ตั้งเป้าหมายชีวิตให้เวิร์ก? ไม่ทิ้งเป้าหมายใหญ่ แต่ขยับก้าวเล็ก ๆ ก่อน
เรียนรู้การตั้งเป้าหมายในชีวิต ด้วยเคล็ดลับของ “ทอนยา ไรเนียร์” ผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำด้านธุรกิจ และ “SMART Goal” เทคนิคที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมถึงรู้จักแนวคิดการการมองเป้าหมายไปทีละขั้นและชื่นชมกับความสำเร็จเล็ก ๆ
จากคลิปของ “ใบเฟิร์น - อัญชสา มงคลสมัย” นักแสดงชื่อดัง ที่ชวน “อีฟ - มาริษา รุ่งโรจน์” เพื่อนสนิทและเจ้าของเพจ “ABOVE THE MARS” มาพูดถึงเรื่อง การมองความสำเร็จที่คนเรามักจะเผลอเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ไม่ว่าจะด้วยการวัดยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอดคอมเมนต์ ยอดฟอลโลเวอร์ จนกลายเป็นการกดดันตัวเอง คิดว่าตนเองทำได้ไม่ดี และด้อยค่าตนเอง
ท้ายที่สุดแล้วลงท้ายด้วยการลดทอนความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-Esteem) จนเกิดเป็นบาดแผลทางจิตใจ พาลไม่อยากพบเจอกับเพื่อนที่เราไปเปรียบเทียบด้วย และมองว่าเขาประสบความสำเร็จมากกว่า โดยที่เพื่อนก็ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วย เพราะการไปพบเจอเพื่อนคนนั้นจะเป็นการกระตุ้นความรู้สึกด้อยค่าของตน และเป็นภาพสะท้อนถึงความสำเร็จที่เราไม่สามารถไปถึง
อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจที่ถูกพูดถึงในโลกโซเชียลอย่างมาก คือ แนวคิดการมองเป้าหมายไปทีละขั้น (Step by Step) ซึ่งจะส่งผลดีกับ “สุขภาพจิต” มากกว่าการมองเป้าหมายใหญ่ที่ยากต่อการไปถึงในเร็ววัน แล้วกดดันตัวเองให้รีบทำให้สำเร็จ พอทำไม่ได้ตามที่หวังไว้ก็กลายเป็นโทษตัวเองและท้อแท้จนคิดว่าเราไม่สามารถทำให้สำเร็จได้
โดยวิธีการมองเป้าหมายไปทีละขั้นนั้นจะช่วยให้เราสร้างกำลังใจให้กับตนเองได้ ด้วยการยินดี ให้กำลังใจ และชื่นชมตนเองในทุกวันกับเรื่องเล็ก ๆ ในเป้าหมายใหญ่ ที่เราทำสำเร็จในแต่ละวัน แทนที่จะกดดันตนเองจนไม่มีความสุขในชีวิต
ทอนยา ไรเนียร์ ผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำด้านธุรกิจ ได้เสนอวิธีการวางเป้าหมายที่จะช่วยให้โฟกัสและทำตามเป้าหมายได้อย่างราบรื่น โดยไรเนียร์กล่าวว่า ควรมีการตั้งเป้าหมายใหญ่ไว้ในทุกปี ๆ ส่วนภาคธุรกิจควรกำหนดเป้าหมายไว้ในทุกไตรมาส ขณะที่เป้าหมายส่วนบุคคลควรกำหนดในทุก ๆ เดือน โดยเธอได้แนะนำ 5 ขั้นตอนในการสร้างเป้าหมายไว้ดังนี้
ขั้นตอนแรก: กำหนดเป้าหมายระยะยาว
เป้าหมายระยะยาว คือสิ่งที่คุณตั้งใจว่าจะทำให้สำเร็จภายในระยะเวลา 1 ปี หรือมากกว่านั้น แม้ว่าเป้าหมายนี้อาจจะใหญ่จนคุณมองภาพไม่ออกว่าจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะจุดประสงค์ของการมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ระยะยาว คือเพื่อเป็นกรอบกำหนดทิศทางให้คุณมุ่งไปตามเป้าหมายให้ได้สำเร็จ เมื่อคุณรู้ว่าต้องทำอย่างไร คุณก็จะสามารถกำหนดเป้าหมายระยะสั้น ค่อย ๆ เก็บเกี่ยวความสำเร็จระหว่างทางไปได้เรื่อย ๆ
ขั้นตอนที่ 2: กำหนดเป้าหมายระยะสั้น
เมื่อคุณรู้แล้วว่าเป้าหมายในระยะยาวคืออะไร สิ่งต่อไปที่จะต้องทำคือ กำหนดเป้าหมายระยะสั้นที่มีความสัมพันธ์กับเป้าหมายระยะยาว โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการประมาณ 30 - 90 วัน เพื่อที่จะทำตามเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ ค่อย ๆ โฟกัสและลงมือทำไปทีละเป้าหมาย ทำให้สำเร็จไปทีละอย่าง และอย่าลืมให้กำลังใจตัวเอง เมื่อเป้าหมายระยะสั้นหรือขั้นตอนเล็ก ๆ สำเร็จ เพราะกำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้คุณมีแรงทำเป้าหมายระยะสั้นอื่น ๆ ต่อไป
ขั้นตอนที่ 3: กำหนดวิธีการวัดความสำเร็จ
คุณจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเป้าหมายของคุณประสบความสำเร็จแล้วหรือไม่ หากคุณไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการประเมินประสิทธิภาพของการดำเนินการ รวมถึงกำหนดตัวเลขของเป้าหมาย ซึ่งหากผลการวัดออกมาแล้วไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาจจะต้องมาสำรวจอีกทีว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหน เพื่อจะได้ปรับแก้ได้ทันท่วงที แต่อย่าลืมว่าวิธีการประเมินนี้จะต้องวัดจากตนเองเป็นหลัก ไม่ใช่การเปรียบเทียบกับผู้อื่น ตัวอย่างเช่น
- หากต้องการเพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกเพจในสื่อโซเชียลมีเดีย สามารถวัดได้จากจำนวนยอดไลก์และคอมเมนต์
- หากต้องการเพิ่มรายได้ สามารถวัดได้จากยอดขายหรือรายรับ
- หากต้องการลดน้ำหนัก สามารถวัดได้จากน้ำหนักหรือสัดส่วนที่ลดลง
- หากต้องการสร้างการทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพ สามารถวัดได้จากชั่วโมงการทำงานร่วมกันและแบบประเมินสอบถามความคิดเห็น
ขั้นตอนที่ 4: กำหนดแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย
เมื่อคุณรู้แล้วว่าจะวัดผลอย่างไร ก็ได้เวลามาจัดการสิ่งที่ต้องทำ (To Do List) เพื่อจะทำให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว โดยระยะเริ่มต้นอาจจะเป็นการค้นหาข้อมูลจากการอ่านหนังสือหรืออินเทอร์เน็ต หากเป็นเป้าหมายทางธุรกิจอาจจะเริ่มต้นจากการประชุมทีมเพื่อระดมไอเดีย ซึ่งจะช่วยทำให้ปรับปรุงคุณภาพและความเป็นไปได้ในการทำตามเป้าหมายของคุณ
ขั้นตอนที่ 5: ทำให้เป้าหมายของคุณเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
แน่นอนว่าในชีวิตของคนเรา มีกิจวัตรประจำวันมากมายให้ต้องทำ แต่ถ้าหากคุณต้องการให้เป้าหมายของคุณเป็นจริงก็ต้องใช้เวลากับมันเป็นหลัก การแบ่งเวลาในชีวิตจริงเป็นเรื่องที่สำคัญ หากคุณมีภารกิจอื่นที่ต้องทำ อย่างน้อยที่สุดก็ควรลงมือทำตามแผนที่วางไว้ให้ได้ทุกวันควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ตามแผนที่วางเอาไว้
นอกจากแนวคิดของไรเนียร์แล้ว ยังมีวิธีการตั้งเป้าหมายอีกรูปแบบหนึ่งที่โด่งดังและได้รับความนิยมอย่างมาก นั่นคือ “SMART Goal” ซึ่งคิดค้นโดย จอร์จ ที. โดแรน ที่ปรึกษาและอดีตผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนองค์กรของ Washington Water Power Company เผยแพร่ครั้งแรกใน วารสาร Management Review ฉบับเดือนพ.ย. 2524 โดยสามารถนำไปใช้ตั้งเป้าหมายทั้งในการทำงานและเป้าหมายในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย
- S - Specific หมายถึง เป็นสิ่งที่ชี้เฉพาะ และมีขอบเขตที่ชัดเจน
- M - Measurable หมายถึง สามารถวัดผลได้ มีหลักฐาน หรืออ้างอิงได้
- A - Achievable หมายถึง มีความเป็นไปได้ สมเหตุสมผล ทำได้จริงภายใต้ระยะเวลาและทรัพยากรที่มีอยู่
- R - Relevant หมายถึง สอดคล้องกับเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ต้องการในระยะยาว
- T - Time-based หมายถึง กรอบระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน
ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายด้วยเทคนิค SMART
ต้องการซื้อรถยนต์ราคา 600,000 บาท โดยวางเงินดาวน์ 10% คิดเป็นเงิน 60,000 บาท ภายใน 1 ปี ด้วยการเก็บออมหรือหาเงินให้ได้เดือนละ 5,000 บาท
- Specific = ต้องการซื้อรถยนต์ราคา 600,000 บาท โดยวางเงินดาวน์ 10%
- Measurable = คิดเป็นเงิน 60,000 บาท
- Achievable = เก็บออม หารายได้เพิ่ม
- Relevant = ต้องเก็บเงินให้ได้เดือนละ 5,000 บาท
- Time-based = กำหนดระยะเวลาภายใน 1 ปี
แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้วิธีใดในการตั้งเป้าหมายก็ตาม อย่าลืมที่จะมองให้เป็นเรื่องสนุก ค่อย ๆ พิชิตความสำเร็จไปทีละก้าว ด้วยการทำเป้าหมายให้เล็กลง แบ่งเป็นภารกิจย่อย ๆ เพื่อทำให้สำเร็จได้ง่ายขึ้น และชื่นชมกับความสำเร็จในทุก ๆ ขั้นที่ข้ามผ่านไป พร้อมให้กำลังใจ และอย่ากดดันตัวเองจนเกินไป
แม้ว่าสุดท้ายแล้วเป้าหมายใหญ่อาจจะไม่สำเร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณล้มเหลว ในตอนแรกคุณอาจจะหมดกำลังใจ ไม่เป็นไร เมื่อมีแรงแล้วนำสิ่งที่ผิดพลาดมาเป็นบทเรียนและตั้งเป้าหมายใหม่ได้เสมอ
ที่มา: Mind Tools, Profit Party, Project Smart