“จัดการหนี้” โจทย์ใหญ่ประเทศ
สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่แล้ว ซึ่งจะช่วยเหลือและบรรเทาภาระของผู้กู้ยืมเงิน กยศ. หรือผู้ค้ำประกัน ให้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ โดยงดเว้นการเก็บดอกเบี้ย และงดค่าปรับผิดนัดชำระ
“ปัญหาหนี้สิน” กำลังเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ จึงไม่แปลกที่ตอนนี้เป็นนโยบายที่แต่ละพรรค หยิบยกมาหาเสียงกันตั้งแต่วันนี้ ถึงขั้นบางพรรคเสนอพักหนี้ทั่วไป งดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) บางพรรคเสนอตั้งกองทุน เพื่อบรรเทาและแก้ปัญหา เพราะต่างทราบดีว่า กำลังเป็นความทุกข์ของประชาชน
ส่วนรัฐบาลก็ทราบดีว่า กำลังก่อปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะหนี้คนตัวเล็ก รายย่อย ล่าสุด จึงมีการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้หารือถึงความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขหนี้สิน
ประเด็นหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ที่ประชุมฯ หารือถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ กยศ. ซึ่งพบว่า มีผู้ยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้ 3.4 แสนราย (เพิ่มขึ้น 1.1 แสนราย) จากผู้มีสิทธิยื่น 2 ล้านราย โดย กยศ. อยู่ระหว่างทำระบบรองรับการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านช่องทางออนไลน์
ล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ซึ่งจะช่วยเหลือและบรรเทาภาระของผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกัน ซึ่งทำสัญญาก่อนที่ร่างกฎหมายที่แก้ไขจะใช้บังคับใช้ ให้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ โดยให้งดเว้นการเก็บดอกเบี้ย และคิดค่าปรับผิดนัดชำระ
ประเด็นหนี้ข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ พบว่าแก้ไขหนี้สินสำเร็จแล้ว 64% โดยแก้ไขหนี้ข้าราชการตำรวจสำเร็จ 6,145 ราย เพิ่มขึ้น 2,754 ราย
สำหรับข้าราชการครู ธนาคารออมสินได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ของข้าราชการครูในทุกโครงการเหลือไม่เกิน 4.9% และมีโครงการสร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 41,126 ราย ไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 3,623 ราย คิดเป็น 8.9% ของผู้เข้าร่วม
ส่วนการปรับปรุงโครงสร้าง/ไกล่เกลี่ยหนี้ พบว่า ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 6 แห่ง ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ 2,250,854 บัญชี คิดเป็น 958,025 ล้านบาท และทาง "ธนาคารแห่งประเทศไทย" มีมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาว ช่วยเหลือลูกหนี้ 3.89 ล้านบัญชี คิดเป็น 2.98 ล้านล้านบาท
เราเห็นว่า รัฐบาลและแต่ละพรรคการเมืองกำลังเคลื่อนตัวแก้ปัญหาหนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งนี้ นโยบายที่ดีต้องไม่สร้างปัญหาในอนาคต ยกตัวอย่าง หนี้ กยศ. ที่พรรคการเมืองเสนอ ยกเลิกคิดดอกเบี้ย และค่าปรับ อาจจะสร้างปัญหาใหญ่ที่เรียกว่า สร้างนิสัย ‘ชักดาบ’
และสุดท้าย กยศ. จะหมดพลังในการดำเนินกิจกรรมต่อ ถึงขั้นนี้ ฝากความหวังที่วุฒิสภา จะคว่ำร่าง พ.ร.บ. กยศ. หรือไม่ เราหวังว่าวุฒิสภา จะเห็นภาพรวม มากกว่าจะตอบโจทย์พรรคการเมืองที่มุ่งประชานิยม หวังแค่ผลทางการเมืองจนละเลยผลกระทบระยะยาว