4 ข้อห้ามฉีด "โบท็อกซ์" สวยแบบปลอดภัยต้องรู้ก่อน
การฉีดโบท็อกซ์เป็นหนึ่งการเสริมความงามใบหน้าที่ได้รับความนิยม แต่มีสิ่งที่ควรรู้และระวัง โดยแพทย์ผิวหนังแนะนำว่าการฉีดโบท็อกซ์ควรพิจารณาถึง 4 ข้อห้าม เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
พญ.ประภาวรรณ เชาวะวณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้านพัฒนาคลินิกบริการรูปแบบพิเศษสาขา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ระบุว่า โบท็อกซ์ หรือชื่อสามัญคือ botulinum toxin type A เป็นสารที่สกัคจากแบคทีเรียสายพันธุ์เฉพาะ ตัวสารอยู่ในรูปโปรตีนที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถจับกับปลายเส้นประสาทที่มาควบคุมกล้ามเนื้อแล้วไปยับยั้งการกระตุ้นกล้ามเนื้อที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทบริเวณนั้น ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ได้รับ toxin หดตัวไม่ได้และอยู่ในภาวะคลายตัวในที่สุด จึงได้มีการนำมาใช้ในเรื่องการลคริ้วรอยที่เกิดจากการขยับของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะริ้วรอยบนใบหน้า
ปัจจุบันมี botulinum toxin type A หลายยี่ห้อซึ่งจะมีความแตกต่างกันทั้งบริษัทที่ผลิต ประเทศที่ผลิต รวมไปถึงความบริสุทธิ์ของตัวยา ที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาและระยะเวลาในการออกฤทธิ์ โดยการฉีด botulinum toxin type A ต้องเป็นของแท้ ผ่านการรับรองจกากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องมีการตรวจดูชื่อยี่ห้อที่กล่อง, เลขล็อต, วันที่ผลิตและ วันหมดอายุ และดูที่ข้างขวคโดยเลขทั้งหมดต้องตรงกัน โดยทั่วไประยะเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ3-6 เดือนสำหรับการลดริ้วรอยบนใบหน้า
หากเป็นของปลอมอาจจะมีการปนเปื้อนของสารและโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้และไม่ได้ผลในการลดริ้วรอยหรือลดได้น้อยและระยะที่มีผลสั้นกว่าที่ควรเป็น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาของการดื้อยา หาก toxin ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานอาจจะทำให้ร่างกายสร้างสารต้านฤทธิ์ยาทำให้ฉีคแล้วไม่ได้ผล
สำหรับอันตรายที่เกิดจากการฉีด botulinum toxin type A คือ 1. ติดเชื้อ เกิดจากสถานที่ไม่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีคไม่สะอาด 2. การกระจายตัวของ toxin ไปในบริเวณที่ไม่ต้องการ เช่น หนังตาตก, มุมปากเบี้ยว,ยิ้มไม่สมดุล
ส่วนผลข้างเคียงจากการฉีด ได้แก่ 1.ไม่ใช่แพทย์ที่เชี่ยวชาญ ทำให้เกิดความผิดพลาด ในตำแหน่งที่ฉีดมีความคลาดเคลื่อนขึ้นได้ 2.คุณภาพของ toxin ไม่ได้มาตรฐานและไม่ผ่าน อย. 3.มีปริมาณในการฉีดมากเกินไปทำให้เกิดอาการแข็งตึง ไม่สามารถแสดงสีหน้าความรู้สึกได้ตามปกติ เช่น ยิ้มไม่สมดุล และ4.กระจายตัวของ toxin ไปตำแหน่งอื่น เช่น การนอนราบหลังฉีดทันที อาจจะทำให้ ตัวยากระจายไปในส่วนที่ไม่ต้องการ ทั้งนี้ toxin แต่ละยี่ห้อจะมีการกระจายตัวของตัวยาไม่เท่ากัน ดังนั้นแพทย์ผู้ฉีดจะใช้เทคนิคการฉีดที่แตกต่างกันในแต่ละยี่ห้อ
การฉีดโบท็อกซ์นั้น ต้องพิจารณาจาก 1.ควรเลือกฉีดจากสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน 2.แพทย์มีความชำนาญ 3.เลือกใช้ยาที่มีมาตรฐานผ่านการรับรองจากอย. เท่านั้น ส่วนข้อห้ามในการฉีด ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติแพ้สารbotulinum toxin type A ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง กลืนลำบาก และผู้ที่แพ้สารที่เป็นส่วนประกอบใน toxin
ในส่วนของฟิลเลอร์ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า เป็นการฉีดสารเติมเต็ม ใช้สำหรับเติมเต็มเพื่อแก้ปัญหาผิว ริ้วรอยร่องลึก บริเวณต่าง ๆ ของใบหน้า โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ชนิดชั่วคราว และชนิดกึ่งถาวร โดยชนิดชั่วคราวส่วนใหญ่ จะเป็นสารกลุ่มไฮยาลูรอนิค แอซิด (Hyaluronic Acid) หรือ (HA) ในการฉีดครั้งหนึ่งจะอยู่ได้นานประมาณ 1 – 2 ปี
ส่วนชนิดกึ่งถาวร ในการฉีดครั้งหนึ่งอาจอยู่ได้ยาวนานเป็น 10 ปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แพทย์จะไม่ค่อยแนะนำชนิดกึ่งถาวร เนื่องจากโดยส่วนใหญ่มักไม่สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติเหมือนกลุ่มไฮยาลูรอนิค แอซิด เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาทำให้การรักษาค่อนข้างยาก
ข้อควรปฏิบัติหรือสิ่งที่ควรทราบก่อนการฉีดฟิลเลอร์ ได้แก่ 1. ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวิเคราะห์ปัญหา และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม 2. หากมีโรคประจำตัว มียาหรือวิตามินที่ต้องรับประทานประจำควรแจ้งแพทย์ก่อนทำการรักษาทุกครั้ง 3. ควรเลือกยี่ห้อและชนิดของฟิลเลอร์ที่ได้มาตรฐานและสามารถตรวจสอบข้อมูลจากบรรจุภัณฑ์ได้ และ 4. ควรตรวจสอบสถานพยาบาลหรือคลินิกที่ได้มาตรฐานและมีใบอนุญาตถูกต้อง
การฉีดฟิลเลอร์ไม่ได้มาตรฐาน ฉีดไม่ถูกตำแหน่ง หรือการเลือกใช้ตัวของผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสม จะส่งผลให้เกิดการไหลของฟิลเลอร์ ผิวหนังบิดเบี้ยวหรือบวมหนาผิดรูป และมีปัญหาภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ โดยจะมีวิธีการสังเกตภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติหลังการฉีดฟิลเลอร์ ได้แก่ 1. สีผิวบริเวณตำแหน่งที่ทำการรักษาผิดปกติ เช่น ซีด หรือแดงคล้ำ 2. มีอาการปวด บวม แดงหรือช้ำมากกว่าปกติ 3. มีอาการชา 4. มีอาการบวม แดง กดเจ็บ หรือทีหนอง ที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อหรืออักเสบที่ผิวหนัง หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์โดยทันที
“หลังฉีดฟิลเลอร์เสร็จ ควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดและความร้อน ทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ ควรงดการทำหัตถการบริเวณใบหน้า เช่น นวดหน้า หรือการใช้เครื่องมือที่อาจมีความร้อน รวมถึงหมั่นสังเกตความผิดปกติบริเวณใบหน้าโดยเฉพาะตำแหน่งที่ทำการรักษา ทั้งนี้ ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ หากต้องการคำแนะนำในการดูแลรักษาผิวพรรณที่ถูกวิธีแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยตรง”พญ.มิ่งขวัญกล่าว