ส่อง 6 กลุ่มหุ้นใหญ่ กระทบมากแค่ไหน ? จากนโยบาย TAX TARIFF

ส่อง 6 กลุ่มหุ้นใหญ่ กระทบมากแค่ไหน ? จากนโยบาย TAX TARIFF

บล.เอเชีย พลัส เผย TRUMP ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ทั่วโลก ไทยโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้า 37% ผลกระทบ GDP ลดลงอย่างน้อย 1% และกระทบ 6 อุตสาหกรรม อย่าง วัสดุก่อสร้าง PACKAGING พลังงานและปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า เกษตรอาหาร และอิเล็กทรอนิกส์

บล.เอเชีย พลัส เปิดเผยว่า หลังจากที่ TRUMP ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ทั่วโลก ซึ่งไทยโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้า 37% ซึ่งแนงทางการแก้ไขปัญหาของรมว.การคลัง กล่าวว่า จะต้องมีการปรับสมดุลการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ผ่านการนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแทนการนำเข้าจากประเทศอื่น อาทิ สินค้าเกษตร เพื่อทำให้การได้เปรียบดุลการค้าของเราลดลง 

ส่วนอีกประเด็น คือ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NON-TARIFF) ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าบางอย่างที่ไทยไม่สามารถส่งออก หรือไม่สามารถนำเข้าได้ แต่มีการตั้งภาษีไว้สูงถึง 40-80% เช่น รถจักรยานยนต์ ซึ่งสหรัฐฯ เองมีการผลิตรถฮาเลย์ฯ ทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถขายได้ เพราะไทยตั้งอัตราภาษีสูงจึงต้องมีการพูดคุยกันถึงประเด็นนี้เช่นกัน

โดยเบื้องต้น รมว.การคลัง ประเมินว่า หากไทยไม่เร่งดำเนินการอะไรเลย ปัญหานี้จะส่งผลกระทบทำให้ตัวเลข GDP ของไทยลดลงอย่างน้อย 1% ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของหลายสำนักเศรษฐกิจคาดว่า GDP อาจแตะระดับต่ำกว่า 2% อยู่ที่ 1.0-1.5% 

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้น และคาดหวังให้ กนง.ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อพยุงเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเริ่มเห็นเม็ดเงินที่โยกย้ายไปฝั่งตราสารหนี้มากขึ้น โดยวานนี้ต่างชาติซื้อพันธบัตรไทย3.8 พันล้านบาท ตั้งแต่ต้นเดือนซื้อสุทธิ 7.1 พันล้านบาท มองเป็นสัญญาณบวกต่อค่าเงินบาทให้ชะลอการอ่อนค่าได้ระยะหนึ่ง โดย THAI BOND YIELD ทยอยปรับลงเรื่อยๆทั้งอายุ 5 ปี/ 10 ปี ล่าสุด อยู่ที่ 1.58% และ 1.88% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามลำดับ สะท้อนเห็นถึงโอกาสที่ กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปีนี้ ราว 25 BPS (ดอกเบี้ยลง -25 BPS จะหนุนทั้งTARGET SET ขยับขึ้นราว 50 จุด) อีกทั้งในช่วงยุค TRUMP 1.0 ระดับดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่เพียง 1.50-1.75% เท่านั้น จึงทำให้มีช่องว่างอีกมากหากต้องการจะพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม จากความกังวลประเด็น TARIFF ยังกดดันให้สินทรัพย์เสี่ยงผันผวนหนัก หุ้นสหรัฐ -4% ถึง -6% ในวันเดียว และเม็ดเงินมีการไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยชั่วคราว BOND YIELD 10Y สหรัฐ -10 BPS.ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสผันผวนตาม แต่ก็ตอบรับประเด็นนี้มาเยอะกว่าประเทศอื่นๆ โดยช่วง 5 เดือน หลังทรัมป์รับตำแหน่งประธานาธิบดี ตลาดหุ้นไทย -21%, หุ้นอินโดฯ -13%, หุ้นเวียดนาม -1%, หุ้นกัมพูชา +2% หุ้นลาว +7%

สำหรับ ผลกระทบแต่ละอุตสาหกรรมมากน้อยเพียงใด จากนโยบาย TAX TARIFF

กลุ่มวัสดุก่อสร้าง : คาดส่งผลกระทบจำกัด เนื่องจากสินค้าวัสดุก่อสร้างเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก การส่งออกไปสหรัฐจึงมีเฉพาะสินค้าที่มีความต้องการเฉพาะเจาะจงจากลูกค้าเท่านั้น ได้แก่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และสินค้ารักษ์โลก โดย SCC มีสัดส่วนขายสินค้าไปสหรัฐประมาณ 1% ของยอดขายทั้งหมด เช่น ปูน LOW CARBON CEMENT

กลุ่ม PACKAGING : ส่งผลกระทบทางตรงต่อ SCGP ไม่มาก โดยSCGP มีสัดส่วนรายได้ไปสหรัฐ คิดเป็น 3% ของรายได้ทั้งหมด สินค้าส่งออกหลักคือ POLYMER PACKAGING และบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งปัจจุบันมีภาษีนำเข้า 15-20% หากการขึ้นภาษีทำให้การนำเข้าของสหรัฐลดลง SCGP ก็สามารถ ALLOCATE สินค้าไปขายที่ตลาดอื่นๆ ได้ เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของ SCGP เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มอาเซียนที่ยังมี DOMESTIC CONSUMPTION เติบโตดี

กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี : คาดผลกระทบโดยตรงจากการเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากสัดส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปิโตรเคมีส่งออกไปสหรัฐฯไม่มีนัยฯ โดยตลาดปิโตรเลียมปิโตรเคมีของไทยอยู่ที่ภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก แต่ทั้งนี้คาดจะได้รับผลกระทบทางอ้อมแทน เนื่องจากหากหลายๆประเทศผุ้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีที่ส่งออกไปสหรัฐฯแล้วโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น อาจทำให้ต้องหาตลาดใหม่ในการส่งออกแทนสหรัฐฯ จึงมีโอกาสที่ SUPPLY จะไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีในภูมิภาคเอเชียซึ่งประเทศไทยใช้อ้างอิงอยู่ปรับตัวลดลงได้ ประกอบกับการเกิด TRADE WAR ในครั้งนี้ในมุมมองภาพเศรษฐกิจโดยรวมของโลกอาจทำให้อยู่ในภาวะชะลอตัวได้ ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการใช้สินค้า COMMODITY ที่แปรผันตาม GDP

กลุ่มโรงไฟฟ้า : หุ้นโรงไฟฟ้าที่ฝ่ายวิจัยศึกษา คาดไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากไม่มีสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามคาดได้รับผลกระทบทางอ้อม 2 กรณี ดังนี้

1.กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรม เช่น BGRIM, GCPS, GULF เป็นต้น คาดจะได้รับผลเชิงลบจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่อาจปรับตัวลดลง

2.ผู้ประกอบการที่มีโครงการโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ เช่น BPP, BCPG, EGCO, BGRIM, GULF เป็นต้น อาจได้รับ SENTIMENT เชิงบวกในระยะยาว จากคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้น ตามการผลิตของภาคอุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้น และเพื่อทดแทนการนำเข้าไฟฟ้าจากแคนาดา ที่อาจถูกเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯที่สูง

กลุ่มเกษตรอาหาร : คาดได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐ โดยประเมินกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง (แมว/สุนัข) และทูน่ากระป๋อง มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มสัตว์บก (สุกร/ไก่) หากพิจารณรายบริษัทคาด ITC กระทบมากสุด เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้ไปสหรัฐสูงราว 50% ของรายได้ปี 2567 และปัจจุบันภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ 0% ขณะที่ TU มีสัดส่วนรายได้จาก US ราว 39% ในนี้มาจากฐานการผลิตในสหรัฐ มากกว่า 25% และที่เหลือนำเข้าไทยราว 10% สินค้าส่วนใหญ่เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ตามด้วยทูน่ากระป๋อง ซึ่งมีการเก็บภาษีนำเข้าอยู่ที่ 12% ส่วน CPF และ GPFT ที่มีธุรกิจสัตว์บก เช่น ไก่/สุกร คาดได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากไม่มีการส่งออกโดยตรงไปสหรัฐ แต่ในทางกลับกันมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการมีเจรจาเปิดตลาดนำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลือง ย่อมส่งผลดีต่อต้นทุนอาหารสัตว์สำหรับกลุ่มสัตว์บก

กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ : คาดมีผลกระทบต่อ DELTA และ KCE ที่มีสัดส่วนยอดขายไปสหรัฐประมาณ 26% และ 20% ของยอดขายในปี 2567 ตามลำดับ ซึ่งต้องติดตามแนวทางการรับมือของทั้ง 2 บริษัทต่อภาษีตอบโต้นี้ โดยเรามองว่า มีโอกาสที่ DELTA ที่ปัจจุบันมีโรงงานในสหรัฐที่ดีทรอยด์ (ใช้ผลิตชิ้นส่วนฯสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า) อาจปรับการผลิตบางส่วนเพื่อมาผลิตสินค้าอื่นๆด้วยเพื่อลดค่าใช้จ่ายทางภาษีดังกล่าว ส่วน CCET น่าจะได้รับผลกระทบน้อยสุด เพราะยอดขายส่วนใหญ่เป็นการขายในประเทศเกือบ 70% ขณะที่มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐเพียง 1% ของยอดขาย อย่างไรก็ตามภาษีตอบโต้ที่อัตรา 36% ไม่ได้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของทั้ง 3 บริษัท ที่จะส่งออกไปสหรัฐต่ำไปกว่าคู่แข่งที่สำคัญอย่างจีน และเวียดนาม ที่จะถูกคิดภาษีในอัตราที่สูงกว่าไทย