โบรกเกอร์ชี้ ‘ภาษีนิติบุคคลข้ามชาติ’ กระทบหุ้นส่งออก จับตา ‘บีโอไอ’ เยียวยา

โบรกเกอร์ชี้ ‘ภาษีนิติบุคคลข้ามชาติ’ กระทบหุ้นส่งออก กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหาร กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มออโต้ จับตา ‘บีโอไอ’ เยียวยา
จากที่พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ.2567 หรือการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก Global Minimum Tax (GMT) อัตราขั้นต่ำ 15% จากบริษัทข้ามชาติ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2568 ซึ่งมีผลบังคับใช้แก่นิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร หรือราว 2.6 หมื่นล้านบาท ตามกรอบของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
ล่าสุด มีบริษัททั้งของไทย และต่างประเทศกว่า 1,000 บริษัท ได้รับผลกระทบดังกล่าว รวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยด้วย โดย BOI เร่งหามาตรการเยียวยา ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่มีการจัดเก็บ และความชัดเจนยังไม่เห็น อาจจะต้องรอติดตามมาตรการกับ BOI อีกครั้ง
“กิจพณ ไพรไพศาลกิจ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หลักเกณฑ์ Global Minimum Tax ที่มาจากฝั่ง OECD ที่ผ่านมา มีหลายบริษัทไปจดทะเบียนบริษัทในประเทศที่มีการเสียภาษีต่ำ หรือกลายเป็นว่าทำธุรกิจในบางประเทศแล้วไม่เสียภาษีเลย เพราะรายได้ไปแสดงที่ประเทศอื่น จึงมีข้อตกลงกันขึ้นมาว่า จะมีการเสียภาษีขั้นต่ำที่ 15% นั่นแปลว่า หากมีการดำเนินงานในหลายประเทศรายได้ตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป หรือราว 26,000 ล้านบาท และมีการเสียภาษีที่ต่ำกว่า 15% มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะต้องรับชำระภาษีเพิ่มเติม
ดังนั้น จึงทำให้มีผลกระทบกับบริษัทที่เกี่ยวกับกลุ่มส่งออกที่ได้รับสิทธิทางภาษีอยู่ เช่น ไปลงทุนเครื่องจักรตามเกณฑ์ของ BOI แล้วสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหักภาษีได้ แต่ทว่าไม่ใช่บริษัทส่งออกทุกบริษัท เช่น CPF มีรายได้ค่อนข้างเยอะเกินเกณฑ์ดังกล่าวมาก แต่ว่าอัตราการเสียภาษีสุทธิเกินกว่าระดับนี้จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ Global Minimum Tax
โดยเบื้องต้นบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ที่ได้รับผลกระทบคือ TU กับ DELTA เนื่องจากเกณฑ์รายได้ผ่าน มีการดำเนินงานธุรกิจในหลายประเทศ มีอัตราภาษีสุทธิที่ถึงระดับดังกล่าว ทำให้มีความเป็นได้ที่อาจจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม ก็อาจจะลดทอนของกำไรลงไป จึงเป็นความกังวลในช่วงที่ผ่านมา หุ้นที่คาดว่าอาจจะโดนผลกระทบในเรื่องนี้อาจจะปรับตัวลงมา
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับหลายเกณฑ์ยังคงมีความไม่ชัดเจนว่า เพราะปีนี้ถือเป็นปีแรกที่เริ่มเก็บ และตอบยากการมีรายได้จากหลายประเทศมีการนับเช่นไร เช่น รายได้ 95% เกิดขึ้นที่ไทย และอีก 5% เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ อย่างนี้จะต้องโดนผลกระทบหรือไม่ หรืออาจจะมีรายได้ในไทย 100% อย่าง NER รายได้อยู่ใกล้ ๆ กับเกณฑ์ แต่ทั้งหมดเป็นการส่งออกทางอ้อม และมีภาษีที่ต่ำกว่า 15% ก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจาก Global Minimum Tax เพราะฉะนั้นก็ยังมีความไม่ชัดเจนพอสมควร หรือแม้กระทั่งบริษัทที่ได้ทำการสอบถามไปยังไม่สามารถตอบประเด็นดังกล่าวได้อย่างชัด ๆ แต่ทั้งนี้ เป็นผลกระทบในรายบริษัทมากกว่า ต่อภาพรวมของตลาดหุ้นไทย
และถ้ามาดูหุ้นเป็นรายตัวอย่าง TU ที่คาดว่าจะได้รับกระทบ แต่ปัจจุบัน Valuation ไม่แพง และปันผลถือว่าอยู่ในระดับที่ดี กลับกัน DELTA ไม่ได้มีปันผลมาก และ P/E ค่อนข้างสูง และกำไรคาดว่าจะโดนลดทอนลงจากประเด็นดังกล่าวก็อาจมีผลกระทบกับราคาหุ้นได้มากกว่า โดย TU ยังคงแนะนำ ซื้อ ส่วน DELTA แนะนำแค่ ถือ ส่วนหุ้นตัวอื่นๆ อาจจะยังไม่ค่อยชัด
ทั้งนี้ อยากจะให้มองไปในมุมบวกว่า Global Minimum Tax ที่เก็บภาษี 15% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าภาษีนิติบุคคลที่ 20% และในฝั่งของหลาย ๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะมีการเก็บภาษีนิติบุคคลที่ต่ำกว่า 20% ดังนั้น ในอนาคตอาจจะมีการบังคับให้มีการปรับลดภาษีนิติบุคคลลง ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อบริษัทจดทะเบียน แต่อาจจะไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ และรัฐบาลอาจจะต้องไปดูว่าไปหาส่วนใดเข้ามาชดเชยได้บ้าง
“พิริยพล คงวาณิช” ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์พื้นฐานสายงานวิจัย บล.บัวหลวง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผลกระทบยังไม่ได้มีความชัดเจน ในการประเมินที่ได้ไปศึกษาดูมาถือว่ามีความซับซ้อนมากกว่าที่คิดไว้ ซึ่งรายได้ต้องเกิน 750 ล้านยูโร ซึ่งก็ต้องไล่ไปถึงผู้ถือหุ้นบนสุด ซึ่งหุ้นบางตัวไม่ได้อยู่ในตลาดกลายเป็นว่าความซับซ้อนค่อนข้างมีเยอะ แต่อย่างไรก็ตาม ที่ได้มีการทำประมาณการเบื้องต้นอาจจะส่งผลกระทบกำไร SET ที่ 1%
ส่วนกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากสุด เป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหาร กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มออโต้ โดยผลกระทบต่อไปดูกฎที่จะออกมาสำหรับ BOI ว่าจะออกมาเช่นไรในการช่วยเหลือ เพราะอาจจะมีผลกระทบ FDI ที่ไหลเข้าไทยได้ และหลังจากนี้คงต้องจับตาดูว่า BOI จะออกกฎมาเช่นไร
สำหรับตัวอย่างในประเทศอื่น ๆ ที่มีการทำเช่นนี้อย่าง สิงคโปร์ สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ มีการจัดตั้งกองทุนมา 1 กองทุน เมื่อมีบริษัทจ่ายไม่ถึง 15% ก็ต้องมีการจ่ายเงินเข้ามาในกองทุน แล้วจึงนำกลับไปจ่ายคืนให้กับบริษัทที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งคาดว่า ของเราน่าจะมีการเห็นภาพคล้ายๆ กับสิงคโปร์ที่ทำอยู่
“กรรณ์ หทัยศรัทธา” นักกลยุทธ์การลงทุน บล. ซีจีเอส-อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเสริมต่อไปว่า Global Minimum Tax เกี่ยวกับธุรกิจหรือบริษัทที่เกี่ยวกับต่างประเทศหรือส่งออกที่เสียภาษีต่ำกว่า 15% อาจจะต้องเสียเพิ่มในอัตราภาษีที่แท้จริงที่สูงขึ้น ฉะนั้นหุ้นที่จะได้รับผลกระทบเป็นหุ้นส่งออก อย่าง DELTA หรือ ITC หรือหุ้นบิ๊กแคปกลุ่มพลังงาน เช่น PTT BCP IVL ที่มีธุรกิจอยู่ต่างประเทศจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป
ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากหน่อยจะเป็น DELTA และ ITC แต่ทว่าล่าสุด BOI มีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ เช่น อาจจะมีสิทธิการลงทุนในการลดหย่อนภาษีให้อีกส่วนหรือไม่ เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนต่อไป เพราะฉะนั้นผลกระทบดังกล่าว ยังคงต้องรอการประเมินของบริษัทจดทะเบียนอีกครั้งหนึ่ง ล่าสุดอาจจะต้องรอการประชุมนักวิเคราะห์อีกครั้งในเดือนก.พ.68 หลังจากที่มีการประกาศงบไตรมาส 4/67 โดยทางบริษัทอาจจะมีการประเมินถึงผลกระทบกำไรเท่าไร ซึ่งในประเด็นนี้ BOI จะเข้ามาให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว
“หุ้นที่ได้รับผลกระทบที่มีการส่งออก ขณะนี้อาจจะอยู่ในช่วง Over Hang ซึ่งอาจจะยังไม่มีการปรับขึ้นในเร็วๆ นี้”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์