‘ซึมเศร้าหลังคลอด’ รู้ก่อน รักษาก่อน จะสูญเสียคนในครอบครัว

‘ซึมเศร้าหลังคลอด’ รู้ก่อน รักษาก่อน จะสูญเสียคนในครอบครัว

กรณีศึกษาของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากภาวะ 'ซึมเศร้าหลังคลอด' สร้างความสูญเสีย มาเปิดเผยให้ทุกคนได้รู้ ตระหนัก และหาทางป้องกันรักษา

‘ซึมเศร้าหลังคลอด’ เป็นเรื่องที่คนในสังคมไทยยังไม่มีความรู้เพียงพอ และคิดว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ แท้ที่จริงแล้วใกล้ตัวทุกคนกว่าที่คิดมาก

“วันที่ 8 มีนาคม 2021 ประณัยยา ภรรยาที่รักของผม ได้ให้กำเนิดเด็กชาย อาเธอร์ ผู้ร่าเริงสุขภาพดี ผมโล่งใจมากที่การผ่าคลอดเป็นไปอย่างราบรื่น แม้ 2-3 เดือนต่อมาจะยากลำบากเช่นครอบครัวอื่นที่เพิ่งมีสมาชิกใหม่

ช่วงเวลาแห่งความสุขในฐานะครอบครัวเล็ก ๆ กลับโชคร้ายที่ภาวะวิตกกังวลของประณัยยาเริ่มแผ่ขยาย ทวีความรุนแรงขึ้น เธอตกลงในภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

พวกเราทำทุกทางเท่าที่จะทำได้ เสาะแสวงหาความช่วยเหลือที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่แม้จะพยายามเท่าไร เราก็สูญเสียประณัยยากับอาเธอร์ไป เมื่อวันที่ 1 กันยายน ในปีนั้น”

‘ซึมเศร้าหลังคลอด’ รู้ก่อน รักษาก่อน จะสูญเสียคนในครอบครัว เฮมิช มากอฟฟิน

เฮมิช มากอฟฟิน กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ ‘ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รู้ก่อน รักษา กลับมาเป็นตัวเอง’ ณ ร้านซีเอ็ด สาขา เซ็นทรัล บางนา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565

หลังการสูญเสีย เฮมิช และครอบครัวได้ต่อสู้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอดต่อไป ด้วยการหาหนทางสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้มาให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้

‘ซึมเศร้าหลังคลอด’ รู้ก่อน รักษาก่อน จะสูญเสียคนในครอบครัว คิม จงสถิตย์วัฒนา

  • ที่มาของหนังสือ

คิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการจัดทำหนังสือสือเล่มนี้ มาจากเหตุผลส่วนตัว ที่เกิดเหตุการณ์น่าเศร้า

“ต้องสูญเสียญาติใกล้ชิดที่รัก คือคุณประณัยยา อุลปาทร มากอฟฟิน และหลานชาย น้องอาเธอร์ มากอฟฟิน จากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

จึงสนใจศึกษาค้นหาหนังสือเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเล่มที่ดีที่สุดจากทุกมุมโลกมาแปลให้คนไทยได้อ่านและตระหนักถึงภัยอันตรายของภาวะนี้

และพบความจริงว่าผู้หญิง 1ใน 6 คน ที่เพิ่งกำเนิดบุตร มักตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และยังไม่รู้เกี่ยวกับโรคนี้มากนัก

เกิดผลกระทบทางจิตเวชศาสตร์ ต้องไปพบจิตแพทย์ เป็นเรื่องที่สังคมไทยยังไม่เปิดใจพูด และถูกตีตราไปในมุมมองที่ไม่ดี

หนังสือเล่มนี้ เขียนโดย แคเรน ไคลแมน และ วาเลอรี เดวิส ราสกิน สองผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะซึมเศร้าหลังคลอดโดยเฉพาะ

อธิบายความแตกต่างของภาวะ Baby Blue และภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้อย่างละเอียด มีแนวคิดให้คุณพ่อคุณแม่ เช็คดูอาการว่า เข้าข่ายภาวะโรคนี้หรือไม่

มีคำแนะนำสำหรับคนรอบข้างให้รู้วิธีสังเกต อาการคุณแม่มือใหม่อย่างใกล้ชิด เพื่อตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายของอาการ และรู้วิธีรับมือกับภาวะของโรคนี้ได้”

‘ซึมเศร้าหลังคลอด’ รู้ก่อน รักษาก่อน จะสูญเสียคนในครอบครัว

ทางด้าน เฮมิช มากอฟฟิน ก็ได้กล่าวต่อว่า

“หลังจากเกิดเรื่องราวที่น่าเศร้า ผมได้พยายามเยียวยาสภาพจิตใจตัวเองให้ก้าวเดินต่อไป และคิดแง่บวกว่าการสูญเสียครั้งนี้จะสามารถทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้บ้าง

ประกอบกับภรรยาของผมมีน้ำใจชอบช่วยเหลือคนอยู่แล้ว เขาตั้งใจว่า หากเขาดีขึ้น จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์เพื่อช่วยเหลือคุณแม่ที่ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าแบบนี้

ผมจึงก่อก่อตั้ง The Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation (PAM Foundation) ขึ้นมา โดยมีภารกิจ 3 ด้าน

1) สร้างความตระหนักรู้ เรื่องภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและสุขภาพจิตสำหรับคุณแม่ ให้ความรู้การเตรียมตัวเป็นพ่อแม่มือใหม่ เผยแพร่ภาวะนี้ไปสู่สาธารณะมากขึ้น

2) การดูแลรักษา ปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ หรือไปพบจิตแพทย์ ในประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เป็นจิตแพทย์ด้านคุณแม่หลังคลอดโดยตรง

3) การสนับสนุนการวิจัยภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและสุขภาพจิตของคุณแม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยังมีแม่อีกหลายคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายแบบนี้

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ หากเราสร้างความตระหนักรู้ ให้ความรู้ เปิดโอกาสให้ออกมาแบ่งปันประสบการณ์ พูดคุย ปรึกษากัน จะเป็นประโยชน์ และพบแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือได้ทัน”

‘ซึมเศร้าหลังคลอด’ รู้ก่อน รักษาก่อน จะสูญเสียคนในครอบครัว เปิ้ล จริยดี สเปนเซอร์

ขณะที่ เปิ้ล จริยดี สเปนเซอร์ เจ้าของ Woofpack Building คุณแม่ลูกสอง กล่าวว่า ตัวเองเคยเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ที่ต้องรับการรักษานานกว่า 6 เดือน

“จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นหลังจากคลอดลูกคนที่สอง ทั้งที่ตอนท้องลูกคนแรกไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ พอคลอดลูกคนที่สองผ่านไปไม่กี่เดือน เริ่มมีอาการร้องไห้ง่ายมาก ร้องแบบไม่มีเหตุผล

จากคนที่มองโลกในแง่บวก ชีวิตมีความสุขเสมอ กลับมีความคิดลบขึ้นมาว่า การมีลูกไม่มีความสุข ซึ่งช่วงแรกตนคิดว่าเกิดจากการเหนื่อย พักผ่อนน้อยเพราะเลี้ยงลูก

แต่อาการของภาวะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ เริ่มหงุดหงิดจากการให้นมลูกจากเต้า ไปจนถึงขั้นไม่อยากเห็นหน้าลูก เริ่มอาละวาดมากขึ้น

จากคนที่ไม่เคยเข้าใจว่าคนที่ฆ่าตัวตายเขาทำได้อย่างไร มาวันหนึ่งกลับเกิดความคิด...ไม่อยากอยู่ในโลกนี้อีกต่อไป

จุดที่เลวร้ายที่สุด ยื่นคำขาดกับสามีว่า ถ้าไม่เอาลูกไปไกล ๆ ฉันจะเขวี้ยงลูกลงพื้นเดี๋ยวนี้เลย!! ซึ่งความน่ากลัวคือ เราพูดได้อย่างไม่เสียใจเลย เหมือนเรารู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ”

นั่นคือจุดพลิกผันทำให้เธอตัดสินใจไปพบแพทย์เพื่อรักษาชีวิตครอบครัว และเข้ารับการรักษาจนกระทั่งอาการดีขึ้น

“ในฐานะคุณแม่คนหนึ่งที่เคยผ่านภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมาแล้ว สิ่งที่อยากจะแนะนำแม่หลังคลอดทุกคน คือ เมื่อคุณรู้ว่ากำลังเข้าข่ายอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

สิ่งแรกคือ ต้องยอมรับความจริง ว่าเราไม่โอเคแล้ว ขั้นต่อไปคือเปิดใจ ปรึกษาพูดคุยกับคนในบ้านหรือเพื่อน หากไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ โรคนี้หากเรารู้ทัน รู้เร็ว มันสามารถรักษาให้หายได้”

‘ซึมเศร้าหลังคลอด’ รู้ก่อน รักษาก่อน จะสูญเสียคนในครอบครัว คุณหมอคิว นพ. สิทธิกร ปรีชาวุฒิเดช

ทางด้าน นายแพทย์ สิทธิกร ปรีชาวุฒิเดช อดีตจิตแพทย์โรงพยาบาลสุไหงโกลก อาจารย์แพทย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า

“สามี และคนรอบข้าง ต้องคอยสังเกตอาการของคุณแม่มือใหม่ เข้าใจเขา ให้เขาได้ระบายความทุกข์ใจ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม รวมทั้งหมั่นสังเกต 5 อาการหลัก ๆ

เช่น เศร้า อ่อนไหวง่าย, ร้องไห้ง่าย, มีความวิตกกังวลในการเลี้ยงลูกว่าจะทำได้ไม่ดี, มีอาการนอนไม่หลับ, มีความคิดด้านลบต่อตนเอง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า

หากคุณแม่มือใหม่เข้าข่าย 5 อาการนี้ ควรรีบมาพบแพทย์

คุณแม่มือใหม่หลังคลอด ต้องตระหนักและให้กำลังใจตัวเองว่า เราทำดีที่สุดแล้ว ปล่อยวางความกดดัน ลดการเล่นโซเชียลมีเดีย เพื่อไม่สร้างการเปรียบเทียบวิธีการเลี้ยงลูกของตนเองกับผู้อื่น

เชื่อมั่นวิธีการเลี้ยงลูกให้เป็นธรรมชาติมากกว่าเชื่อในตำรา แค่ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม เพราะการเลี้ยงลูกในแต่ละครอบครัวมีบริบทต่างกัน”

‘ซึมเศร้าหลังคลอด’ รู้ก่อน รักษาก่อน จะสูญเสียคนในครอบครัว

  • คู่มือสำหรับคุณแม่มือใหม่

หนังสือ ‘ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รู้ก่อน รักษา กลับมาเป็นตัวเอง’ เขียนโดย แคเรน ไคลแมน (Karen Kleiman) และ  วาลารี เดวิส ราสคิน (Valerie Davis Raskin) แปลโดย อรดา ลีลานุช, สำนักพิมพ์ นานมีบุคส์

เจาะลึกเรื่องราว ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ที่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ เพื่อช่วยประคับประคองคนที่เผชิญปัญหาและคนรอบข้าง ให้มีพลังบวก ให้คุณแม่หันกลับมารักและดูแลตัวเอง

เนื้อหามาจากประสบการณ์ตรง มีเช็คลิสต์ให้สำรวจอาการ ขั้นตอนการเข้ารับคำปรึกษา การบำบัดโดยใช้ยา การปรับฮอร์โมน ตัวอย่างผู้รับการรักษา กรณีศึกษา และคำแนะนำวิธีรับมือปัญหานี้ให้กับสามี