี้ที่นำไปค้ำ และพอถึงจุดหนึ่งที่สภาพตลาดไม่เอื้อ ก็ทำให้หุ้นเหล่านั้นเผยความจริงออกมา รวมถึงการไซฟ่อนเงิน ในรูปแบบต่าง ๆ แม้จะมีก.ล.ต.เข้ามาข่วยแต่สุดท้ายก็ไม่ทันเกมเหล่านี้