เบิกไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ปมเลิกสัญญา “บัตรทอง”?
"สปสช." ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการเอกชน 9 แห่ง รวมทั้งการยกเลิกการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ พร้อมทั้งร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เรียกเงินคืน แจ้งสภาวิชาชีพ กระทบประชาชนราว 200,000 คน
วานนี้ (19 ก.ย.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าว การยกเลิกสัญญาหน่วยบริการเอกชน 9 แห่ง รวมทั้งการยกเลิกการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ พร้อมทั้งร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เรียกเงินคืน แจ้งสภาวิชาชีพ หลังผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขพบเอกสารหลักฐานว่ามีการเบิกค่าคัดกรองเมตาบอลิกไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 แต่ยกเว้นให้ผู้ป่วยที่มีนัดฟอกไต นัดผ่าตัดหัวใจ สวนหัวใจใส่บอลลูน ใส่สเต็นท์ ยังคงรับบริการได้ตามนัดเหมือนเดิม และผู้ป่วยที่นอนรักษาอยู่จนกว่าจะหาย ส่วนประชนประมาณ 200,000 คน ต้องเลือกบริการรักษาใหม่
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สปสช. ยกเลิกสัญญาบริการสาธารณสุขโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง 30 บาทเนื่องจากผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขพบเอกสารหลักฐานว่ามีการเบิกไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยก่อนหน้านี้ มติบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ก็ให้ยกเลิกสัญญาโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกชมชุน 64 แห่ง หลังจากขยายผลการตรวจสอบ และพบการทุจริตซึ่งได้มีการดำเนินคดีไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563 การยกเลิกสัญญาครั้งนั้นกระทบประชาชนประมาณ 800,000 คน
สิทธิบัตรทอง 30 บาทมีมาตั้งแต่ปี 2545 ผู้ที่มีสัญชาติไทย มีเลขบัตรประชาชน 13 หลักของกรมการปกครอง และไม่มีประกันสุขภาพอื่น สามารถใช้สิทธิดังกล่าวใช้ในการรักษาพยาบาล รวมไปถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ ตั้งแต่โรคทางกาย ไปถึงโรคทางจิตเวช บริการทำคลอดบุตร บริการทำทันตกรรม กรณีเกิดอุบัติเหตุสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการที่ใกล้ที่สุด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบจะเบิกค่าจ่ายจากสปสช. แต่สิทธิบัตรทองไม่สามารถใช้ได้กับการแปลงเพศ ผสมเทียม ศัลยกรรมความงาม บำบัดยาเสพติด การปลูกถ่ายอวัยวะ
รพ.ทั้ง 9 แห่งที่ถูกยกเลิกสัญญาไปนั้น ดูแลประชากรปฐมภูมิ 220,313 คน ข้อมูลจากปี 2564 ทั้งปี และปี 2565 (9 เดือน) พบว่ามีประชากรใช้บริการ 99,947 คน คิดเป็น 45.36 % ดูแลประชากรรับส่งต่อ 696,103 คน ในจำนวนนี้จากข้อมูล 6 เดือนล่าสุดพบว่า มีประชากรใช้บริการ 18,200 คน หรือประมาณร้อยละ 2.61% ขณะเดียวกันมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวน 22,246 คน ซึ่งจากนี้สปสช.จะต้องหารพ.รองรับผู้ป่วยที่มีนัดผ่าตัด ทำคลอด รังสีรักษาและเคมีบำบัด อัลตร้าซาวด์ ตรวจซีทีสแกน (CT Scan) ตรวจ MRI รวมถึงกรณีส่งต่อจาก รพ.ทั้ง 9 แห่งไปรักษาที่อื่น ส่วนผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องตรวจติดตามอาการและรับยาต่อเนื่องได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่นและหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ต้องยอมรับว่าการมี “สิทธิบัตรทอง 30 บาท” มีส่วนช่วยให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น ซึ่งจากนี้ไปรูปแบบการให้บริการในอนาคตอาจจะต้องนำระบบการแพทย์ทางไกล การคัดกรองโรคและดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อยกับร้านขายยา คลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาล ซึ่งสปสช.จะต้องปรับรูปแบบการเบิกจ่ายให้รัดกุมมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย