ไขข้อสงสัย "รพ.เอกชน" ออกแพ็กเกจรักษาโควิด-19 ได้หรือไม่

ไขข้อสงสัย "รพ.เอกชน" ออกแพ็กเกจรักษาโควิด-19 ได้หรือไม่

กรม สบส. แจง กรณี "รพ.เอกชน" บางแห่งออกแพ็กเกจรักษา "ผู้ป่วยโควิด-19" โดยระบุให้เลือกรูปแบบการรักษาและมีค่าใช้จ่าย สามารถทำได้ แต่จะต้องเป็นยาที่ รพ.เอกชนจัดซื้อมาเอง ไม่ใช่ยาที่รัฐจัดให้ เป็นทางเลือกประชาชน แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษา และมาตรฐานสถานพยาบาล

จากกรณีที่ รพ.เอกชน บางแห่งออกแพ็กเกจรักษา ผู้ป่วยโควิด-19 โดยระบุให้เลือกรูปแบบการรักษาและมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน อาทิ ยาฟาวิพิราเวียร์ ครบโดส 50 เม็ด ราคา 2,900 บาท หรือยาฟาวิพิราเวียร์แบบครบโดสกับปรอทและเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ราคา 3,000 บาท หรือ ยาโมลนูพิราเวียร์ 20-30 เม็ด ราคา 5,700 บาท เป็นต้น ซึ่ง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ระบุว่า สามารถดำเนินการได้ แต่จะต้องเป็นยาที่รพ.เอกชนจัดซื้อมาเอง ไม่ใช่ยาที่รัฐจัดให้ไปเพื่อใช้ในการรักษาฟรีให้กับประชาชนนั้น

 

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า หากเป็นคนไข้โควิด-19 ไปรักษาใน รพ.ตามสิทธิ เป็นไปตามระบบนั้น โรงพยาบาลที่รักษาตามสิทธินั้นๆ ย่อมไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เพราะรัฐเป็นผู้สนับสนุนยาไปยังโรงพยาบาล แต่หากรพ.เอกชน ต้องการทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายและมีกำลังจ่าย ก็สามารถทำได้ แต่การรักษาต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ และยาส่วนที่จะนำคิดค่ารักษาจะต้องเป็นของเอกชน เนื่องจากปัจจุบันในส่วนยาจากภาครัฐจะเตรียมยาไว้ให้รพ.เอกชนที่ดูแลคนไข้ตามสิทธิ

 

สิ่งสำคัญการออกแพ็กเกจใดๆ ต้องอิงอาการคนไข้เป็นหลัก ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษา และมาตรฐานสถานพยาบาล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะมีการประชุมหารือและกำชับรพ.เอกชน ในการปฏิบัติเรื่องนี้ให้ถูกต้อง หากสงสัยว่า รพ.เอกชนทำได้หรือไม่ให้แจ้งมาที่ สบส. เพื่อตรวจสอบต่อไป และการออกแพ็กเกจต้องแจ้งล่วงหน้า และแจ้งราคาให้ประชาชนทราบล่วงหน้า

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"แต่ที่สำคัญการให้ยาต้องรักษาตามอาการ ตามมาตรฐาน หากทำผิดนอกเหนือจากนั้น จะผิดทั้งพรบ.สถานพยาบาลฯและหากแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายนอกเหนืออาการก็จะเข้าข่ายผิดเรื่องการประกอบวิชาชีพ จะเป็นในส่วนของแพทยสภาตรวจสอบ” นพ.ธเรศกล่าว

 

ว่ากันว่า การที่ รพ.เอกชนที่ออกแพ็กเกจอาจเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกสบาย เพื่อให้ผู้ป่วยที่สามารถจ่ายได้มีทางเลือก ว่ากันว่ากรณีเช่นนี้หากเป็นการอำนวยความสะดวกได้จริงและไม่ผิดหลักเกณฑ์ใดๆ ก็น่าจะทำได้ และประชาชนก็ได้ความสะดวกสบาย ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นผู้รับบริการจะต้องรับผิดชอบเอง 

 

“โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด” ใช้ภาวะฉุกเฉิน

 

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิดที่ใช้ในการรักษาโควิด-19นั้น ยังขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกับทั่วโลก แต่เมื่อยาได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.แล้ว สถานพยาบาลเอกชนก็สามารถจัดซื้อยาดังกล่าวมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ หากบริษัทผู้ผลิตมียาที่ขายให้ได้ อย่างไรก็ตาม การสั่งจ่ายยาดังกล่าวของสถานพยาบาลให้กับผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่เป็นแนวทางการรักษาที่ออกโดยกรมการแพทย์

 

ล่าสุด กรมการแพทย์ ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 24 วันที่ 11 ก.ค. 2565 โดยความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างาน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการใน ประเทศ และต่างประเทศ

 

ไขข้อสงสัย \"รพ.เอกชน\" ออกแพ็กเกจรักษาโควิด-19 ได้หรือไม่

รักษาตามความรุนแรง-ปัจจัยเสี่ยง 4 กรณี

 

1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านแบบ ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้ายไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์

 

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ ควรเริ่มยาโดยเร็ว หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

 

3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี โดยหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ

 

โดยมีลำดับการให้ยา คือ โมลนูพิราเวียร์ ,เรมเดซิเวียร์,เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) และฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อขึ้นไป ให้เรมเดซิเวียร์ หรือเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) หรือโมลนูพิราเวียร์  ทั้งนี้ การจัดลำดับการให้ยา พิจารณาจากปริมาณยาที่มีในประเทศ ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนักและอัตราตาย ความสะดวกในการบริหารยา และราคายา

 

ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มีราคาสูงที่สุด ส่วนฟาวิพิราเวียร์ ไม่ช่วยลดอัตราการป่วยหนัก แต่ช่วยลดอาการได้ หากได้รับยาเร็วตั้งแต่วันแรกที่มีอาการในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง  ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่รุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ,โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี

 

4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการและได้รับออกซิเจน แนะนำให้เรมเดซิเวียร์ โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกัยให้ยาคอร์ดิโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) 

 

สปสช.ส่งยาถึงบ้านฟรี

 

ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง 30 บาท สปสช.ได้เพิ่มการรักษาด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) กับ 2 ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันด้านสุขภาพดิจิทัล คือ บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ Good Doctor Technology แอปพลิเคชัน และ ทรู เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) เพื่อทำการดูแลผู้ป่วยฯ ผ่านบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พร้อมบริการจัดส่งยาถึงบ้านพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล 5 จังหวัด นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เท่านั้น

 

ลงทะเบียนได้ที่ 

  • แอปพลิเคชัน Good Doctor Technology ให้บริการโดย บริษัท กู็ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย): คลิก หรือ
  • แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) โดย ทรู เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด : คลิก

พบแพทย์ผ่านออนไลน์ ซักถามและจ่ายยาตามอาการ ให้คำแนะนำการใช้ยารักษาโควิด-19 พร้อมจัดส่งถึงบ้าน ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

สอบถามได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือไลน์ไอดี @nhso หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

แนวปฏิบัติ สิทธิประกันสังคม ม.33/ 39

 

สำนักงานประกันสังคมเผยแนวปฏิบัติผู้ติดเชื้อโควิด-19มาตรา 33 และมาตรา 39  กรณีมีอาการเข้าข่ายหรือตามดุลยพินิจของแพทย์ ติดเชื้อโควิด-19ตรวจATKได้ ณ สถานพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการทั่วประเทศ ตรวจ ATK ขึ้น 1 ขีด ไม่ติดโควิด-19  ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ติดโควิด-19 

 

1.รักษาตามแนวทาง “เจอ แจก จบ” 

ผู้ประกันตนที่มีอาการป่วยไม่รุนแรง รักษาแบบ OP - self isolation “เจอ แฉก จบ ” ณ สถานพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐ และเอกชนทุกแห่ง/คลีนิกและร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

 

2.กรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน 

ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ณ สถานพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

3.เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สีเหลือง-สีแดง

อาการ ได้แก่ หอบเหนื่อยหนักมาก พูดไม่เป็นประโยค แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช็อค/โคม่า ซึมลง ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ค่าอ๊อกซิเจนต่ำกว่า 94

 

หากเข้าเกณฑ์คัดแยกผู้ป่วย สีเหลือง-สีแดง ใช้สิทธิ UCEP Plus ณ สถานพยาบาล ทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

ผู้ประกันตน ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 สำนักงานประกันสังคม จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่สถานพยาบาล และแพทย์ผู้ดูแลรักษาพิจารณาแล้วว่าผู้ป่วย เข้าเกณฑ์การดูแลรักษาในที่พักระหว่างรอเข้ารักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล (Home Isolation) และการดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนาม สำหรับคนในชุมชน (Community Isolation) ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด