“ติดโควิด” ห้ามใช้ยากดอาการไอ ไม่จริง! แพทย์ชี้ ใช้ยาแก้ไอได้ตามแพทย์สั่ง
อย่าเชื่อข่าวลวง! "ติดโควิด" แล้วไอมีเสมหะ ห้ามใช้ยาแก้ไอที่กดอาการไอ ไม่จริง! แพทย์จุฬาฯ เผย ผู้ป่วยโควิดอาการไม่รุนแรง สามารถใช้ “ยาแก้ไอ” ได้ทุกชนิดตามแพทย์สั่งหรือเภสัชกรแนะนำ
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2565 “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย” ได้ออกมาไขข้อข้องใจ กรณีสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับยาแก้ไอมีเสมหะสำหรับผู้ป่วย "ติดโควิด" ที่ระบุว่า..
"ผู้ป่วยโควิดห้ามใช้ยาแก้ไอ 2 กลุ่ม คือ Dextromethorphan และ Codeine เพราะจะไปกดอาการไอ ทำให้เสมหะค้างอยู่ในปอด ส่งผลให้ติดเชื้อมากขึ้น แต่ให้กินยาละลายเสมหะแทน"
แต่ต่อมาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชวิทยา ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า เรื่องนี้ไม่จริง!
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ณ เดือน ก.ค. 2565 เมื่อโควิด-19 กลับมาระบาดหนักอีกครั้ง ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น และมีความต้องการยารักษาอาการโควิดเบื้องต้นมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะ “อาการไอ” ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกันมาก แต่หลายคนอาจหลงเชื่อข่าวลวงเกี่ยวกับการใช้ยาแก้ไอแบบผิดๆ ดังกล่าวข้างต้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงอยากย้ำเตือนเรื่องข่าวลวงนี้กันอีกครั้ง
โดย ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์พิเศษ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ข้อมูลเรื่องยาแก้ไอผ่าน "ศูนย์ข่าวชัวร์ก่อนแชร์" เอาไว้ว่า ความจริงคือผู้ป่วยโควิดเมื่อไอมีเสมหะ ก็ยังคงใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว (Dextromethorphan, Codeine) ได้อยู่
ยาทั้งสองกลุ่มนี้เป็นยากดอาการไอ ซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยยาชนิดที่พบการใช้ทั่วๆ ไป คือ Dextromethorphan ซึ่งใช้ได้เมื่อผู้ป่วยมีอาการไอ จากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน แม้ว่าจะมีเสมหะเกิดขึ้นก็ตาม ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยไอน้อยลง
ส่วนเสมหะที่เกิดขึ้นบริเวณลำคอผู้ป่วยสามารถกำจัดออกได้ไม่ยาก เพียงแค่กระแอมหรือขากออกมาแล้วทิ้งในที่ที่ถูกต้อง
หลักการทำงานของยาแก้ไอกลุ่มนี้คือ จะเข้าไปกดอาการไอ ทำให้เสมหะค้างอยู่ในทางเดินหายใจ “ส่วนล่าง” (ข้อมูลที่แชร์ๆ กันไม่ได้บอกว่าเป็นทางเดินหายใจส่วนล่าง จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้) ผู้ป่วยโควิดอาการไม่รุนแรงทุกรายมักจะมีเสมหะที่ทางเดินหายใจ “ส่วนบน” เท่านั้น ซึ่งยากลุ่มนี้ยังคงใช้ได้ตามปกติ
กรณีผู้ป่วยที่พบเชื้อโควิดลงไปที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง และมีเสมหะมากๆ เคสแบบนี้แพทย์จะไม่จ่ายยากลุ่มนี้ให้อยู่แล้ว! แต่จะนำเสมหะออกโดยการใช้สายยางไปดูดเอาเสมหะหลุดออกมา ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการหนักเช่นนี้ไม่ต้องถามหายาแก้ไอไหนๆ แล้ว ต้องไปโรงพยาบาลเท่านั้น
อีกทั้ง ชุดข้อมูลลวงดังกล่าวยังแนะนำด้วยว่า ควรใช้ยาแก้ไอละลายเสมหะแทนนั้น เรื่องนี้ก็เป็นคำแนะนำที่ ผิด! อีกเช่นกัน
เนื่องจากยาละลายเสมหะเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่ายานี้มีประโยชน์จริง และข้อมูลยืนยันในทางการรักษาแทบจะไม่พบเลย อีกทั้งยังมีราคาแพง คณะผู้เชี่ยวชาญด้านการคัดเลือกยาของประเทศไทย จึงไม่ได้บรรจุยาละลายเสมหะชื่อใดๆ ไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ดังนั้น หากผู้ป่วยมีเสมหะ ก็เพียงแค่กระแอมไอออกมา และในทางการแพทย์นั้นยาละลายเสมหะที่ดีที่สุด ก็คือ "น้ำเปล่า" การดื่มน้ำสะอาดอย่างพอเพียงคือการแก้ไขปัญหาเรื่องเสมหะได้อย่างเพียงพอแล้ว นอกจากนี้ก็ไม่ควรตากลมแอร์เย็นๆ หรือดื่มน้ำเย็น เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการไอมากขึ้นนั่นเอง
------------------------------------
อ้างอิง : ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์