อาเซียนระส่ำ! สงครามการค้าฉุดหุ้นร่วง เงินอ่อนค่า จนต้องพักซื้อขายชั่วคราว

อาเซียนระส่ำ!  สงครามการค้าฉุดหุ้นร่วง เงินอ่อนค่า  จนต้องพักซื้อขายชั่วคราว

พิษ ‘สงครามการค้า - ภาษีทรัมป์’ กระทบหุ้น ‘อาเซียน’ ร่วงหนัก ฉุดสกุลเงินอ่อนค่า จนหลายแห่งใช้ ‘เซอร์กิตเบรกเกอร์’ สั่งพักซื้อขายชั่วคราว ตลาด ‘ไทย - อินโด’ หนักสุด

บลูมเบิร์ก รายงานความเคลื่อนไหวตลาดหุ้น “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ปรับตัวลดลงอย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนพากันเทขายหุ้น จากความกังวลว่า “สงครามการค้า” ระหว่างประเทศจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของภูมิภาค 

ดัชนี MSCI Asean ลดลงถึง 3.2% ส่วนตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ที่เพิ่งกลับมาเปิดทำการหลังจากหยุดไปตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ก็ร่วงลงอย่างหนักถึง 9.7%

นับตั้งแต่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศภาษีตอบโต้สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนที่พึ่งพาการส่งออกซึ่งอ่อนไหวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าดังกล่าว  ทำให้มูลค่าตลาดรวมลดลงถึง 11% ซึ่งเป็นการตอกย้ำตลาดหุ้นไทย และอินโดนีเซียที่มีผลงานย่ำแย่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ค่าเงินส่วนใหญ่ในอาเซียนก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับ “ดอลลาร์”  ตั้งแต่มีการประกาศขึ้นภาษีเมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 เนื่องจากประเทศในแถบนี้มีความเชื่อมโยงทางการค้ากับสหรัฐอย่างใกล้ชิด 

ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2023 ระบุว่า สหรัฐเป็นหนึ่งในสองคู่ค้าหลักของสิงคโปร์ เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของภูมิภาคต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐ

ตลาดหุ้นเอเชียใช้ ‘เซอร์กิตเบรกเกอร์’

ตลาดส่วนใหญ่ในภูมิภาคมีมาตรการ “เซอร์กิตเบรกเกอร์” เพื่อหยุดการซื้อขายชั่วคราว หากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นหรือลงแรงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยการเทขายอย่างรุนแรงเมื่อวานนี้(7เม.ย.68) กระตุ้นให้มีการใช้มาตรการดังกล่าว ทั้งในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหุ้นญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนตลาดหุ้นอินโดนีเซียก็เผชิญกับมาตรการในลักษณะเดียวกัน หลังตลาดกลับมาเปิดทำการซื้อขายอีกครั้งในวันนี้ (8เม.ย.68)

  • มาเลเซีย

ดัชนี FTSE Bursa Malaysia KLCI มี ระดับ Circuit Breaker ที่ แตกต่างกันสำหรับช่วงเวลาต่างๆ ขึ้นอยู่กับช่วงการซื้อขาย และขนาดของการลดลง โดยระดับทริกเกอร์แรกคือ การลดลงอย่างน้อย 10% จากราคาปิดก่อนหน้า  

  • อินโดนีเซีย 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซียร่วงลงอย่างหนักถึง 9.2% ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากหยุดยาว ทำให้ตลาดต้องสั่งหยุดการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที 

ก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์ได้วางมาตรการไว้ว่า หากดัชนี Jakarta Composite (JCI) ร่วงลง 8% ในช่วงเปิดตลาด จะต้องหยุดการซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งแต่เดิมเกณฑ์การหยุดพักการซื้อขายอยู่ที่ลดลง 5%

ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียออกแถลงการณ์เพิ่มเติมว่า หากดัชนี JCI ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจนเกิน 15% จะมีการหยุดการซื้อขายอีก 30 นาที และหากดัชนี JCI ลดลงเกิน 20% จะเป็นการ หยุดการซื้อขายทั้งวัน

  • ไทย

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นเวลา 30 นาที หากดัชนีหุ้น (SET Index) ลดลง 8% และจะพักการซื้อขายอีก 30 นาที หากดัชนีลดลงถึง 15% หากดัชนี SET ลดลงถึง 20% การซื้อขายจะหยุดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

หลังจากผ่านพ้นการหยุดพักการซื้อขายในระยะที่ 3 แล้ว ตลาด SET จะยังคงดำเนินการจับคู่คำสั่งซื้อขายต่อไปจนกระทั่งถึงเวลาปิดตลาด โดยจะไม่มีการหยุดพักการซื้อขายอีก

อย่างไรก็ตาม หากระยะเวลาซื้อขายที่เหลืออยู่ในรอบนั้นน้อยกว่า 30 นาที (หลังจากพักรอบแรกหรือรอบสอง) หรือน้อยกว่า 1 ชั่วโมง (หลังจากพักรอบสาม) เมื่อมาตรการหยุดพักการซื้อขายมีผลบังคับใช้ การซื้อขายจะถูกระงับไปจนกระทั่งปิดตลาด และจะกลับมาดำเนินการต่อในรอบการซื้อขายถัดไป

  • ฟิลิปปินส์

ตั้งแต่ปี 2020 ฟิลิปปินส์ได้นำมาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์มาใช้กับดัชนีหุ้นอ้างอิง โดยหากดัชนีหลักลดลง 10% จะต้องพักการซื้อขายเป็นเวลา 15 นาที หากดัชนีลดลงอีก 15% จะต้องพักการซื้อขาย 30 นาที และหากดัชนีลดลง 20% จะต้องพักการซื้อขาย 1 ชั่วโมง

  • สิงคโปร์

ตลาดหุ้นสิงคโปร์มีระบบพักการซื้อขาย หากราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหวผันผวนมากเกินไป โดยจะมีการ หยุดพักการซื้อขายเป็นเวลา 5 นาที หากมีคนพยายามซื้อหรือขายหุ้นในราคาที่สูงหรือต่ำกว่าราคาปัจจุบันมากเกินไป (+/- 10%) ในช่วง 5 นาทีนี้ การซื้อขายยังสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบราคาที่กำหนดไว้ คำสั่งซื้อขายที่อยู่นอกกรอบนี้จะไม่ได้รับการดำเนินการ หลังจาก 5 นาทีผ่านไป กรอบราคาสูงสุด และต่ำสุดใหม่จะถูกกำหนดขึ้น และการซื้อขายก็จะดำเนินต่อไปตามปกติ

  • ญี่ปุ่น 

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า Nikkei 225 และ Topix ถูกพักการซื้อขายชั่วคราว เนื่องจากมีคำสั่งขายออกมามากเกินไปจนผิดปกติ แม้ว่าตลาดหุ้นจริงของญี่ปุ่นจะไม่มีระบบเซอร์กิตเบรกเกอร์โดยตรง แต่ Japan Exchange Group ซึ่งเป็นผู้ดูแลตลาด ก็มีกฎสำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และออปชันที่อ้างอิงกับดัชนี โดยเมื่อเกิดเซอร์กิตเบรกเกอร์ การซื้อขายจะหยุดลง และช่วงราคาที่อนุญาตให้ซื้อขายได้ก็จะถูกขยายออกไป

  • เกาหลีใต้ 

ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ รวมถึงดัชนี Kospi และดัชนี Kosdaq  จะหยุดการซื้อขายสำหรับสมาชิกทั้งหมด หากดัชนีใดดัชนีหนึ่งลดลง 8% หรือมากกว่านั้น

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ยังมีกฎพิเศษเพิ่มเติม ที่เรียกว่า "กฎเสริม" สำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า Kospi โดยจะหยุดรับคำสั่งซื้อหรือขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่มาจากการซื้อขายแบบเทรดดิ้งโปรแกรม และจะหยุดการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนี Kospi 200 หากราคาสัญญาลดลงหรือเพิ่มขึ้น 5% ขึ้นไป

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้หยุดรับคำสั่งขายชั่วคราว สำหรับเทรดดิ้งโปรแกรม หลังจากที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้า Kospi 200 ร่วงลงถึง 6.8% 

อ้างอิง

 

 

Bloomberg1 Bloomberg2
พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์