‘บล.กสิกรไทย’แนะจังหวะ ลงทุน‘หุ้นไทย’ เร่งคลายปมร้อน ฟื้นดัชนี

‘บล.กสิกรไทย’แนะจังหวะ ลงทุน‘หุ้นไทย’   เร่งคลายปมร้อน ฟื้นดัชนี

นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน“ตลาดหุ้นไทย” บรรยากาศการลงทุนคลับคล้ายคลับคลายังไม่ดีขึ้น !!

สะท้อนผ่านดัชนี SET INDEX สร้างผลตอบแทน (รีเทิร์น) “ติดลบ” และหากดูผลงานจากปีก่อนแทบจะเป็น “ตลาดหุ้นที่แย่ที่สุดในโลก” 

แม้มีสัญญาญรีบาวนด์ให้เห็นในระยะสั้นๆ ดังนั้น นักลงทุนจะยังคงเห็นภาพตลาดหุ้นไทยคุมเครือแบบนี้อีกนานแค่ไหน และมีความหวังจะเห็น “โอกาส” อะไรรออยู่บ้าง... !?

‘บล.กสิกรไทย’แนะจังหวะ ลงทุน‘หุ้นไทย’   เร่งคลายปมร้อน ฟื้นดัชนี

 “สรพล วีระเมธีกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด เปิดมุมมองอนาคต “ตลาดหุ้นไทย” ปี 2568 ผ่านรายการ “กรุงเทพธุรกิจ DEEP Talk” ว่า 3 สาเหตุ ที่กำลังทำให้ภาพของตลาดหุ้นไทยเป็น “ขาลง” คงต้องยกให้ประเด็นแรก “เศรษฐกิจภายในประเทศ” ประเด็นสอง “แรงขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว” (LTF) และประเด็นสุดท้าย “ความเชื่อมั่นนักลงทุนที่หดหาย”    

หากขยายความให้ลึก ดังจะเห็นภาพว่าเศรษฐกิจไทย สินเชื่อธนาคาร (แบงก์) และกำไรของตลาดหลักทรัพย์ฯ ขาดอัปไซด์ ขณะที่แรงขายกองทุน LTF ที่ครบกำหนดสะสมกันมาเกือบ 400,000 ล้านบาท สะท้อนผ่านการทยอยขายต่อเนื่องปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงไม่มีเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้ามาในตลาด... 

และ “นักลงทุนต่างชาติ” ยังกระหน่ำขายทิ้งหุ้นไทย 2-3 ปีที่ผ่านมาระดับ “แสนล้านบาท” ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันขายไปแล้ว 26,000-27,000 ล้านบาท โดยเดือนม.ค. 2568 ขายไปแล้ว 16,000 ล้านบาท และเดือนก.พ. เดินหน้าขายอีก 10,000 ล้านบาท นี่ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก หากย้อนดูสถิติจากหลายปีที่ผ่านมาเดือนม.ค. ปกติต่างชาติขายเพียง 5,000-8,000 ล้านบาท นั่นสะท้อนถึง “ความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ลดลง” ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าไม่ปกติ!! 

ดังนั้น ภาวะตลาดหุ้นไทยปรับลงมาใกล้เคียงกับ “พื้นฐานที่แท้จริง” แต่ยังไม่ถึงขั้นเกินพื้นฐานที่แท้จริง เพราะหากเกินพื้นฐาน นั้นหมายความถึง พื้นฐานดีแต่ราคาหุ้นร่วงแรงเกินพื้นฐาน แต่ ณ ปัจจับัน คือ พื้นฐานแย่จริง ดังนั้น ราคาหุ้นจึงร่วงลงมาตามพื้นฐานที่ไม่ดี โดยประเมินจาก P/E ratio ของตลาดหุ้นไทย “ลดลง” มาอยู่ที่ 12.5-13 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับ “จีดีพี” และ “ดัชนีการเติบโตสินเชื่อ” (Loan Growth) ที่ชะลอตัวคาดว่าปีนี้ Loan Growth โต 0.5-1% และ จีดีพีโตต่ำ 3% หรือกรอบ 2.5-3% และ Earning Yield Gap หรือ ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของตลาดหุ้นและพันธบัตร สูงถึงระดับ 5.5% ซึ่งเป็นระดับ “สูงสุดในรอบ 5 ปี” และใกล้เคียงกับช่วงโควิด-19 เดือนมี.ค. 2563

“ในอดีต EPS 100 -105 บาทต่อหุ้น , PE 17 -18 เท่า ดัชนีหุ้นไทยกรอบระดับ 1,700-1,800 จุด แต่ตอนนี้เห็นชัดเจนว่าไม่ได้แน่นอน แต่กรอบ เทียบกับ จีดีพี กับ Loan Growth ทำให้ EPS 95 บาทต่อหุ้น P/E 12.5-13 เท่า อาจมี Downside ดัชนีหุ้นไทย 1,200 จุด แต่หากปรับตัวลงต่อจากระดับนี้ มองว่าจะเริ่มไม่เหมาะสม เพราะกำลังจะเข้าสู่ใกล้เคียงช่วงโควิด”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยซึมซับข่าวต่างๆ ไปมาก แต่ยังมีอีกหนึ่งประเด็นต้องติดตามใกล้ชิดคือ “อัตราภาษีต่างตอบแทน” (Reciprocal Tariff)ระหว่างสหรัฐกับไทย หากไทยได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวคาดว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสลงไปอีก แต่คง “ไม่ลึก” มากแล้ว

“ณ ปัจจุบัน Reciprocal Tariff ระหว่างสหรัฐกับไทยยังไม่ชัดเจน ซึ่งกสิกรประเมินผลกระทบจีดีพีอาจจะเติบโตที่ 2.4% อาจกระทบการส่งออกโดยตรง ที่มีสัดส่วน 70% ของ จีดีพี แต่ผลกระทบอาจจะไม่ได้เกิดโดยตรง ทำให้ไม่ได้เป็นดาวน์ไซด์ต่อเศรษฐกิจไทยมาก และเชื่อว่าจะเปิดช่องในการเจรจาทุกประเทศในรอบนี้”

ดังนั้น ยังคงประเมินผลต่อตลาดหุ้นไทยไว้ที่ระดับ 1,230 จุด แต่หากได้รับผลกระทบสงครามการค้า คาดปรับลงมาที่ระดับ 1,190 จุดเป็นการคำนวณผ่าน Earning Yield Gap ที่ต่างกันเพียงแค่ 30-40 จุด ดัชนีปรับลงได้ไม่มาก 3-4% และที่ผ่านมาตลาดรับข่าว Reciprocal Tariff มาพอสมควรแล้ว

“สรพล” กล่าวต่อว่า จากสถิติในอดีตหลายๆ ครั้ง เมื่อตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงๆ ถึง “จุดตํ่าสุด” (Bottom) ตลาดจะเริ่มฟื้นตัว และหุ้นกลุ่มที่เป็น “พระเอก” คงต้องยกให้ “หุ้นปันผล” โดยเฉพาะ กลุ่มธนาคาร (แบงก์) กลุ่มไอที กลุ่มพลังงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยมี Earning Yield Gap สูงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค แม้ว่าจะประเทศไทยกับอินโดนีเซียใกล้เคียงกันที่มี Earning Yield Gap เมื่อเทียบกับ Standard Deviation ย้อนหลัง แต่มองไทยมีความหลากหลายมิติมากกว่า ดังนั้น อาจเป็น “โอกาสลงทุน” ที่เริ่มกลับเข้ามาสะสม และเหมาะสำหรับคนที่รู้สึกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา “ไม่เอาหุ้นไทยเลย” 

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยกระทบระยะสั้นตอนนี้ คงต้องยกให้กับ “ความเชื่อมั่นนักลงทุน” เป็นประเด็นสำคัญที่สุด เพราะถ้าไม่มีความเชื่อมั่น คนไม่กล้าลงทุน ฉะนั้น “ตัวจุดชนวน” ที่สามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการ และส่งสัญญาณมาเป็น gain confidence กลับมาให้กับนักลงทุนทันที 

ทั้งนี้ มองว่าตอนนี้เราอาจไม่ได้อยู่กับวิกฤติเศรษฐกิจ แต่อยู่บนวิกฤติความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดังนั้น “น่าเป็นห่วง” สะท้อนด้วย มูลค่าซื้อขายต่อวัน (วอลุ่ม) ของ “นักลงทุนรายย่อย” ช่วงนี้หายไป 10% จากปกติราว 40-45% บางวันเหลือ 30% ถือว่ามากและค่อนข้างชัดเจน และหากสามารถเรียกศรัทธากลับมาได้ การฟื้นวอลุ่มไม่ยาก และทุกๆ เรื่องจะเริ่มดูดีขึ้นได้ !! 

“ตลาดหุ้นจะฟื้นตัวขึ้นหรือไม่ มองว่าอาจจะรอดูความชัดเจน สำหรับ 2-3 ประเด็นที่กล่าวข้างต้น คาดว่าเดือนมี.ค.- เม.ย. ก็เริ่มกลับมาน่าดูมากขึ้น ยิ่งตรงดัชนีหุ้นไทยระดับ 1,200 จุด หลังบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกาศงบจะทำให้มีแรงเทรอบหนึ่ง และเดือนเม.ย. แล้วก็เริ่มฟื้นแต่ไม่ได้ไกล คาดไว้ที่ระดับ 1,300-1,400 จุด ส่วนไปถึง 1,500 จุดยังคงยาก”

ท้ายสุด “กลยุทธ์การลงทุน” ในจังหวะนี้ “สรพล” แนะนำว่า ไม่ควร All in ในหุ้นไทย หากต้องการ Cut loss แนะควรรอจังหวะที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 1,300-1,400 จุด อีกทั้งพิจารณาลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ด้วยเงินส่วนอื่น รวมถึงจับตาดู Emerging Market ที่มีโอกาสฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง และตลาดหุ้นที่ P/E ถูกๆ มีโอกาสฟื้นตัวได้ดี