“หมากัด” ต้องทำอย่างไร มีวิธีป้องกันแบบไหน
อากาศร้อน หน้าร้อน เป็นเวลาของโรคพิษสุนัขบ้า ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งคนเลี้ยง และคนทั่วไปที่อาจถูกสุนัขกัดเอาได้ แม้ว่าผู้ประกันตนจะสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สุนัข แมว ม้า หรือสัตว์บางชนิดจะมีสัญชาตญาณพิเศษ สามารถล่วงรู้อารมณ์หรือความคิดของคนได้
ในบางขณะที่เราเศร้า ไม่สบาย หรือ เจ็บป่วย มันก็จะเข้ามาปลอบประโลมให้กำลังใจให้จนเรารู้สึกดีขึ้นได้
บ้างก็เข้าใจว่า สุนัขใช้ ความสามารถพิเศษ ในการได้รับกลิ่น กลิ่นของอาการเหล่านั้น
มนุษย์จึงนำความสามารถของสุนัขไปใช้ประโยชน์ในการดมหาสารเสพติด หรือดมกลิ่นผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเป็นโรคต่าง ๆ เพื่อจะได้รีบรักษาก่อนที่จะเป็นมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สุนัขหรือสัตว์ที่เราเลี้ยง บางครั้งเราก็ไม่สามารถเข้าใจมันและอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้
เช่น ถูกกัด ถูกข่วน จะมีวิธีการใดบ้างไหม ที่ทำให้เราไม่ โดนสุนัขกัด โดยเฉพาะสุนัขที่เราไม่รู้จัก หรือ สุนัขจรจัด ทั้งหลายในสถานที่ต่างๆ
- ทำอย่างไรไม่ให้สุนัขกัด
ในแต่ละพื้นที่ ทุกสถานที่ มักมีสุนัขประจำถิ่นอาศัยอยู่ ยิ่งถ้าเราไม่ใช่คนแถวนั้น สุนัขก็จะแสดงอาการหวงถิ่น และจู่โจมเข้ามาทำร้ายหรือกัดได้ เราควรทำอย่างไร
1. ตั้งสติ ควบคุมอารมณ์ อย่าตกใจ
สัตว์แทบทุกชนิดจะมีสัญชาตญาณพิเศษ ที่ล่วงรู้ได้ว่าเรารู้สึกอย่างไร หากเราตกใจหรือกลัว มันจะรู้ เราจึงต้องทำตัวให้สงบ ใจเย็น ไม่กลัว ยิ่งสุนัขเห่าใส่เรามากเท่าไร นั่นแสดงว่าตัวมันเองรู้สึกไม่ปลอดภัยจากเรามากขึ้นเท่านั้น
2. อย่าวิ่ง เปลี่ยนมาเดินเร็วแทน
เมื่อสุนัขพุ่งตัวจู่โจมเข้ามา หากคุณตกใจวิ่งหนี มันจะวิ่งตามมากัดทันที ให้เปลี่ยนเป็นเดินเร็วแทน แล้วรีบเดินให้ห่างจากมันมากที่สุด
3. อย่ามองหน้าสุนัข
การมองตาสุนัขแปลกหน้าคือการท้าสู้ ถ้าเห็นสุนัขแปลกหน้า ไม่ต้องไปมอง ให้เดินหนีไป ไม่ต้องไปสนใจ มันก็ไม่คิดว่าคุณจะมาทำอะไรมัน หรือเป็นอันตรายแก่มัน มันก็จะไม่สนใจ
4. อย่าถือของพะรุงพะรัง แต่งตัวรุ่มร่าม
สุนัขมักเห่าคนที่แต่งตัวแปลก ๆ แต่งตัวพะรุงพะรัง หากเราถือของมากมาย ก็ให้ระวังตัวไว้ก่อนล่วงหน้า หรือทำให้พะรุงพะรังน้อยที่สุด ไม่ให้เป็นจุดสนใจแก่มัน
5. ใช้เสียงดังสั่ง ดุ บอกให้มันกลับไป
ถ้าทำหลายอย่างแล้วไม่ได้ผล ให้ใช้น้ำเสียงที่หนักแน่น ดุดัน สั่งมันด้วยเสียงอันดังว่า “ออกไป, กลับไป”
- วิธีกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า
เนื่องจากโรคนี้ไม่แสดงอาการทันทีหลังถูกกัด ต้องรอเวลาระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3.7 เดือน เมื่อแสดงอาการป่วยแล้ว จะไม่มีทางรักษา จะเสียชีวิตทุกราย จึงต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็ว
- สูตร 3 ป. ของกรมควบคุมโรค
1) ป้องกันสัตว์เป็นโรค นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งแรกอายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี ทำหมันสุนัขถาวรเพื่อลดจำนวนสุนัขจรจัด
หากพบสัตว์ตายผิดปกติ ให้ส่งซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อ ปัจจุบันส่งได้ทั้งตัวไม่ต้องตัดหัว ผู้อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งตรวจได้ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ในต่างจังหวัดส่งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ
2) ป้องกันการถูกกัด ไม่ปล่อยสุนัขหรือแมวออกนอกบ้านตามลำพัง หากต้องพาออกไปนอกบ้านให้ใส่สายจูง
- หลัก 5 ย. ป้องกันการถูกกัด
1.อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห โกรธ 2.อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ ตกใจ 3.อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4.อย่าหยิบชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร 5.อย่ายุ่งหรือเข้าใกล้สุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ
3) ป้องกันหลังถูกกัด รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่อย่างเบามือนานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อกำจัดเชื้อออกไปให้มากที่สุด จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล และกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน
หากสุนัขตายให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด
จำง่ายๆ ว่า "ล้างแผล, ใส่ยา, กักหมา, หาหมอ, ฉีดวัคซีนให้ครบ” ก็สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้
- วิธีดูแลตัวเอง เมื่อโดนสุนัขกัด
ถ้าหากโดนสุนัขกัด หรือโดนแมวข่วน ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ
กรณีฉุกเฉิน ไม่สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ ให้ผู้ประกันตนสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน แล้วยื่นเรื่องเบิกเงินคืนได้เฉพาะเข็มแรกเท่านั้น ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข
เข็มต่อไป ให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากผู้ประกันตนไม่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
- เมื่อไรต้องฉีดยากันพิษสุนัขบ้า
- หลังถูกสัตว์ข่วน งับ กัด
- น้ำลายหรือเลือดของสัตว์ถูกผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือมีแผลที่เยื่อบุตาและจมูก
- กรณีสัตว์ที่กัดหนีไป หรือไม่สามารถติดตามประวัติได้
- วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ภายใน 5 นาที ล้างให้นานกว่า 10 นาที
- ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน เพื่อลดอัตราเกิดโรค
- รีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
สอบถามประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง