กินอะไรดี ? เลือกอาหารอย่างไร ให้ปลอดภัย สุขภาพดี
สสส. ผุดนิทรรศการ #กินอะไรดี What the Food ในรูปแบบ Installation Art ร่วม "เซ็นทรัล" ชูเทคโนโลยีทันสมัย ชวนคนไทย สำรวจเส้นทาง "อาหารปลอดภัย" มุ่งส่งต่อความรู้ สร้างความเข้าใจ ตระหนักการเลือกกินดี ปลอดภัย ได้คุณภาพ
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565 ที่ชั้น 6 โซน Central Court ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการ “#กินอะไรดี” (What the Food) โดยนางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีครบ 4 มิติ "อาหาร" ถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง
จากข้อมูล Thaihealth Watch 2022 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2565 พบว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร คนไทยนิยมเลือกรับประทานอาหารไขมันสูง อาหารแปรรูป เครื่องดื่มบรรจุขวด และกินผักผลไม้ไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการป่วยโรคกลุ่ม NCDs อาจส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของคนไทยในปี 2565 แย่ลง
เด็กสารอาหาร ขาด เกิน ไม่สมดุล
แม้โควิด-19 จะทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยขาดแคลนรายได้ กระทบต่อความสามารถในการหาอาหารมารับประทานในแต่ละวัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากโฟกัสผลกระทบของสถานการณ์นี้ต่อเด็กไทยแล้ว จะพบปัญหาการรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล คือ มีทั้งได้รับสารอาหารบางอย่างไม่เพียงพอ เกิน หรือ ผิดสัดส่วน โดยเฉพาะในช่วงต้องเรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน
ข้อมูลจาก "เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน" ระบุว่า ช่วงโควิด-19 ระบาด เด็กไทยหลายคนมักได้กินอาหารจาก food delivery ที่มีความยากมากที่จะสั่งอาหารที่มีองค์ประกอบของสารอาหารครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผักผลไม้ เด็กๆ ก็จะได้รับประทานอาหารซึ่งส่วนใหญ่มีพลังงานสูง โปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตสูง บางครั้งนอนดีก สั่งอาหารเดลิเวอรีหลังสองทุ่ม ซึ่งเป็นร้านแบรนด์ดัง เช่น ไก่ทอด หรือพิซซ่า สาเหตุส่วนหนึ่ง เกิดจากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้มีความคิดในการจำกัดหรือควบคุมวินัยการกินของเด็ก
ล็อกดาวน์ ส่งผลให้บริโภคอาหารพลังงานสูง
ทั้งนี้ Wisesight ยังเคยสำรวจพฤติกรรมการกินในช่วงที่หลายคนต้องกักตัวอยู่บ้าน จากการดูข้อความต่างๆ ที่โพสต์บนโซเชียลมีเดีย ระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563 - เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2564 พบว่า คนจำนวนมากนิยมรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น เค้ก คุ้กกี้ ครัวซองต์ ฯลฯ ในช่วงที่ต้องอยู่บ้านเนื่องจากมาตรการ ล็อกดาวน์/กึ่งล็อกดาวน์
แล้วเราจะ "กินอะไรดี"
ทุกครั้งที่หิว เรามักจะมีคำถามว่า "กินอะไรดี" แน่นอนว่าหลายคนต้อง "กินอาหารที่อร่อย" แต่อาหารที่อร่อย ใช่อาหารที่ดีกับเราจริงหรือไม่ ? การกินอาหารไม่ปลอดภัย ทำให้เราตายผ่อนส่งโดยไม่รู้ตัว เพราะเมื่อร่างกายได้รับอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาจจะยังไม่เห็นผลทันทีทันใด แต่หากกินไปเรื่อยๆ ได้รับสารพิษสะสมอย่างต่อเนื่อง จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว และนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
การปนเปื้อนของอาหาร
สำหรับการ ปนเปื้อนของอาหาร หมายถึง การที่มีสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งที่เป็นอันตรายปะปนลงในอาหาร หรือเครื่องดื่ม ซึ่งทำให้เกิดการเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย การบาดเจ็บ หรือไม่สบายของผู้บริโภค ผู้สัมผัสอาหารมีหน้าที่จะต้องป้องกัน จากการปนเปื้อนเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
สารตกค้างมาจากไหน
ไม่ว่าจะเป็นอาหารจากที่ไหน ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าปลอดภัย 100% เมนูเดียวกัน จากร้านบนถนนจนถึงภัตตาคารหรู ก็มีสิทธิ์มีสารพิษตกต่างได้เท่าๆ กัน ยกตัวอย่าง สารตกค้างที่อยู่ในอาหาร อาจมาได้จาก
ผักปลอดสารพิษ
- อาจมีสารเคมีตกค้างจากการเพาะปลูก
- เมล็ดพันธุ์อาจถูกตัดต่อทางพันธุกรรม (GMO) ก่อนนำมาปลูกและอาจมีการใช้ปุ๋ยเคมีเร่งโต
- กินได้ในระดับที่ปลอดภัย หากมีการควบคุมไม่ให้สารเคมีตกค้าง ในผลผลิตเกินปริมาณที่กำหนด
ทำอย่างไรจะได้ ผักปลอดภัย
จากแหล่งผลิตที่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการจัดการเรื่องดิน และน้ำอย่างเหมาะสม มีการคัดสรรเมล็ดพันธุ์และควบคุมสารเคมี โรค และ แมลง ดูแลรักษา ปรับปรุงให้อยู่ในมาตรฐาน ห่างไกลการปนเปื้อนตลอดกระบวนการ และที่สำคัญ กระบวนการขนส่งสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการดูแลให้ปลอดภัยจากการปนเปื้อนตั้งแต่ฟาร์มไปจนถึงปลายทาง
เราสามารถเลือกซื้อผักที่ปลอดภัยโดยดูจากเครื่องหมายรับรองมาตรฐานหรือที่มาของการผลิต เช่น ผักอนามัย ผักเกษตรอินทรีย์ หรือเลือกซื้อจากร้าน/ตลาดเขียว แหล่งที่ไว้ใจได้ อย่างไรก็ตาม ผักที่ซื้อมาก็อาจจะไม่ปลอดภัย 100% ควรระมัดระวังสารตกค้างที่มากับผัก และทำความสะอาดก่อนรับประทาน
กินผักตามฤดูกาล
- ดีต่อสุขภาพเพราะผักมีศัตรูธรรมชาติน้อย ช่วยลดความเสี่ยงจากสารเคมี ยาฆ่าแมลง
- มีธาติอาหารที่เป็นประโยชน์สมบูรณ์กว่าผักนอกฤดูกาล
- ได้ผักที่มีสารอาหารครบสมบูรณ์ สดใหม่ หาซื้อง่าย และราคาถูก
ขณะเดียวกัน เนื้อสัตว์ ควรซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งที่ไว้ใจได้ หรือผ่านมาตรฐานการรับรองจากกรมปศุสัตว์ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เลือกซื้อไปปลอดสารเร่งเนื้อแดง และปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะและสารตกค้างต่างๆ
เลือกได้ เลือกดี
เมื่อเราต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน ซื้ออาหารปรุงสำเร็จ หรือสั่งจากร้านอาหาร สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง "ความสะอาด" มองหาตราสัญลักษณ์รับรองความสะอาดปลอดภัยของร้านอาหาร เพิ่มความมั่นใจในการเลือกซื้อ
ขณะเดียวกัน ก่อนซื้อสินค้า ควรเปรียบเทียบคุณภาพ ราคา และแหล่งที่มา รวมไปถึงดูฉลากโภชนาการและวันหมดอายุ เพื่อให้ได้ของดี สด สะอาด ปลอดภัย ในราคาที่คุ้มค่า โดยสามารถดูสัญลักษณ์ ดังนี้
เครื่องหมาย อย.
- เป็นสัญลักษณ์ ที่ออกให้กับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ที่มีภาชนะบรรจุสนิท รับผิดชอบโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
ตราสัญลักษณ์ GMP
- คือ หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร เป็นเกณฑ์หรือข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิต และควบคุมเพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม และทำให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย รับผิดชอบโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
ตรามาตรฐานการผลิตสินค้าปลอดภัย
- คือ การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร เป็นระบบประกันคุณภาพ ที่มีการปฏิบัติในการผลิต เพื่อให้เกิดความปลอดภัย มีมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เป็นสัญลักษณ์ให้กับฟาร์ม แหล่งปลูก ที่ดำเนินการตาม GAP , COC และ GMP รับผิดชอบโดย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สร้างความตระหนัก เลือกอาหารปลอดภัย ผ่านนิทรรศการ AR
เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มุ่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) เพื่อให้คนไทย ตระหนักถึงความสำคัญในการเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ผ่านการจัดนิทรรศการ “#กินอะไรดี” (What the Food) ภายใต้แนวคิด "Food Installation Art – ในหัวข้อกินอะไรดี" ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ AR มาสื่อสารในรูปแบบ Trail Exhibition ทันสมัย เข้าใจง่าย ผ่านการ Display โต๊ะอาหารในรูปแบบ Installation Art 15 เส้นทาง 3 แนวคิด
1.#มีอะไรในอาหาร ขยายมุมมองของอาหารให้กว้างขึ้นกว่าความอร่อยที่อาจแฝงอันตราย
2.#สารตกค้างมาจากไหน สำรวจเส้นทางแหล่งที่มาก่อนมาเป็นอาหารจานโปรด
3.#ฉลาดเลือกฉลาดซื้อ รู้จักวิธีเลือกซื้อ เลือกกิน พร้อมเคล็ดลับการเตรียมและเก็บอาหารให้ปลอดภัย
"อาหารที่เรากินในปัจจุบัน อาจจะมันเกินไป เค็มเกินไป หวานเกินไป หรือการทานอาหารที่มีสารปนเปื้อน เช่น หมู มีสารเร่งเนื้อแดง ผักที่ไม่ใช่ตามฤดูกาลอาจจะมีการใส่ปุ๋ยเพื่อให้ขายได้ตลอดทั้งปี ดังนั้น ไม่ใช่ปแตค่ดูรสชาติอาหาร แต่ดูต้นทางว่าเขาปลูกอย่างไร กว่าจะถึงเราผ่านกี่จุด การที่ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ผ่านนิทรรศการ จะทำให้รู้ว่าอาหารแต่ละชนิด มีโอกาสปนเปื้อนเรื่องอะไรบ้าง และอะไรที่ควรหลีกเลี่ยง สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ขณะที่การใช้เทคโนโลยี AR จะสร้างโอกาสในการรับรู้มากขึ้น" เบญจมาภรณ์ กล่าว
ด้าน ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นิทรรศการ “#กินอะไรดี” (What the Food) ของ สสส. ถือเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนไทย ให้ตระหนักและเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ สอดคล้องกับนโยบายของเซ็นทรัล
นอกจากการเป็นศูนย์การค้าชั้นนำของประเทศ ยังเป็นศูนย์รวมของอาหารที่ให้ความสำคัญในความปลอดภัยสูงสุด ในการนี้ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ร่วมสนับสนุนเทคโนโลยีการสแกนข้อมูลของสินค้าประเภทอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคได้มั่นใจในความปลอดภัย ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีได้อย่างยั่งยืน
นิทรรศการ “#กินอะไรดี” (What the Food) จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ ถึง 10 กรกฎาคม 2565 ที่ชั้น 6 โซน Central Court ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และภายในเดือนกรกฎาคมนี้ สสส. มุ่งขยายผลการจัดนิทรรศการไปสู่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาคทั้ง 18 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงมีคิวอาร์โค้ดบนรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ร่วมเรียนรู้ และตระหนักถึงความสำคัญในการเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www. resourcecenter.thaihealth.or.th และ ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.