ตลท. จ่อปรับ Uptick เน้นหุ้นรายตัว พร้อมทบทวนเกณฑ์ซื้อขายทั้งหมดม.ค.

ตลท. รับมาตรการซื้อขายหุ้นต้องทบทวนยกชุดหลังประกาศใช้เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะตลาดหุ้นไทย ส่วน “Uptick” จะยกเลิกไปเลยต้องดูว่ามีประโยชน์ภาวะตลาดหุ้นปกติหรือไม่ อาจจะปรับไปใช้เฉพาะหุ้นรายตัวที่ราคาหุ้นผันผวนสวนทางกับพื้นฐาน
ประเด็นการสร้าง Trust & Confidence ในตลาดหุ้นไทยกลับมาเขย่าเกณฑ์ซื้อขายอีกครั้ง ด้วยภาวะตลาดหุ้นไทยถูกผลกระทบส่วนหนึ่งมาจากปัจจัย “หุ้นรายตัว” ไม่ว่าจากการจำนำหุ้น ทั้งธุรกรรมในตลาดหุ้นและนอกตลาดหุ้น การปล่อยกู้ผ่านบัญชีมาร์จินของโบรกเกอร์ที่หละหลวมเกินฐานะการเงิน
เบื้องต้น สำนักงานก.ล.ต. เร่งเปิดเผยข้อมูลหุ้นที่มีการจำนำ ให้กับนักลงทุนได้รับทราบทั้งผ่านบัญชีมาร์จินและผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) สามารถดำเนินการออกเป็นมาตรการเหมาะสมไตรมาส 1 ปี 2568 และหากไม่มีรายงานจะมีดำเนินการทั้งโทษปรับและจำคุก ส่วนการจำนำหุ้นนอกตลาดให้รายงานยังเป็นเรื่องที่ยากที่ดำเนินการ
รวมทั้งพิจารณาทบทวน Uptick Rule ซึ่งกำหนดให้ขายชอร์ต (Short Sell) ได้ในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย จากเดิมให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่าหรือ Zero-plus Tick ได้เริ่มประกาศใช้ 1 ก.ค. 2567 ไปแล้วนั้นว่ายังเหมาะสมกับสถานการณ์หรือเป็นการใช้ยาแรงไปหรือไม่ เนื่องจาก Short Sell ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เกิดกลไกด้านราคา และบางประเทศใช้มาตรการดังกล่าว
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่าบอร์ด ตลท. และก.ล.ต. จะมีการร่วมกันทบทวนมาตรการซื้อขายที่ได้ประกาศใช้ออกไปทั้งหมดในภาพรวมไม่จำกัดเพียงแค่มาตรการ Uptick เท่านั้น โดยดูที่ความเหมาะสมของภาวะตลาดว่าเป็นอย่างไร ว่าเป็นช่วงตลาดหุ้นขาขึ้น ขาลง หรือผันผวนสูง ซึ่งคาดว่าบอร์ดสรุปผลได้ชัดเจนภายในเดือนม.ค. นี้
โดยแนวทางของก.ล.ต. และตลท. ไปในทางเดียวกันและพูดคุยกันอยู่ตลอด โดยบอร์ด ตลท. เริ่มคุยถึงประเด็นนี้ตั้งแต่ปลายปี 2567 เห็นตรงกันกับ ก.ล.ต. คือมาตรการกำกับการซื้อขายต่างๆ ที่ประกาศออกไปต้องมีการกลับมาทบทวน เพื่อให้สะท้อนความเหมาะสมของตลาดด้วย
ส่วนหลักการจะคงมาตรการไหนหรือยกเลิกมาตรการอะไรต้องดูควบคู่กันไปกับสภาพภาวะตลาดหุ้นวอลลุ่มเป็นอย่างไร สภาพคล่อง และคุณภาพของตลาดหุ้น ซึ่งช่วงที่ short sell สูงเกินไปมีการนำ Uptick มาใช้เพื่อดูแลนักลงทุน ขณะที่ตอนนี้ตลาดหุ้นไม่ได้ขาขึ้น แต่ก็ทรงตัว การ short sell น้อยลงต้องมาดูจะยังเก็บมาตรการนี้เอาไว้ไหม รวมทั้งผลกระทบในเชิงลบและเชิงบวกของแต่ละมาตรการ หากข้อมูลชี้ไปทางเชิงลบมากกว่าจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้นต้องนำมาตรการนั้นมาปรับใหม่
เบื้องต้นเท่าที่พูดคุยกันหากยกเลิก Uptick ทั้งตลาดหุ้นอาจจะมีการนำมาใช้ในบางหุ้นเป็นรายตัวแทน เนื่องจากมีหุ้นหลายตัวที่ราคาไม่สอดคล้องกับข้อมูลพื้นฐาน อย่างอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (PE) สูงมากแต่ราคาหุ้นกลับผันผวน รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ ต้องมาดูเช่นกันทั้ง Dynamic Price Band การกำหนดราคาสูงสุด (Ceiling) และราคาต่ำสุด (Floor) และกฎ Ceiling-Floor ในการเปิดซื้อขายหุ้นไอพีโอวันแรก เหมาะกับช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นไม่ปกติ แต่พอตลาดเข้าสู่ภาวะปกติก็อาจไม่ได้ช่วยเหลืออะไร
“มาตรการบางอย่างไม่ได้ยกเลิกแต่ทำให้บาลานซ์และเหมาะสม เช่น Uptick อาจไม่ได้ใช้กับหุ้นทุกตัวอย่างในปัจจุบัน ต้องมาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับวอลลุ่มในตลาดหุ้นไทย ความผันผวนตลาดหุ้นไปด้วย”