ผ่ากลยุทธ์ ‘ทุนใหม่’ บางจาก ลุยต่อยอด ‘เอไอ-อวกาศ-นิวเคลียร์’

เปิดวิชั่น “อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี” กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ “บางจาก” สัดส่วน 20% ผ่าน “ณัฐกร อธิธนาวานิช” ลั่นพร้อม “พลิกโฉม” BCP ภายใน พ.ค.นี้ เดินหน้าคุย “พล.ต.อ.สุวัฒน์” ประธานบอร์ด ส่ง 2 ชื่อ นั่งกรรมการ ลุยปั้นพลังงานยุคใหม่ “แบตเตอรี่อีวี-รีไซเคิล-ดาต้าเซนเตอร์-เอไอ- อวกาศ-พลังงานนิวเคลียร์
KEY
POINTS
เมื่อ 10 เม.ย. 2568 ทุกอย่างกระจางชัด บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด (AC Energy) คือ “กลุ่มทุนใหม่” เข้ามาเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่” อันดับ 1 ของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ในสัดส่วน 20% (ตัวเลข ณ 10 เม.ย.2568)
หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยแบบรายงานได้มาหุ้น BCP โดย บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งได้มา 9 เม.ย. 2568 จำนวน 6.1335% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มา คิดเป็น 20.0083% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมด ส่งผลให้เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1
สะท้อนผ่านบริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี เข้าทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์ในกระดานรายใหญ่ (Big Lot) จำนวน 84,454,585 หุ้น โดยผ่าน Capital Asia Investment Pte.Ltd โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ และ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2568 อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี เข้าซื้อหุ้น BCP จำนวน 62,907,915 หุ้น หรือ 4.5687% และเมื่อ วันที่ 31 มี.ค.2568 เข้าซื้อหุ้น BCP อีก 43,381,200 หุ้น หรือ 3.1505% ดันสัดส่วนถือหุ้นเป็น 11.6969%
บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล : 0105568018277 โดยจดทะเบียนวันที่ 23 ม.ค.2568 ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ 195 อาคารวันแบงค็อก ทาวเวอร์ 4 ห้องเลขที่ 3705-3710B ชั้น 37 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยมี “นายณัฐกร อธิธนาวานิช” เป็นกรรมการ
ทั้งนี้ บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด มีบริษัท อัลฟ่า โกลบอล จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 51% ซึ่งบริษัท อัลฟ่า โกลบอล จำกัด ถือหุ้นทั้งหมดโดยนายณัฐกร อธิธนาวานิช ซึ่งเป็นกรรมการของ อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี และเป็นกรรมการใน บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC และมีบริษัท อังกอร์ อิสชูแอนซ์ เอส เอ จากประเทศลักเซมเบิร์ก ถือหุ้น 49% ใน อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี
ขณะที่ บริษัท อังกอร์ อิสชูแอนซ์ เอส เอ เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัท Chartered Group โดย Chartered Group เป็นบริษัท Private Equity ระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุน และมีความสนใจในการร่วมลงทุนในบริษัทไทยชั้นนำ
โดย ปัจจุบัน Chartered Group มีมูลค่าเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการ (Assets Under Management) กว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 400,000-500,000 ล้านบาท ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ไลฟ์สไตล์ รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ใน 8 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ เยอรมนี ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิสราเอล ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และไทย
เปิดวิชั่น “หุ้นใหญ่อันดับ 1” BCP กลุ่มใหม่
นายณัฐกร อธิธนาวานิช กรรมการ บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของดีลการเข้าซื้อหุ้น BCP เริ่มต้นจากเป็นผู้ชักชวนให้ Chartered Group ลงทุน เพราะ Chartered Group สนใจลงทุนในไทย แต่ต้องการลงทุนธุรกิจนอกตลาดหุ้น ซึ่งมูลค่าเงินลงทุนที่วางไว้ระดับ 20,000 ล้านบาท หากลงทุนธุรกิจนอกตลาดหุ้นต้องหากิจการที่ขนาดใหญ่มากจึงเป็นเรื่อง “ยากมาก” ที่จะหาธุรกิจขนาดนั้นแล้วให้ Chartered Group ลงทุน
ดังนั้น จึงให้ศึกษาบริษัทในตลาดหุ้นไทย เพราะด้วยเม็ดเงินมูลค่าดังกล่าวมีบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่มีศักยภาพเข้าลงทุนจำนวนมาก และจังหวะปัจจุบันถือว่าเหมาะสมเพราะ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ
1.ราคาหุ้นปรับตัวลงมามาก 2.บจ.ในตลาดหุ้นไทยมีขนาดพอดีตัวกับขนาดของเม็ดเงินลงทุนดับ 20,000 ล้านบาท และ 3.ประสบการณ์ส่วนตัวเติบโตมาจากการเป็นที่ปรึกษาในการลงทุนทั้งกลยุทธ์ (การให้คำแนะนำ) และฝ่ายปฏิบัติการจึงเข้าใจการแก้ปัญหาของธุรกิจที่ต้องการฟื้นฟูเพื่อสร้างการเติบโต
ทั้งนี้ เมื่อมี 3 องค์ประกอบครบก็เริ่มมองหาธุรกิจที่สร้างการเติบโตได้ และด้วยประสบการณ์เคยเป็นหนึ่งในทีมงาน “แมคคินซีย์” ที่เคยทำโปรเจกต์ที่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC พลิกฟื้นรายได้กลับมาเติบโต ดังนั้นจึงเข้าใจธุรกิจพลังงานและเมื่อดูเชิงลึกจึงพบว่าในเซกเตอร์พลังงานตอนนี้มีการเทรดหุ้นกลุ่มพลังงานต่ำกว่า Book Value (มูลค่าทางบัญชี)
ดังนั้น จึงโฟกัสบริษัทธุรกิจพลังงาน และหนึ่งในเป้าหมายที่ “สนใจ” คือ BCP ด้วยเป็นบริษัทที่ไม่มี “เจ้าของ” เป็นตัวเป็นตนอย่างบริษัทมหาชนทั่วไป และยังเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่และองค์กรมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ ที่หากเรานำความรู้ด้าน “โนว์ฮาว” (Know-how) และ “เน็ตเวิร์ก” (Network) ที่จะเข้าไป “ปรับโครงสร้าง” (Restructure) องค์กรเพื่อทรานส์ฟอร์มธุรกิจ
รวมทั้งมองว่าช่วงจังหวะนี้เป็นโอกาสเหมาะสมจึงเจรจากับ Chartered Group ตั้งแต่กลางปี 2567 และเมื่อต้องการสร้างการเติบโตครั้งใหม่ให้ BCP เบื้องต้นต้องมีอำนาจดำเนินการจึงต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จากรายชื่อผู้ถือหุ้น BCP ณ วันที่ปิดสมุด 14 มี.ค.2568 พบว่า “กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง” เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 สัดส่วน 19.84% ดังนั้น การที่จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องมีสัดส่วนถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 20%
ดังนั้น จึงเริ่มเจรจาผู้ถือหุ้นรายอื่นของ BCP โดยหนึ่งในนั้นคือ Capital Asia Investment Pte.Ltd และผู้ถือหุ้นรายอื่นอีก พร้อมทยอยเก็บในกระดาน โดยเก็บหุ้น BCP ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา จนปัจจุบันกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 20%
ด้วยมูลค่าดีลทั้งหมด “หมื่นล้านบาท” แบ่งเป็น นายนัฐกร “ฟันด์ดิง” (Funding) และ Chartered Group ฟันด์ดิงมา โดยใส่เงินฝ่ายละ 25 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็น Chartered Group กู้เงินเข้ามาอีก 9,000 กว่าล้านบาท
พร้อมเข้าไปพูดคุย “ประธานบอร์ด BCP”
นายณัฐกร เล่าต่อว่า หลังจาก อัลฟ่า ชาร์เตอร์ดฯ ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ BCP แล้ว จะเริ่มไปคุยกับ “พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” ประธานกรรมการบริษัท BCP ซึ่งตามสิทธิในการถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 20% ส่ง “กรรมการ” เข้าไปนั่งในบอร์ด BCP ได้ 2 ที่นั่ง โดยคาดว่าจะส่ง “นายนัฐกร” และ “โทมัส โคช” (Tomas Koch) ซึ่งมีประสบการณ์การที่ Mckinsey บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการข้ามชาติสัญชาติอเมริกันที่ให้บริการระดับมืออาชีพแก่องค์กร รัฐบาลและองค์กรอื่น
ทั้งนี้ เป้าหมายการส่งกรรมการเข้าไปนั่งในบอร์ด BCP เพื่อวางแนวทางและกำหนดทิศทางธุรกิจ เนื่องจากต้องพูดคุยในบอร์ดก่อนจะกำหนดแผนธุรกิจ ดังนั้น จะส่งคนเข้าไปทั้งที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านพลังงาน และเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ลงทุน
รวมทั้งในอนาคตต้องพูดคุยว่าต้องส่งทีมงานไปร่วมการทำงานเพราะต้องการทำให้บริษัทสร้างมูลค่าเพิ่ม การที่เราใส่เงินลงทุนไปกว่า “หมื่นล้านบาท” เราก็ต้องคาดหวังอย่างน้อยธุรกิจต้องเติบโต
BCP จะไม่เป็นแค่ “ธุรกิจพลังงาน”
บริษัทมีเป้าหมายเป็น “ผู้เล่น” ที่มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมพลังงานในไทย มีฐานะการเงินมั่นคง มีแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับ แต่มีช่องว่างที่พัฒนาปรับปรุงให้สร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก “มหาศาล” เพราะนื่องจากปัจจุบัน BCP อยู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ด้วยอยู่ระหว่างการร่วมกันหลังซื้อกิจการ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO และอยู่ช่วงการซิเนอร์ยี่ ซึ่ง Optimize กระบวนการระหว่างกิจการให้มีประสิทธิภาพขึ้น รวมถึงการดึงศักยภาพองค์กรได้เต็มที่
ดังนั้น มองว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ BCP อีกมาก และมองว่าทีมงานของเอสโซ่จะสนับสนุนให้ BCP ลงทุนธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับ Ecosystem ของธุรกิจพลังงานสมัยใหม่ทั้ง Battery , Recycle , Data Center & AI , Space หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ ที่ล้วนเป็นทิศทางใน Next Wave Of Growth
ทั้งนี้ ต่อไป BCP ไม่ใช่แค่ธุรกิจพลังงาน แต่ด้วยศักยภาพองค์กรขนาดใหญ่ การเข้าสู่การลงทุนธุรกิจต่างๆ จะสร้าง “S-Curve” ซึ่งคาดว่าเปลี่ยนแปลง “ศักยภาพ” ของประเทศด้วย ดังนั้น ในธุรกิจพลังงานต้องเปลี่ยนแปลงสู่ “พลังงานยุคใหม่” ซึ่ง BCP อยู่ระหว่างการเปลี่ยนด้านพลังงาน ซึ่งต้องอาศัยการจัดการของผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านพลังงานดั่งเดิมและพลังงานสมัยใหม่ ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี
ขณะที่ธุรกิจน้ำมันยังดึงศักยภาพได้อีก โดยเฉพาะ “รีเทล” (พื้นที่เชิงพาณิชย์) ยังไม่พัฒนามาก ฉะนั้นมองว่าเป็น “มูลค่า” ที่ซ้อนใน BCP ที่ยังไม่ได้ดึงมาสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” และ “ต่อยอดธุรกิจ” ในอนาคต
“ไม่ใช่ต่อยอดแค่ BCP แต่ยังสร้างศักยภาพใหม่ของไทยได้ด้วย ในฐานะหนึ่งในคนไทยอยากให้บริษัทสร้างสรรค์อุตสาหกรรมใหม่ และศักยภาพใหม่ให้ประเทศ”
รวมทั้งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ธุรกิจ BCP จะแข็งแรงมากขึ้น เชื่อว่าการทำธุรกิจให้สำเร็จไม่ได้มาจากคนเดียว ดังนั้น การที่เข้าไปถือหุ้นย่อมเป็นการส่งสัญญาณว่าจะมีคนมาดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และการที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญและทีมงานที่มีความรู้และโนว์ฮาวเข้าไป มองคนที่ส่งเข้าไปช่วยสร้างธุรกิจให้เติบโต และเชื่อว่าพนักงานของทั้ง 2 บริษัท ที่รวมกันเป็นบางจากจะเห็นการเติบโตของธุรกิจ
เปลี่ยน “ผู้บริหารระดับสูง” ต้องหารือกัน
สำหรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของผู้บริหารระดับสูงขององค์กร เป็นเรื่องปกติเมื่อมีผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามา แต่ทุกอย่างอยู่ภายใต้การพูดคุยกัน ซึ่งปกติจะปรับเปลี่ยนให้สอดรับ “กลยุทธ์” คือ อย่างน้อยการเดินหน้าต้องเดินให้เร็วขึ้น เพราะภาคพลังงานเป็นเซ็กเตอร์สำคัญที่ต่อยอดได้อีก ซึ่งมองว่าพลังงานน้ำมันยังไม่หายไปจากโลกภายใน 10 ปี และเชื่อว่าอาจจะหายไปแต่ไม่ใช่เร็วๆ นี้
ดังนั้น ภายใน 2-3 เดือน หรือภายในเดือน พ.ค.นี้ จะเห็น “โฉมใหม่ BCP” รวมทั้งการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนขึ้น อีกส่วนสำคัญ คือ จะแก้ปัญหาผลประกอบการที่ผันผวน ตามวัฎรจักรธุรกิจ โดยเฉพาะด้าน “กำไร” จะมีเสถียรภาพขึ้น
ทั้งนี้สอดรับกับเบื้องต้นที่จะนำองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและเน็ตเวิร์กไปสนับสนุน ในส่วนธุรกิจดำเนินการไปปกติ แต่การนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยจะสร้างการเติบโตเร็วขึ้น สิ่งแรกที่เห็นก่อนคือ จะเห็นการตัดสินใจเร็วขึ้น เพราะบริษัทมีเจ้าชัดเจนและเชื่อว่าความเป็นเจ้าของธุรกิจจะรักษาผลประโยชน์ให้บริษัทและผู้ถือหุ้น