ฉายภาพ "สถานการณ์โควิด19 "ในไทยหลัง1 ก.ค.65 โรคยังอยู่ เจอกลุ่มก้อนได้
1 ก.ค.65 ไทยพ้นระบาดใหญ่โควิด19 Post Pandemic ย้ำโรคยังอยู่ พบติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน อยู่ในการควบคุม พร้อมดูแลผู้ป่วยหนัก เตรียมพิจารณาเด็ก6เดือนขึ้นไปฉีดวัคซีน รอผู้ผลิตยื่นขึ้นทะบียน ส่วนโอมิครอน BA.4/BA.5 ในไทยยังไม่พบสัญญาณแพร่เร็วจนคุมไม่ได้-อาการรุนแรงขึ้น
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2565 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด 19 หลังวันที่ 1 ก.ค. 2565 ว่า การจะประกาศให้โควิด19เป็นโรคประจำถิ่นคงต้องรอองค์การอนามัยโลก (WHO) ส่วนประเทศไทยจะใช้คำว่าเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) หัวใจสำคัญคือ การระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว และโรคลดความรุนแรงลง ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าหลังวันที่ 1 ก.ค.นี้จะไม่มีโรคแล้ว
แต่พบการระบาดเป็นแบบคลื่นเล็กบ้างใหญ่บ้าง อาจเป็นกลุ่มก้อนเล็ก ปานกลาง หรือใหญ่ แต่ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และมีระบบเฝ้าระวังและเตรียมการการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ การฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 ก็ต้องดำเนินการตลอด ขณะนี้ฉีดสะสมเกือบ 140 ล้านโดสแล้ว ประชาชน 60 ล้านคนได้ฉีดเข็มแรกแล้ว
“คงเป็นไปตามแผน แต่อย่างที่บอกว่าไม่ใช่จะไม่มีโรค แต่จะมีการติดเป็นกลุ่มก้อนบ้าง แต่ไม่มีกลุ่มก้อนใหญ่ๆ คนติดเป็นล้าน เกิดกลุ่มก้อนแล้วลดลงไปป็นคลื่นเล็กๆ และโรคไม่รุนแรงอยู่ในการควบคุม คือ ความหมาย Post-Pandemic ของไทย ส่วนเรื่องสิทธิการรักษารัฐบาลก็ดูแล สิทธิกองทุนต่างๆ ก็ครอบคลุมอยู่แล้ว โดยจะมีการหารือกันในเรื่องนี้ต่อไป”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า กรมควบคุมโรคยังรายงานว่า สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ในเด็กเล็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะมีการหารือเวลาและรูปแบบการฉีดที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นสถานพยาบาล เพราะเด็กเล็กต้องมีการตรวจติดตามอยู่แล้ว โดยมีการเตรียมวัคซีนไว้แล้ว หากได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก็จะมีการฉีดในเด็กกลุ่มนี้เพิ่มเติมต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามถึงโอมิครอน BA.4/ BA.5 แต่ขณะนี้มีการอนุญาตให้ถอดหน้ากากตามความสมัครใจ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการวางระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ โดยพบ BA.4/BA.5 ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.2565 ก็ผ่านมา 3 เดือนแล้ว ผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นบ้าง ปัญหาที่กังวล คือ โรคแพร่เร็วจนควบคุมไม่ได้หรือไม่ และทำให้เกิดอาการหนักขึ้นจนมีคนป่วยหนักเข้า รพ.มากหรือไม่ ซึ่งสธ.เฝ้าระวังอยู่ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีลักษณะเช่นนี้ หรือในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ พบ BA.4/BA.5 แพร่เร็วกว่าโอมิครอนดั้งเดิม 1.3-1.4 เท่า แต่ประเทศอื่นในยุโรปก็บอกว่าแพร่ได้น้อยกว่า
“ เรื่องแพร่เร็วยังไม่มีความชัดเจน แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวกับตัวเชื้ออย่างเดียว แต่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมด้วยที่ทำให้เกิดการแพร่เร็ว ก็เฝ้าระวังว่าจะเกิดเช่นนั้นในประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งจากการส่งตรวจสายพันธุ์ก็พบสัดส่วนประมาณ 40% โดยเจอในคนต่างชาติมากกว่าคนไทย ยังพบว่า BA.4/BA.5 ทำให้ภูมิต้านทานเชื้อลดลงบ้าง จึงแนะนำให้มาฉีดวัคซีนเพิ่มเติม บางคนคิดว่าฉีด 3 เข็มจะเพียงพอ แต่จริงๆ ถ้าถึงระยะเวลาที่แนะนำ คือ 4 เดือนควรมาฉีดซ้ำ เพราะวัคซีนเมื่อไปดูคนที่ป่วย BA.4/BA.5 ถ้าได้วัคซีนกระตุ้นอาการเจ็บป่วยน้อยลงกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ก็ชัดเจนว่าวัคซีนยังได้ผลป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำหรับวัคซีนโควิก19 ในกลุ่มเด็ก 6 เดือนขึ้นไป ต้องรอผู้ผลิตทางไฟเซอร์และโมเดอร์นามายื่นขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมเพื่อฉีดในกลุ่มเด็ก 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการมายื่นขอขยายอายุการฉีดเพิ่มเติม แต่หากยื่นเรื่องเข้ามาแล้วก็สามารถพิจารณาได้ทันที โดยขนาดที่ใช้ในกลุ่มอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะมีขนาดน้อยกว่าวัคซีนที่ใช้ในเด็กอายุ 5-11 ปี