สังเกตอาการ “แพ้-เมากัญชา”เป็นอย่างไร พร้อมวิธีรักษาเบื้องต้น

สังเกตอาการ “แพ้-เมากัญชา”เป็นอย่างไร พร้อมวิธีรักษาเบื้องต้น

สารสำคัญใน "กัญชา" อย่าง THC เป็นสารออกฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้ร่างกาย อารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป หลังบริโภคกัญชาควรสังเกตอาการตนเองทุกครั้ง หลังการใช้ 1-3 ชม. หากมีอาการแพ้หรือเมาตามอาการต่อไปนี้ควรพบแพทย์

เมื่อ “ปลดล็อกกัญชา” ไม่นับเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 แล้ว ร้านอาหารหลากหลายร้านต่างจับเทรนด์นำ "กัญชา" มาเป็นส่วนประกอบของอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อดึงดูดลูกค้าที่อยากลิ้มลอง แต่ถึงอย่างนั้นข้อควรระวังของการรับประทานกัญชาก็มีอยู่เช่นกัน ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถบริโภคได้!

 

  • กัญชา กินเพื่ออะไร?

กัญชาปรากฏอยู่ในตำรับยาและตำราอาหารของไทยตั้งแต่อดีตมานานแล้ว ซึ่ง “กัญชา” มีรสเมา กลิ่นเหม็นเขียว แพทย์แผนไทยใช้ประโยชน์ของกัญชาเป็นยาเจริญอาหาร ชูกำลัง แต่ทำให้ใจขลาด มีการใช้ดอกของกัญชาผสมเป็นยาแก้โรคเส้นประสาท และโรคนอนไม่หลับต่างๆ

นอกจากนี้สรรพคุณ "กัญชาทางการแพทย์" ที่มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศ พบว่า มีสรรพคุณเด่นเรื่องการช่วย "คลายเครียด" และบรรเทาความวิตกกังวลได้ และมีส่วนช่วยรักษา และบรรเทาอาการของโรคร้ายแรงได้หลายโรค  ได้แก่ 

  • ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากการได้รับเคมีบำบัด
  • เพิ่มความอยากอาหาร ในผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์
  • ลดอาการปวด ทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง
  • ช่วยควบคุมอาการลมชัก 
  • ลดความดันในตาของผู้ป่วยต้อหิน
  • ป้องกันและรักษาอาการสมองฝ่อ
  • บริโภค "กัญชา" อย่างไรให้ถูกต้อง?

กรมอนามัยได้แนะนำปริมาณใบกัญชาต่อเมนูไว้ในประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ดังนี้

  • อาหารประเภททอด : ใช้ใบกัญชา 1-2 ใบสด กรณีทำไข่เจียว แนะนำครึ่งใบ ถึง 1 ใบสด เนื่องจากสาร THC และ CBD ละลายได้ดีในน้ำมัน
  • อาหารประเภทผัด : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด
  • อาหารประเภทแกง : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด
  • อาหารประเภทต้ม : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด
  • ผสมในเครื่องดื่ม ขนาด 200 มิลลิลิตร : ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด

โดยผู้ที่ต้องระมัดระวังในการรับประทาน "กัญชา" คือ 

1. เด็ก เยาวชน ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี อาจเกิดภาวะเสพติดได้

2. ผู้สูงอายุ

3. หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร รวมทั้งผู้หญิงที่วางแผนกำลังจะมีบุตร

4. ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ที่ตับและไตบกพร่อง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

5. ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟารินหรือยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ เพราะกัญชาจะไปเพิ่มฤทธิ์ให้ยาวาร์ฟารินจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย

6. ผู้ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยารักษากลุ่มโรคทางจิตเวช 

สังเกตอาการ “แพ้-เมากัญชา”เป็นอย่างไร พร้อมวิธีรักษาเบื้องต้น

 

  • สังเกตอาการ “แพ้-เมากัญชา” พร้อมวิธีรักษาเบื้องต้น

ถึงแม้ว่ากัญชาจะมีสรรพคุณมากมาย แต่ใช่ว่าใครก็จะสามารถกินได้ เพราะกัญชามีสาร THC จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือ มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกายอารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป ผู้เริ่มกินเมนูกัญชาควรเริ่มในปริมาณน้อย แค่ครึ่งใบ - 1 ใบต่อวันก่อน

ทั้งนี้ การตอบสนองของร่างกายเมื่อได้รับกัญชามีความแตกต่างกันแต่ละบุคคล ดังนั้น ควรสังเกตอาการตนเองทุกครั้งเมื่อใช้ 1 - 3 ชั่วโมง โดยให้เน้นใช้เพื่อการแพทย์ในการรักษาโรคเท่านั้น สำหรับอาการผิดปกติที่พบบ่อย ได้แก่ ง่วงนอนมากกว่าปกติ, ปากแห้ง,  คอแห้ง, วิงเวียนศีรษะ, คลื่นไส้อาเจียน

อาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์ ได้แก่ หัวใจเต้นเร็วและรัวผิดจังหวะ,  เป็นลมหมดสติ, เจ็บหน้าอกร้าวไปที่แขน, เหงื่อแตก ตัวสั่น, อึดอัดหายใจไม่ออก, เดินเซ พูดไม่ชัด สับสน, กระวนกระวาย, วิตกกังวล หวาดระแวงไม่สมเหตุสมผล, หูแว่ว เห็นภาพหลอน, พูดคนเดียว, อารมณ์แปรปรวน

 

  • วิธีแก้อาการ "เมากัญชา" เบื้องต้น 

สำหรับ ผู้ที่บริโภคกัญชาแล้วมีอาการ "เมากัญชา"  มีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีแก้อาการเมากัญชาหรืออาการผิดปกติเล็กน้อยในเบื้องต้น ดังนี้

1. หากปากแห้งคอแห้ง ให้ดื่มน้ำเปล่าตามในปริมาณมาก

2. ดื่มน้ำมะนาวครึ่งลูก ผสมเกลือปลายช้อน 

3. เคี้ยวพริกไทย

4. หากรู้สึกวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ให้ดื่มน้ำขิง

-----------------------------------------

ที่มา : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข