ไม่ได้คิดไปเอง! ผลสแกนชี้ สมองผู้ป่วย "โรคซึมเศร้า" ต่างจากสมองคนปกติ

ไม่ได้คิดไปเอง! ผลสแกนชี้ สมองผู้ป่วย "โรคซึมเศร้า" ต่างจากสมองคนปกติ

แม้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับ "โรคซึมเศร้า" เผยแพร่ออกมาตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา แต่เชื่อหรือไม่? บางคนยังมองผู้ป่วยซึมเศร้าว่าไม่ได้ป่วยจริง แค่เป็นคนจิตใจอ่อนแอและคิดไปเอง!

“โรคซึมเศร้า” เป็นหนึ่งในสาเหตุการฆ่าตัวตายอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย กรมสุขภาพจิตรายงานสถิติในปี 2564 ระบุว่า คนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า กว่า 1.5 ล้านคน โดยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 4,000 รายต่อปี และส่งผลให้มีผู้พยายามคิดสั้นกว่า 53,000 คนต่อปี

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคุ้นหูกับโรคนี้และอาจมีคนใกล้ตัวอย่างน้อย 1 คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้บางคนยังคิดว่าผู้ป่วยซึมเศร้าไม่ได้ป่วยจริงแต่เป็นคนจิตใจอ่อนแอ

ใครที่มองผู้ป่วยด้วยทัศนคติแบบนี้ อาจจะต้องคิดใหม่อีกที เพราะข้อมูลทางการแพทย์ชี้ชัดว่า สมองของผู้ป่วยซึมเศร้า มีความแตกต่างจากสมองของคนปกติ แล้วมีความแตกต่างอย่างไร? อะไรที่ทำให้สารสื่อประสาทของผู้ป่วยผิดปกติไปจากเดิม ลองเข้ามาอ่านคำอธิบายในทางการแพทย์ ดังนี้ 

อันดับแรกขอให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า ในทางการแพทย์มีข้อมูลยืนยันว่า “โรคซึมเศร้า จัดเป็นความเจ็บป่วย” ไม่ใช่ภาวะของคนมีจิตใจอ่อนแอ และผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาและจิตบำบัด ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ และต้องใช้ความเข้าใจอย่างแท้จริงจากคนรอบข้าง

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อธิบายถึงอาการของโรคนี้ไว้ว่า ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าจะมีความรู้สึกไม่สบายใจ เซ็ง ทุกข์ใจ เศร้า ท้อแท้ ซึม หงอย เบื่อ ไม่อยากพูดไม่อยากทำอะไร หรือทำอะไรก็ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนเดิม โดยผู้ที่มีอาการเกือบทั้งวันและเป็นติดต่อกันจนถึง 2 สัปดาห์ จะมีโอกาสสูงที่จะเป็น “โรคซึมเศร้า” ต้องเข้ารับการรักษาโดยการกินยาควบคุมสารสื่อประสาทให้ทำงานเป็นปกติ

ส่วนผลการสแกนสมองด้วย PET Scan (Positron Emission Tomography Scan) เป็นเทคโนโลยีการตรวจโรคทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์โดยใช้ภาพวินิจฉัยการทำงานของอวัยวะและเนื้อเยื่อภายในร่างกาย ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้หลากหลาย แสดงให้เห็นว่า รูปสมองของผู้ป่วยซึมเศร้า มีความแตกต่างกับรูปสมองของผู้ป่วยปกติอย่างชัดเจน โดยมีการเผยแพร่ภาพเปรียบเทียบสมองของผู้ป่วยและคนปกติจากสถาบัน Mayo Foundation for Medical Education and Research (MFMER) สหรัฐอเมริกา พร้อมระบุข้อความว่า 

"PET scan สามารถเปรียบเทียบการทำงานของสมองของผู้ที่มีอาการซึมเศร้า (ซ้าย) กับการทำงานของสมองปกติ (ขวา) จะเห็นว่าพื้นที่สีขาวและสีเหลือง(ในสมอง)ที่ลดลง แสดงถึงการทำงานของสมองลดลงเนื่องจากภาวะซึมเศร้า" 

ไม่ได้คิดไปเอง! ผลสแกนชี้ สมองผู้ป่วย \"โรคซึมเศร้า\" ต่างจากสมองคนปกติ

อีกทั้งมีข้อมูลจากเว็บไซต์ Banyan Mental Health ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบมาหลายปีแล้วว่า สมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีความแตกต่างกับสมองของคนปกติอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อเปรียบเทียบสมองของคนที่เป็นโรคซึมเศร้ากับสมองของคนปกติ นักวิทยาศาสตร์ได้พบความแตกต่างที่ละเอียดอ่อน แต่สำคัญ นั่นคือ ความผิดปกติของสสารสีเทาในสมอง การหดตัวของสมอง และต่อม Amygdala ที่ทำงานมากผิดปกติ

*หมายเหตุ : Amygdala (อมิกดาลา) เป็นส่วนเนื้อเยื่อประสาทของสมองที่มีลักษณะเหมือนอัลมอนด์ มีอยู่ในสมองแต่ละข้าง มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอารมณ์และสัญชาตญาณการอยู่รอด เช่น ความกลัว ความรัก และความโกรธ รวมถึงพฤติกรรมความก้าวร้าว และเกี่ยวข้องกับความต้องการทางเพศด้วย

1. ความผิดปกติของสสารสีเทาในสมอง

สสารสีเทาในสมอง หมายถึง เนื้อเยื่อสมองที่ประกอบด้วยเซลล์ประสาท ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าพบว่ามีสสารสีเทาหนาขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ตนเองและอารมณ์

2. การหดตัวของเนื้อสมอง

“คอร์ติซอล” เป็นฮอร์โมนความเครียดในสมอง ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะหลั่งคอร์ติซอลในปริมาณที่มากกว่าคนทั่วไป ผลของการหลั่งออร์โมนคอร์ติซอลปริมาณมากๆ ในระยะยาว ส่งผลให้ส่วนต่างๆ ของสมองสามารถหดตัวได้จริงๆ รวมถึงฮิปโปแคมปัสและเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าซึ่งเกี่ยวข้องกับความจำและการตัดสินใจ ก็จะเล็กลงและทำงานผิดปกติ

(การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงที่มีประวัติโรคซึมเศร้าจะมีขนาดของฮิปโปแคมปัส “เล็กกว่า” คนที่ไม่เคยเป็นภาวะซึมเศร้ามาก่อน  9-13% )

3. ต่อม Amygdala ที่แอคทีฟมากผิดปกติ

อมิกดาลา เป็นโครงสร้างสมองที่เกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์ ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักพบว่ามีต่อมนี้ในสมองทำงานแอคทีฟมากกว่าในสมองของคนปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีภาวะซึมเศร้าสมองจะมีความตื่นตัวมากกว่าคนปกติ เมื่อได้รับสิ่งเร้าทางลบ เช่น เสียงดัง อากาศร้อน คำตำหนิ กลิ่น การทำโทษ ฯลฯ

จากข้อมูลข้างต้น คงทำให้หลายๆ คน (ที่ไม่ได้ป่วย) ได้เข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดโรคซึมเศร้าในทางวิทยาศาสตร์ และเข้าใจผู้ป่วยซึมเศร้าได้อย่างแท้จริง

---------------------------------------

อ้างอิง : mayoclinic.org, กรมสุขภาพจิต, hfocus.org, The University of Queensland, Psych Congress Network, healthline