‘รายใหญ่’ปรับพอร์ตถือเงินสด รอจังหวะซื้อหุ้นถูก ยก ‘พื้นฐานแกร่ง-ปันผลสูง’ ลดความเสี่ยง

‘รายใหญ่’ ปรับพอร์ตถือเงินสด รอจังหวะซื้อหุ้นถูก ยก ‘พื้นฐานแกร่ง-ปันผลสูง’ ช่วยลดความเสี่ยง คาด “สงครามการค้า” ยืดเยื้อ ตีกราฟดัชนีฯ แนวรับแรก 1,000 จุด
พลันที !! “สงครามการค้า” ส่อเค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น จากมาตรการภาษีของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ประกาศออกมาอย่าง “มหาโหด” ปฏิกิริยาแรกที่สะท้อนแน่นอนต้องยกให้ “ตลาดเงิน-ตลาดทุน”ทั่วโลกรวมถึงไทยที่ต้องเผชิญความผันผวนรุนแรง บ่งชี้ผ่าน “ตลาดหุ้นไทย” ปิดตลาดร่วงหนัก 50 จุด (8 เม.ย.2568) ล่าสุด “ทรัมป์” ประกาศเลื่อนการจัดเก็บภาษีออกไปก่อน 90 วัน ยกเว้น “ประเทศจีน” ล่าสุดโดนสหรัฐเก็บภาษีสูงถึงระดับ 125% ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยพุ่งแรง 50 จุดเช่นกัน
“กรุงเทพธุรกิจ” สอบถามบรรดานักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ถึงผลกระทบต่อการขึ้นกำแพงภาษีของทรัมป์ แม้จะมีการเลื่อนเก็บภาษีออกไปแต่สถานการณ์ทุกอย่างไม่แน่นอน สอดรับ “รายใหญ่” ในตลาดหุ้นไทย ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่าสถานการณ์น่าจะยืดเยื้อ แต่จะลุกลามจนนำไปสู่ภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” ได้หรือไม่ต้องติดตามใกล้ชิด....?!
“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (วีไอ) มีมุมมองว่า ต้องยอมรับการจัดเก็บภาษีของทรัมป์ในรอบนี้ถือว่า “รุนแรงจริง” และยังส่งผลกระทบไปทั่วโลก และเป็นไปได้ว่าจะดาวน์ลงทั่วโลก และทุกๆ “สินทรัพย์” (Asset) ไม่เว้นแม้ทองคำที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “สินทรัพย์ปลอดภัย” ดังนั้น นาทีนี้ “น่าห่วงมาก” โลกจะต้องหมุนกลับไปอยู่ในสมัยยุคสงครามโลกในช่วง 70 ปีที่แล้วหรือไม่
โดยในครั้งนี้ “โลกาภิวัตน์” หรือ Globalization มีความเสี่ยงเพราะแท้จริงแล้ว Globalization เป็นตัวขับเคลื่อนในช่วง 70-80 ปีที่ผ่านมาอย่างมาก ทำให้บริษัทมีความเจริญรุ่งเรืองขนาดกิจการใหญ่โตและสามารถขายได้ทั่วโลก และทำให้ประเทศต่างๆ พัฒนาได้มาก รวมถึงสหรัฐที่มีการพัฒนาไม่หยุด
ทั้งนี้ นาทีโลกกำลังมีความเสี่ยง Globalization มีกำแพงกันเต็มไปหมด ซึ่งสิ่งที่สหรัฐกำลังทำอยู่มันลุกลามไปทุกประเทศ และอาจจะทำให้ “จีดีพีโลก” ของทุกประเทศดาวน์ลงมาหมด และเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะสงครามการค้ารุนแรง และคาดจะหยุดได้ “ยาก” สเต็ปถัดไปจะกลายเป็นสงครามการค้ายืดเยื้อและหาผู้ชนะไม่ได้
“รอบนี้น่าจะมีวิกฤติเป็นสงครามยืดเยื้อ มีโอกาสจะเป็น Crisis หากตลาดหุ้นปรับลงมา 40-50% น่ากลัวมาก หากพิจารณาดูแล้วมีการกระจายตัวเหมือน Crisis สมัยที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ซับไพรม์ และโควิด สถานการณ์เป็นแบบเดียวกันหมด รอบแรกตกแบบแพนิก และไหลลงไปเรื่อย ๆ และต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ กว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ ”
สำหรับพอร์ตลงทุน ก่อนหน้ามีการเก็บเงินสดไว้ก้อนหนึ่ง เพื่อรอจังหวะให้ราคาหุ้นปรับตัวลงมา และต่ำกว่า 40% อาจจะเป็นจังหวะที่ดีเข้าลงทุน แต่ต้องอยู่กับสถานการณ์ซึ่งคาดว่าน่าจะไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ เพราะต้องดูให้ชัดเจนก่อน
“ทิวา ชินธาดาพงศ์” หรือ “เซียนมี่” นายกสมาคมนักลงทุนประเทศไทย มีมุมมองว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยและเวียดนาม “ถูกกดลงมาแรง” จากนโยบายภาษีสหรัฐ ซึ่งก็ได้มีการเข้าไปต่อรองเจรจา ฉะนั้น หากมีการปรับลดลงครึ่งหนึ่งมาจาก 36% ซึ่งแนวทางก็ไม่รู้จะออกมาในรูปแบบใด
สำหรับ “กลยุทธ์ลงทุน” ในสถานการณ์ช่วงนี้ทยอยเข้าซื้อหุ้นเติมพอร์ตเรื่อย ๆ และเมื่อจังหวะหุ้นเด้งขึ้นก็ “ขายทำกำไร” ไปบ้าง อย่าง หุ้นเทคโนโลยีจีน เป็นต้น ขณะที่ “หุ้นไทย” มีการถือเงินสดไว้ระดับ 10% และทยอยซื้อเพิ่ม โดยที่ผ่านมาทำการบ้านศึกษาตลอดคัดเลือกหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจริง ๆ และธุรกิจมีการเติบโตที่ดีกว่าที่คิด แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวลงมามากก็ถือว่า “เป็นหุ้นน่าสนใจ” เช่น หุ้นกลุ่มไอทีที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ เป็นต้น
“จีนกับสหรัฐคาดจะยืดเยื้อไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี หากยืดเยื้อนานกว่านั้นคาดเศรษฐกิจสหรัฐก็อาจจะพังเช่นกัน เพราะสหรัฐไม่มีสามารถผลิต Supply Chain ได้ในระยะยาว”
สำหรับ ไทยยังคงประสบหนี้ครัวเรือน เหตุการณ์แผ่นดินไหว รวมถึงหนี้การค้า หากรัฐมีการเจรจาที่ล่าช้า หรือผลการเจรจาไม่ครอบคลุมโรงงานอาจจะต้องเลิกจ้าง และโรงงานใหม่ๆ ที่มีแผนจะเปิดในไทยก็อาจจะชะลอลงทุน สะท้อนภาพ “กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม” ที่ราคาหุ้นปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก
“กระทรวง จารุศิระ” ผู้ก่อตั้งสถาบันการลงทุนชื่อดัง “SUPER TRADER” ให้มุมมองว่า จากผลกระทบนโยบายภาษีทรัมป์เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หุ้นทั่วโลกปรับตัวลงหมด เพราะทุกฝ่ายมองตรงกันการที่มีกำแพงภาษีหนาขนาดนี้จะไม่สามารถจบได้ในเร็ว ๆ นี้ ยังคงต้องยืดเยื้อการเจรจา และต้องมีการตอบโต้ เมื่อมีความคลุมเครือขึ้น หรือมีความไม่ชัดเจนตลาดค่อนข้างที่จะกลัว
ดังนั้น นักลงทุนรายใดที่มี “กำไร” จากหุ้นบางตัวอาจจะต้อง “ขายทำกำไร” ออกมาก่อน หรือนักลงทุนที่พอตัดขายทุนได้ก็ต้องตัดออกมาก่อน โดยภาพในระยะสั้นมองว่า ยังคงปรับตัวลงอยู่ ขณะที่ภาพการลงทุนระยะยาว มองประเทศไทยอาจมีการเจรจาที่ประณีประนอม ซึ่ง “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้มีการนำทีมเข้าเจรจา ซึ่งน่าจะมีการต่อรองกับสหรัฐแน่นอน และอาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดกลับมาได้บ้าง โดยภาพในระยะยาวยังมองตลาดยังคงมีความคลุมเครืออยู่
ดังนั้น แนะนำควรชะลอการลงทุนไว้ก่อน และเก็บเงินสดไว้เพื่อซื้อของถูก ซึ่งมองว่าแนวรับทางจิตวิทยาไว้ที่ 1,000 จุด แต่ถ้ารับไม่อยู่ถัดไปที่ 700 จุด แต่ส่วนตัวมองว่า 1,000 จุดน่าจะยังรับไว้ได้ และเป็นแนวรับที่ใกล้เคียงกับช่วงโควิดที่ 970 จุด
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันถือว่ามีความแตกต่างจากในช่วงโควิด เพราะในครั้งนั้นที่เกิด Circuit Breaker เพราะเราเกิดการล็อกดาวน์ ไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้ มีคนไข้เจ็บป่วยมากมาย แต่ในรอบนี้เราใช้ชีวิตปกติ แต่ทว่ากำแพงภาษีที่ทรัมป์สร้างขึ้นมาจะทำให้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทที่มีการส่งออกน่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน แต่สุดท้ายมองว่าจะจบลงด้วยการเจรจา เนื่องจากว่า เมื่อมีการโต้ตอบกันไปมาก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกพังทั้งหมด ซึ่งมองว่า เป็นการเคาะกะลาของทรัมป์เพื่อเรียกนานาประเทศเข้าเจรจามากว่า
“สุธน สิงหสิทธางกูร” นักลงทุนเน้นคุณค่า ให้มุมมองว่า วิกฤติรอบนี้สหรัฐต้องการทะเลาะกับจีนเป็นหลัก เพราะว่าที่ผ่านมาสหรัฐเสียดุลการค้าโลกมานาน และต้องการให้แต่ละประเทศเข้ามาผลิตที่สหรัฐ แต่ปัจจุบันค่าแรงสหรัฐสูง และโรงงานอยู่ข้างนอกประเทศหมด จึงมีความพยายามกีดกันเพราะเกรงกลัววว่า “จีน” จะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 แทนที่ “สหรัฐ”
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐมาร์เก็ตแคปเทียบกับหุ้นทั่วโลกลดลง 50% จากเดิมที่ 65% สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดหุ้นลงเร็วกว่าธุรกิจ และเมื่อตลาดหุ้นปรับลงมีความเสียหายเกิดขึ้น ทำให้หลายประเทศกลัว และรีบเข้ามาต่อรองเพื่อได้ดีลที่ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าไปลงทุน แต่ทว่ายังต้องคัดเลือกเฟ้นหาหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากราคา แต่ปัจจัยพื้นฐานยังดี มีปันผลสูง และ Valuation ไม่แพง ถือเป็นโอกาสในการลงทุนที่ค่อนข้างเยอะ
“ในรอบนี้ถือเป็นวิกฤติที่มนุษย์สร้างขึ้นและคาดว่าจะไม่ยาวนาน เพราะสามารถต่อรองกันได้ และที่สำคัญคนที่สร้างอย่างสหรัฐก็เกิดความเสียงหายด้วยเช่นกัน หากมีการเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ มีการยืดเยื้อยาวนานก็อาจจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ซึ่งต่างจากวิกฤติโควิด หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือ ซับไพรม์”