ตลท.ให้ PTECH -SABUY-TSR แจงงบปี67 พบธุรกรรมเกี่ยวโยงระหว่างกัน

ตลท.ให้ PTECH -SABUY-TSR ชี้แจงงบปี67ตามผู้สอบบัญชีตั้งข้อสงสัยภายใน 3เม.ย. และความเห็นบอร์ด10เม.ย. พบธุรกรรมเกี่ยวโยงกันจนกระทบผลการดำเนินมีนัยสำคัญ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ บมจ. พลัส เทค อินโนเวชั่น (PTECH) ชี้แจงข้อมูลใน งบการเงินประจำปี 2567
โดยผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในประเด็นมูลค่าการสำรองทรัพย์สินสูญหาย และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท
ทั้งนี้ ขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 3 เมษายน 2568 สำหรับความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบ ขอให้ชี้แจงภายในวันที่ 10เมษายน 2568 นอกจากนี้ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินและติดตามคำชี้แจงของบริษัท
ข้อมูลสำคัญในงบการเงินประจำปี 2567
1. ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติสูญหาย และไม่ตรงกับทะเบียนทรัพย์สิน รวม 89 ล้านบาท (32% ของตู้ทั้งหมด)
1.1 บันทึกขาดทุนจากการตัดจำหน่าย 12 ล้านบาท เนื่องจากตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ 184 ตู้ สูญหายโดยบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย
1.2 รับรู้สำรองค่าใช้จ่ายทรัพย์สินสูญหาย 77 ล้านบาท จากการพบตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ 1,171 ตู้ ที่ไม่ตรงกับรายละเอียดทรัพย์สิน ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการมีมติรับทราบให้บริษัทตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และจะสรุปผลภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568
2. ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวม 101 ล้านบาท ขณะที่ปี ก่อนอยู่ที่ 2 ล้านบาท
โดยตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนของลูกหนี้ค่าบริหารจัดการซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของผู้ถือหุ้นใหญ่ (บมจ. สบายเทคโนโลยี) จำนวน 60 ล้านบาท รวมถึงตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนของลูกหนี้การค้าสูงกว่ายอดลูกหนี้การค้าที่เกินกำหนดชำระ
สำหรับบ มจ.ทีเอสอาร์ ลิฟวิ่ง โซลูชั่น (TSR) ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2567
โดยผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน เนื่องจากมีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญของการดำเนินงานต่อเนื่อง
กรณีปี 2567 ขาดทุน 715 ล้านบาท มีขาดทุนสะสม 945 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อน
ส่วนใหญ่เกิดจากการบันทึกด้อยค่าลูกหนี้และค่าความนิยมทั้งจำนวนในธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ลงทุนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 รวมทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม (SABUY) ยกเลิกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและขอให้ชำระหนี้คืนซึ่งมีเงินต้น 873 ล้านบาท กรณีข้างต้นอาจกระทบต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และการประกอบธุรกิจของบริษัทในอนาคต
โดยขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 3 เมษายน 2568
ในส่วนความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบขอให้ชี้แจงภายในวันที่ 10 เมษายน 2568 นอกจากนี้ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินและติดตามคำชี้แจงของบริษัท
ปี 2567 TSR ขาดทุน 715 ล้านบาท เกือบทั้งหมดเกิดจากการบันทึกด้อยค่าลูกหนี้ 4 กลุ่มธุรกิจ และผลขาดทุนจากด้อยค่าความนิยมทั้งจำนวนในธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ รวม 641 ล้านบาท สรุปดังนี้
ผลขาดทุนจากการด้อยค่าลูกหนี้ 4 กลุ่มธุรกิจ โดยส่วนหนึ่งคือลูกหนี้ Factoring ที่เป็นอดีตบริษัทในเครือของกลุ่มSABUY (ขายตรงและตัวแทนจำหน่าย 324 ลบ. / ดิจิทัลออนไลน์และขายทางโทรศัพท์ 132 ลบ. / ค้าปลีกและตัวแทนร้านค้า 20 ลบ. /ธุรกิจองค์กร 16 ลบ.)
ผลขาดทุนจากด้อยค่าค่าความนิยมทั้งจำนวนในธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เนื่องจากบริษัทย่อย (บจก. เวนดิ้งคอนเน็กซ์ เทค) มีการชะลอการประกอบธุรกิจดังกล่าว149 ลบ.
• เดือนมกราคม 2568 ผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม (SABUY) ยกเลิกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและขอให้ชำระหนี้คืนภายใน 30 วัน (เงินต้น 873 ล้านบาท) ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2568 บริษัทมีหนังสือตอบกลับว่าอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางดำเนินการ ทั้งนี้ ระหว่างปี 2567 มีการเจรจาโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้โดยส่งมอบตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้กับ SABUY ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป
• ปัจจุบัน TSR ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินได้ ซึ่งสถาบันการเงินมีสิทธิเรียกชำระหนี้คืนได้มูลหนี้ 418 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเจรจาผ่อนผันเงื่อนไขสัญญา และมีผิดนัดชำระหนี้บุคคลและกิจการอื่นอีก 18 ล้านบาท
โดยสินทรัพย์ของกลุ่มบริษัท (934 ล้านบาท) ส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม (SABUY) ทำให้บริษัทมีสินทรัพย์ปลอดภาระผูกพันลดลงซึ่งอาจมีผลต่อความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม
สำหรับบมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2567
โดยผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตดังนี้ (1) ทรัพย์สินและสินค้าคงเหลือสูญหาย 215 ล้านบาท (2) การประเมินมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ธุรกิจให้เช่าตู้ล็อคเกอร์ยังไม่แล้วเสร็จ (มีค่าความนิยม 71% ของมูลค่าซื้อ) อาจมีการปรับปรุงมูลค่าในอนาคต (3) ความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินงานต่อเนื่อง กรณีปี 2567 ขาดทุน 6,238 ล้านบาท(เพิ่มขึ้น 3,283%) มีขาดทุนสะสม 8,152 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,103%)
โดยขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 3 เมษายน 2568
ในส่วนความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบขอให้ชี้แจงภายในวันที่ 10 เมษายน 2568
นอกจากนี้ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินและติดตามคำชี้แจงของบริษัท
ข้อมูลสำคัญในงบการเงินประจำปี 2567
• ผู้สอบบัญชีพบว่ามีทรัพย์สินและสินค้าคงเหลือสูญหายรวม 215 ล้านบาท ซึ่งบริษัทบันทึกค่าความเสียหายดังกล่าวในงวดไตรมาสที่ 4 ปี 2567 โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินของบริษัท 114 ล้านบาท (53%) ของ PTECH 89 ล้านบาท (41%)
และที่เหลือเป็นของบริษัทย่อยอื่น ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึก
• เดือนตุลาคม 2567 บริษัทซื้อบจก. ลอคบอกซ์ กรุ๊ป(LOCKBOX) และบจก. ลอคบอกซ์ เวนเจอร์ส (LOCKVENT)ซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่าตู้ล็อคเกอร์ ในราคา 360 ล้านบาท โดยมีค่าความนิยม 257 ล้านบาท (71% ของมูลค่าซื้อ)ซึ่งการประเมินมูลค่ายุติธรรมยังไม่แล้วเสร็จ อาจมีการปรับปรุงมูลค่าในอนาคต
• บริษัทมีประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินงานต่อเนื่อง กรณีปี 2567 ขาดทุน 6,238 ล้านบาท(เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,283%) มีขาดทุนสะสม 8,152 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,103%) รวมทั้งบริษัทถูกสถาบันการเงินฟ้องคดีแพ่งจากการผิดนัดชำระหนี้ สรุปสาเหตุส าคัญที่บริษัทขาดทุนสูงมาก ดังนี้
(1) ผลกระทบจากการลงทุนใน TSR AS PTECH และบริษัทอื่น 5,731 ลบ.
(2) ขาดทุนจากการวัดค่าสินทรัพย์ทางการเงิน 111 ลบ.
(3) ขาดทุนจากการด้อยค่าธุรกิจและยกเลิกสัญญาทางธุรกิจ 416 ลบ.
(ธุรกิจที่ตั้งด้อยค่า ได้แก่ ธุรกิจช่องทางการจัดจำหน่ายและเชื่อมต่อเข้าถึงลูกค้า ธุรกิจบริการด้านชำระเงินและระบบ การเงินอิเลคทรอนิกส์ ธุรกิจให้บริการสินเชื่อและประกันภัย และธุรกิจให้บริการสำหรับองค์กรและไลฟ์ สไตล์ / ธุรกิจที่ยกเลิกสัญญา ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านชำระเงินและระบบการเงินอิเลคทรอนิกส์ และธุรกิจให้บริการสินเชื่อและประกันภัย)