ข้อควรรู้ "ผ่าตัดกระเพาะ" ต้องอ้วนแค่ไหน ? หลังผ่าดูแลตัวเองอย่างไร

ข้อควรรู้ "ผ่าตัดกระเพาะ" ต้องอ้วนแค่ไหน ? หลังผ่าดูแลตัวเองอย่างไร

คนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะ “อ้วน” หรือคนที่เดินเข้ามา 3 คน จะมีคนที่มีภาวะอ้วน 1 คน การผ่าตัด "กระเพาะอาหาร" จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อรักษา "โรคอ้วน" แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถผ่าตัดได้ ต้องมีข้อบ่งชี้และควรศึกษาการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดด้วย

"โรคอ้วน" นับเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสนใจ รายงานจาก World Obesity Federation ปี 2565 พบว่า ทั่วโลกมีคนเป็นโรคอ้วน ประมาณ 800 ล้านคน ในจำนวนนี้ 39 ล้านคน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และอีกประมาณ 340 ล้านคน เป็นเด็กและวัยรุ่นอายุ 5-19 ปี

 

ประเทศไทย ปี 2557 ถึงปัจจุบัน พบคนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะ “อ้วน” หรือคนที่เดินเข้ามา 3 คน จะมีคนที่มีภาวะอ้วน 1 คน และมีคนไทยที่มีรอบเอวเกิน “อ้วนลงพุง” กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ทั้ง 2 กลุ่มเสี่ยงป่วนเป็นโรค NCDs นอกจากนั้น ในภูมิภาคอาเซียน ไทยมีความชุกของโรคอ้วนในประชากรเป็น อันดับ 2 รองมาจากประเทศมาเลเซีย

 

"โรคอ้วน" ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอาหาร การออกกำลังกาย กรมอนามัย เผยว่า การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง และมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น เนื่องจากวัยทำงานส่วนใหญ่จะนั่งทำงานนานถึง 8 ชั่วโมง

 

ดัชนีมวลกายเพิ่ม อายุขัยเฉลี่ยลด

 

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 “พญ.ภิรญา ใจดีเจริญ” ผู้จัดการแผนกครีเอทีฟ มาร์เก็ตติ้ง โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัว ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องลดอ้วนลดโรคภาคตะวันออก ณ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 อินเตอร์ โดยระบุว่า อนาคตในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ประชาชนจะเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิตสูง โดยผู้ที่มีตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปทุก ๆ ค่าดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้นครั้งละหนึ่ง จะทําให้ผู้ป่วยมีอายุขัยเฉลี่ยลดลง 8-10 ปีเทียบกับคนน้ำหนักปกติ ซึ่งในทางการแพทย์จะแนะนำให้ลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

ทำความเข้าใจ ผ่าตัดกระเพาะ

 

"ในทางการแพทย์จะแนะนำให้ลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย แต่หลายคนไม่สามารถลดน้ำหนัก ด้วยวิธีดังกล่าวได้ ยกตัวอย่างเช่น คนที่น้ำหนักตั้งต้น 150 กิโลกรัม หากต้องการจะลดน้ำหนักลงให้เหลือ 75 กิโลกรัมได้ในระยะเวลาหนึ่งปีนั้น จะทําได้ยากเพราะน้ำหนักเยอะ หัวเข่ามักจะมีปัญหาไม่สามารถออกกําลังกายหนักๆ ได้ หรือแค่เดินก็จะรู้สึกเหนื่อย"

 

ดังนั้น การผ่าตัดกระเพาะอาหาร เพื่อลดน้ำหนัก จึงเป็นหนึ่งทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักแบบรวดเร็ว และเห็นผลได้จริง นอกจากนี้แล้ว การผ่าตัดกระเพาะสามารถรักษาโรคร่วมต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นต้น ทําให้หลังการผ่าตัดผู้ป่วยส่วนใหญ่ สามารถหยุดยาโรคประจําตัวหรือลดยาที่รับประทานลงได้

 

อ้วนแค่ไหน ถึงจะผ่าตัดกระเพาะได้

 

“นพ.พลเดช วิชาจารย์ ศัลยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดผ่านกล้อง จุฬารัตน์ชลเวช อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อบ่งชี้การผ่าตัด ดูเรื่องของความรุนแรงของความอ้วน จากการดูดัชนีมวลกาย เอาน้ำหนัก (กก.) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง โดยคนไทยดัชนีมวลกายตั้งแต่ 23 ขึ้นไป คือ น้ำหนักเกิน และดัชนีมวลกาย 25 ถือว่าอ้วน

 

เกณฑ์ผู้ที่สามารถผ่าตัดกระเพราะ

 

  • ดัชนีมวลกายตั้งแต่ 37.5 ขึ้นไป มีหรือไม่มีโรคร่วม
  • หรือ 32.5 ขึ้นไป และมีโรคสัมพันธ์กับความอ้วน
  • หรือ 30 ขึ้นไป และมีโรคเบาหวาน โรคเมตาบอลิก ใช้วิธีรักษาที่ไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล
  • ต้องอายุ 18 – 65 ปี
  • กรณีอายุน้อยกว่านั้น ต้องคุยกับแพทย์ถึงความจำเป็นและความเสี่ยงอย่างไร

 

 

ข้อควรรู้หลังผ่าตัดกระเพาะ

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่าตัดกระเพาะแล้ว การดูแลรักษา “นพ.พลเดช อธิบายว่า ผู้ป่วยต้องศึกษาว่าชีวิตเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร หลักการของการผ่าตัดกระเพาะรักษาโรคอ้วน ปัจจุบัน คือ การผ่าตัดกระเพาะให้เป็นท่อเล็กๆ ยาวๆ ตำแหน่งกระเพาะที่ตัดออกไปจะมีตำแหน่งฮอร์โมนที่ทำให้หิว ดังนั้น หลังผ่าตัดคนไข้จะไม่หิว ไม่ค่อยอยากอาหาร

 

แนะนำ อาหารหลังผ่าตัด 

 

ช่วงแรกเป็นช่วงที่ลงได้ดีที่สุด 3-9 เดือน การกินได้น้อยลง สิ่งที่ต้องปฏิบัติตัว คือ อาหารยังสามารถมีความสุขได้ แต่ต้องเลือกอาหารที่เหมาะสมมีประโยชน์

 

อันดับแรก คือ ปริมาณ พอกินได้น้อยก็จะเลือกกินที่มีประโยชน์ อาหารหลังผ่าตัดส่วนใหญ่จะแนะนำโปรตีน ลดคาร์โบไฮเดรต ข้าว แป้ง น้ำตาล เพราะร่างกายดูดซึมเป็นพลังงานได้เร็ว ระยะเวลาหลังผ่าตัดช่วงแรก จะต้องเลือกกินอาหารเหลวข้น อ่อนนิ่ม เพื่อให้รอยตัดของกระเพาะหายดี หากรีบกินมากเกินไปจะทำให้มีอาการจุก อาเจียน เพิ่มความเสี่ยงรอยตัดของกระเพราะปริ และ รั่ว ดังนั้น การปรับตัวเรื่องการกินในช่วงแรกสำคัญ โดยแพทย์จะมีการแนะนำ

 

หลังจาก 2 สัปดาห์ – 1 เดือน จะเริ่มเป็นอาหารอ่อน

หลังจาก 1 เดือน จะเริ่มเป็นอาหารแข็ง

 

ขณะเดียวกัน ปริมาณอาหารที่กินได้จะลดลงอยู่ที่ราว 4-5 ช้อน จึงให้เลือกกินเนื้อสัตว์เป็นหลักและเคี้ยวให้ละเอียด ป้องกันอาการจุก แน่น อาเจียน หลังจากกินช้อนแรกไปแล้ว เว้นระยะเวลา 10-15 นาที ดังนั้น มื้อหนึ่งอาจต้องใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงในการกิน 

 

และ หลังกินอาหาร ควรจะมีการเดินเพื่อให้อาหารผ่านลงลำไส้ได้เร็ว เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องจุกแน่น

 

ขณะเดียวกัน การดื่มน้ำ จำเป็นต้องดื่มให้เพียงพอ หากร่างกายเผาผลาญมาก ดื่มน้ำไม่พอ ไตทำงานหนัก จะมีปัญหาไตวายเฉียบพลันตามมา 1 วัน ควรจะได้ 1.5 – 2 ลิตร โดยให้แบ่งเป็นแก้วเล็ก จิบบ่อยๆ

 

สิ่งอื่นๆ ที่ต้องปรับพฤติกรรมตามมา คือ อาการท้องผูก เพราะเรากินอาหารได้น้อยลง หลังจากที่ผ่าตัด ปริมาณอาหารไม่เยอะ และช่วงแรกอาจจะไม่ได้ทานอาหารที่มีกากใย ดังนั้น อุจจาระจะไม่มี บางคนอาจจะ 5 วัน - 1 สัปดาห์ ดังนั้น จะต้องดูว่าทานผักเพียงพอ ดื่มน้ำเพียงพอหรือไม่ หากดื่มน้ำเพียงพอ ทานผักมีกากใยพอก็จะเริ่มมีอุจจาระ แต่หากบางคนทำตามแล้วไม่ถ่ายอาจจะต้องทานยาระบาย

 

การออกกำลังกาย การผ่าตัดเป็นการรักษา เป็นตัวช่วยในการเริ่มคุมอาหารได้ดี และส่งเสริมให้ออกกำลังกายได้ง่ายขึ้น การที่ทำให้น้ำหนักลดได้ต่อเนื่อง ยาวนาน ระยะยาว การออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็น มีการศึกษาว่า หลังผ่าตัดปริมาณพลังงานที่ร่างกายใช้แต่ละวัน จะลดลง ดังนั้น เมื่อพลังงานปริมาณใช้ลดลง อาหารที่ทานเข้าไปก็จะเพียงพอต่อการใช้ชีวิตแต่ละวัน และเข้าสู่สมดุล และน้ำหนักเริ่มคงที่ราว 18 เดือน

 

หากต้องการให้น้ำหนักคงที่ ควรจะมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม โดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

 

“ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงาน” ไขมันที่เก็บไว้ คือ การคาดิโอ อาจจะไม่เน้นการออกกำลังกายหนักแบบนักกีฬา แต่การออกกำลังกายลดไขมันได้ดีที่สุด คือ การออกกำลังกายในช่วงที่หัวใจเต้นไม่เร็วมาก ราว 120 – 130 ครั้งต่อนาที จะเผาผลาญไขมันได้ดีที่สุด ดังนั้น ช่วงแรกหลังผ่าตัด อาจจะเน้นให้ออกกำลังกายเบาๆ หลังช่วง 2 สัปดาห์แรก เดินเบา วิ่งสลับเดิน ให้หัวใจเต้นเร็วพอประมาร จะช่วยเผาผลาญไขมันได้ดี

 

และ “การออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อ” หลังจาก 1-2 เดือน สามารถออกกำลังกายที่เพิ่มความแข็งแรงของแกนกลางลำตัว เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยการเล่นเวท เพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อ ข้อดี คือ เมื่อกล้าเนื้อใหญ่ขึ้น เราอยู่เฉยๆ กล้ามเนื้อก็เผาผลาญพลังงานให้เรา การออกกำลังกายเล่นเวท หรือ การเพิ่มความแข็งแรงของแกนกลางลำตัว แนะนำว่าควรจะทำหลังจาก 1-2 เดือนไป เพื่อรอให้ในร่างกายหายดี ป้องกันรอยเย็บของกระเพาะปริ