More than just Tariffs

“Trump 2.0” แม้เรายังไม่ได้คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจแต่ก็มีความเสี่ยงที่การเติบโตจะชะลอตัวลงทำให้เราปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ลง และให้กระกายการลงทุนไปตลาดอื่นๆ มากขึ้นโดยเน้นหุ้นกลุ่มปลอดภัยมากกว่ากลุ่มเติบโตซึ่งยังมีความเสี่ยงที่จะถูกลดน้ำหนักลงมา นอกจากนี้การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดที่ไม่ได้ผันผวนตามตลาดจะยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 เป็นสิ่งที่น่าจะสวนทางจากสิ่งที่นักวิเคราะห์หรือนักกลยุทธ์สวนใหญ่คาดการณ์ไว้รวมถึงมุมมองของเราด้วยแม้ว่าเมื่อต้นปี เราแนะนำนักลงทุนว่าใน ปี 2025 อาจเป็นปีของการรักษาเงินทุน (Capital Preservation) มากกว่าการเติบโตของเงินทุน (Capital Growth) แต่เราก็ไม่ได้คาดว่าจะเห็นการปรับตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกมากขนาดนี้ โดยเดือนมีนาคมที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลง 5.75% ทำให้ไตรมาสแรกปรับตัวลง 4.59% เป็นไตรมาสที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ นับตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งในบทความเดือนที่ผ่านมาเราได้พูดถึงสาเหตุของการปรับตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯไปแล้ว 

อย่างไรก็ตาม เรามีความกังวลมากขึ้นต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ซึ่งในช่วงแรก นักลงทุนยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะเข้มข้นหรือจริงจังมากน้อยแค่ไหนโดยเฉพาะนโยบายด้านภาษีศุลกากร แต่เมื่อเข้าสู่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ความกังวลเพิ่มขึ้น และดัชนี S&P 500 เริ่มร่วงลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้านับจากจุดสูงสุดจนถึงจุดต่ำสุดในช่วงเดือนมีนาคมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงถึง 10% แม้ว่าในระยะสั้นมีโอกาสที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะมีโอกาสฟื้นตัวระยะสั้นเรายังคาดว่าอาจจะยังยังเห็นการปรับตัวลงของตลาดได้อีกสักระยะ เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐฯ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก ทำให้ยังมีโอกาสที่จะได้เห็นนักลงทุนลดความเสี่ยงจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไปยังตลาดทุนอื่น ๆ ทั่วโลกเช่นตลาดหุ้นยุโรปและจีนที่มีระดับ valuation ที่ถูกกว่าและรวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งสวนทางกับสหรัฐฯ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหม่

การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายครั้งใหญ่ของรัฐบาลทรัมป์ 2.0

ในช่วงที่ผ่านมาสิ่งที่มีนักเศรษฐศาสตร์กลับมาให้ความสนใจอย่างมากคือเอกสาร white paper ของ Stephen Miran ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (Council of Economic Advisers) สาระสำคัญของเอกสารชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยหลักที่กำหนดนโยบายของรัฐบาลทรัมป์คือ “ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ” นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง Niall Ferguson ได้กล่าวไว้ที่การประชุม ARC (Alliance for Responsible Citizenship) ว่า อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ล้วนเสื่อมถอยอย่างถาวรเมื่อ ต้นทุนดอกเบี้ยของหนี้ภาครัฐสูงกว่างบประมาณด้านกลาโหม สหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนนี้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลทรัมป์พยายามใช้มาตรการภาษีนำเข้าและนโยบายทางการเงินเพื่อ reverse แนวโน้มดังกล่าว 

โดยมุ่งเป้าหมายไปที่ 3 ประเด็นหลัก : 1.ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ-นโยบายของรัฐบาล มีเป้าหมายให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เช่น เหล็กกล้า 2.หนี้สาธารณะ-มีการกำหนดให้ประเทศที่ถือครองทุนสำรองเป็นพันธบัตรสหรัฐฯ ต้องเปลี่ยนไปถือพันธบัตรระยะยาวพิเศษที่ไม่มีวันหมดอายุ 3.การลดการขาดดุลงบประมาณ-ตามสูตร “3-3-3” ของรัฐมนตรีคลัง Scott Bessent ได้แก่ เป้าหมาย ขาดดุลงบประมาณ 3%, การเติบโตทางเศรษฐกิจ 3%, และ การผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ตาม การลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ จากระดับ 7% ของ GDP ลงมาเหลือ 3% เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและทำได้ยาก แม้ว่าจะพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับกลาโหม แต่งบประมาณส่วนนี้คิดเป็นเพียง 12% ของการใช้จ่ายภาครัฐ หรือประมาณ 3% ของ GDP เท่านั้น ปัจจุบันการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นจาก 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2019 เป็นมากกว่า 7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ต้องมีมาตรการลดงบประมาณอย่างจริงจัง แต่การลดงบประมาณในระดับที่ส่งผลกระทบจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ในเอกสารข้างต้น Miran ระบุว่า การมีสถานะเป็นผู้ออกเงินสกุลหลักของโลก (world’s reserve currency) กลายเป็นภาระของสหรัฐฯ มากกว่าประโยชน์ เพราะประเทศที่ใช้เงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองไม่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทางทหารของสหรัฐฯ รัฐบาลทรัมป์จึงกำลังพยายามให้ประเทศเหล่านั้นรับผิดชอบต้นทุนความมั่นคงร่วมกัน โดยการกดดันให้สกุลเงินของประเทศที่ได้เปรียบทางการค้าแข็งค่าขึ้น และทำให้การถือพันธบัตรสหรัฐฯ มีต้นทุนสูงขึ้น

นอกจากนี้ วันที่ 2 เมษายน ทรัมป์ได้มีการประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีนำเข้าชุดใหม่ที่เรียกว่าภาษีศุลกากรตอบโต้ ซึ่งสูงกว่าที่นักลงทุนคาดว่านโยบายภาษีจะไม่รุนแรงมากนักโดยก่อนหน้านี้คาดว่าจะมีผลกระทบให้อัตราภาษีศุลกากรที่แท้จริงจะปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 2.5% ไปที่ 10-15% แต่ปรากฏว่านโยบายที่ออกมาสูงกว่าที่คาดการณ์อย่างมากในหลายประเทศทำให้คาดว่าอัตราภาษีศุลกากรที่แท้จริงจะปรับขึ้นไปที่ระดับ 29% ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะตลาดหุ้นทั่วโลกนั้นมีการปรับตัวลงทันทีหลังจากการประกาศนี้ 

แม้ว่าทิศทางของนโยบายจะชัดเจนขึ้น แต่ตลาดโลกยังคงอยู่ในช่วงปรับสมดุลใหม่ ซึ่งอาจใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่นักลงทุนจะเข้าใจผลกระทบที่แท้จริงของ “Trump 2.0” คำแนะนำสำหรับนักลงทุนแม้เรายังไม่ได้คาดว่าการดำเนินนโยบายเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจแต่ก็มีความเสี่ยงที่การเติบโตจะชะลอตัวลงทำให้เราปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ลง และให้กระจายการลงทุนไปตลาดอื่นๆ มากขึ้นโดยเน้นหุ้นกลุ่มปลอดภัยมากกว่ากลุ่มเติบโตซึ่งยังมีความเสี่ยงที่จะถูกลดน้ำหนักลงมา นอกจากนี้การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดที่ไม่ได้ผันผวนตามตลาดจะยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยงและขอคำแนะนำจากผู้แนะนำการลงทุนของท่านเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน ข้อมูลนี้จัดทำโดยอาศัยที่มาจากแหล่งข้อมูลสาธารณะซึ่งปรากฎขณะจัดทำ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปแต่ละขณะ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน