"ติดโควิด" ต้องกินยาอะไรบ้าง ? เตรียมพร้อมไว้อุ่นใจกว่า
แม้ว่า “โควิด” จะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” แล้ว แต่จำนวนยอดผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง และการเข้าถึงการรักษา - รับยา กับโรงพยาบาลกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ดังนั้น ทุกคนจึงควรเตรียม “ยา” จำเป็นเบื้องต้นติดบ้านไว้ให้พร้อมเพื่อความอุ่นใจ
หลังจาก บอร์ด “สปสช.” มีมติเห็นชอบ ปรับหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 กรณีปรับโรคโควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น" ตามนโยบายรัฐบาล มีผล 4 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป ยืนยันประชาชนยังคงได้รับการดูแลรักษาตามสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
รวมถึงก่อนหน้านี้ ศบค. มีมาตรการผ่อนคลายให้ประชาชนถอดหน้ากากอนามัยได้เมื่ออยู่ที่โล่งแจ้ง ทำให้ผู้คนไม่ตั้งการ์ดสูงเหมือนเมื่อก่อน
ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ขยายเป็นวงกว้าง ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นไม่หยุด ยืนยันจากยอดโควิดล่าสุด (14 ก.ค.) มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงถึง 2,257 ราย และมีผู้เสียชีวิต 28 ราย
ทั้งนี้ จากยอดโควิดที่พุ่งสูงดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยโควิดรายใหม่จำนวนมากเข้าถึงการรักษาได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของเตียงโรงพยาบาลเต็ม, การรอคิวที่ยาวนาน, ปัญหาการลงทะเบียนเข้าระบบการรักษา ที่ปรากฏว่าไม่สามารถลงทะเบียนได้เนื่องจากระบบเต็ม และต้องรอทำใหม่ในวันถัดไป
ถึงแม้ว่า สปสช. จะยืนยันว่า มี "ร้านยา" ที่เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. พร้อมจ่ายยาให้กับผู้ที่ติดโควิด (อาการไม่รุนแรง และต้องมีสิทธิบัตรทองเท่านั้น) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถหาซื้อได้ง่าย เนื่องจากไม่ใช่ทุกร้านยาที่เข้าร่วม ดังนั้น การป้องกันปัญหาเหล่านี้ในเบื้องต้น อาจจะต้องเริ่มด้วยตัวเอง โดยการซื้อยาที่สามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้
สำหรับ กลุ่มยารักษาอาการป่วยโควิดเบื้องต้น ที่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป ได้แก่
1. “ฟ้าทะลายโจร”
สำหรับผู้ป่วยระยะแรก ที่ติดโควิด สามารถกินยาสมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” ได้ทันที โดยผู้ใหญ่ทานครั้งละ 60 มิลลิกรัม เด็กทานครั้งละ 11 มิลลิกรัม เช้า กลางวัน และเย็น ติดต่อกัน 5 วัน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพบแพทย์
อ่านเพิ่ม : ตรวจ ATK พบ "ติดโควิด" กินยา "ฟ้าทะลายโจร" ได้กี่เม็ดต่อวันกันแน่?
2. “ยาพาราเซตามอล” แก้ไข้ แก้ปวด
สำหรับผู้ติดโควิด และมีอาการไม่หนักมาก ยังสามารถดูแลตนเองได้ สามารถกินยากลุ่มนี้เพื่อบรรเทาอาการไข้ และปวดหัว โดยกินยาทุก 4-6 ชั่วโมง ตามอาการ
3. “ยาแก้ไอมะขามป้อม”
เป็นยาสมุนไพรไทยที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการไอ ในผู้ที่ติดโควิดในระยะแรก และมีอาการไม่หนักมาก จิบยาวันละ 3 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการไอ ระคายคอ เสมหะข้น
4. “ยาขิง”
ใช้เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันต้านไวรัส ลดอักเสบ โดยเฉพาะลดเสมหะ แก้คัดจมูก เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ขับเหงื่อ โดยกินวันละ 1-2 แคปซูล หลังอาหาร หากอาการดีขึ้น ควรหยุดยา
5. “ยาตรีผลา”
สำหรับผู้ติดโควิดที่มีอาการไม่รุนแรงมาก โดยตัวยามีสรรพคุณแก้ไอ ละลายเสมหะ โดยใช้ ครั้งละ 300 - 600 มิลลิกรัม เมื่อมีอาการไอ วันละ 3 - 4 ครั้ง
ทั้งหมดนี้เป็นทั้งยาสมุนไพรไทย และยาสามัญประจำบ้าน ที่สามารถหาซื้อได้ทั้งร้านขายยาแผนปัจจุบันและร้านขายยาแผนโบราณ ซึ่งสามารถใช้บรรเทาอาการ ได้เฉพาะผู้ติดโควิดในระยะเริ่มต้นเท่านั้น
หากใช้ยาดังกล่าวแล้วยังอาการไม่ดีขึ้น ก็จำเป็นจะต้องไปโรงพยาบาลในสิทธิของท่าน เช่น โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม, โรงพยาบาลตามสิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นต้น
อ่านเพิ่ม : "สมุนไพรไทย" บรรเทาอาการโควิด-19 และ Long COVID
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์