"ฝีดาษลิง" มีวิธีป้องกันและการดูแลรักษาอย่างไร
"ฝีดาษลิง" เป็นโรคที่กำลังแพร่ระบาดในสหราชอาณาจักรและแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นยุโรป จะมีวิธีการสังเกตอาการ และวิธีป้องกันรักษาอย่างไร คุณหมอมีคำตอบ
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เตือน ฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่พบไม่บ่อย แต่อันตรายถึงชีวิตที่เกิดจากเชื้อไวรัส Othopoxvirus
ธรรมชาติของเชื้อไวรัสก่อโรคชนิดนี้ มีรังโรคอยู่ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ และติดต่อไปยังสัตว์อื่น ในตระกูลลิงไม่มีหาง กระต่าย และสัตว์ฟันแทะอื่น เช่น กระรอกดิน
ลักษณะการติดต่อโรคฝีดาษลิง
นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า รายงานสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส ฝีดาษลิง กำลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักร และมีแนวโน้มระบาดในยุโรปแล้ว
พบผู้ติดเชื้อไวรัส ฝีดาษ ในโปรตุเกส 6 ราย ขณะที่ยังมีผู้ป่วยอีกกว่า 12 ราย ที่อยู่ระหว่างการตรวจวินิจฉัยว่าจะ ติดเชื้อฝีดาษลิง หรือไม่
การระบาดของเชื้อไวรัสฝีดาษลิง มีลักษณะการติดต่อ แบ่งเป็น
1) จากสัตว์สู่มนุษย์ พบว่าสามารถติดต่อได้จากการ สัมผัสทางผิวหนัง หรือเยื่อเมือก เช่น จมูก ปาก ตา กับสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค สารคัดหลั่ง เลือด ผิวหนัง หรือ การนำซากสัตว์ป่วยมาปรุงอาหาร รวมทั้งการถูกสัตว์ป่วย ข่วน กัด หรือสัมผัส เครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อจากสัตว์นั้น
2) จากมนุษย์สู่มนุษย์ ทางหลักติดต่อผ่าน ละอองฝอยทางการหายใจขนาดใหญ่ จากการอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะประชิด การสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย การสัมผัสเลือด หรือรอยโรคที่ผิวหนัง หรือ ของใช้ส่วนตัวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย
หลังได้รับเชื้อโรคนี้มีระยะฟักตัว 7 - 14 วัน หรืออาจนานได้ถึง 21 วัน
- อาการของโรคฝีดาษลิง
แพทย์หญิง มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ฝีดาษลิง กับ ฝีดาษ มีความแตกต่างกัน
- อาการเริ่มต้น มีไข้
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- ต่อมน้ำเหลืองโต
ข้อแตกต่างระหว่างฝีดาษลิงกับฝีดาษ คือ
ฝีดาษ จะไม่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต เช่นเดียวกับ ฝีดาษลิง ที่ภายใน 1 – 3 วัน จะมีอาการดังกล่าว และจะเริ่มมี ผื่นขึ้น บริเวณใบหน้าแล้วลามไปที่ผิวหนังส่วนอื่น จากผื่นจุดแดง นูนขึ้นเป็นตุ่ม แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำ และตุ่มหนอง และแตกออกเป็นสะเก็ดในที่สุด
การดำเนินโรค : จะใช้เวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยประมาณ
อัตราการเสียชีวิต : ประมาณ 10 % โดยมีสาเหตุจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในปอด การขาดน้ำ และภาวะสมองอักเสบ
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ : จะใช้วิธี PCR ของเหลวจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง รักษาโดยให้ยาต้านไวรัส cidofovir , Tecovirimat , brincidofovir
การป้องกันโรคฝีดาษลิง : ในปัจจุบันมีวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิง ในสหรัฐอเมริกา คือ JYNNEOS
ข้อแนะนำและการป้องกันโรคฝีดาษลิง
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ให้ล้างมือบ่อย ๆ งดสัมผัสสัตว์ป่า ส่วนการป้องกันเบื้องต้นสำหรับประชาชนทั่วไป แนะนำให้...
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือ แอลกอฮอล์เจล
- งดรับประทานของป่า หรือปรุงอาหารจากสัตว์ป่า
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง หรือสัตว์ป่าป่วย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติ มาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ
- หลีกเลี่ยงการเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์ป่า จากต่างประเทศที่ไม่ทราบประเทศต้นทาง
กรณีพบผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิง
- แยกผู้ป่วย ป้องกันระบบทางเดินหายใจของผู้ใกล้ชิด
- นำส่งสถานพยาบาลที่สามารถแยกกักตัวผู้ป่วยได้