ถอดบทเรียนปาร์ตี้ฮาโลวีนอิแทวอน วิธีเอาตัวรอดจากการติดอยู่ท่ามกลางฝูงชน
10 วิธีเอาตัวรอดจากการติดอยู่ท่ามกลางฝูงชนจำนวนมาก ถอดทบเรียนจากงานเทศกาลฮาโลวีน ย่านอิแทวอน ประเทศเกาหลีใต้ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 150 ราย และมีคนไทยเสียชีวิต 1 ราย จากเบียดกันของฝูงชน และขาดอากาศหายใจ
เหตุการณ์เบียดกันของผู้คนจำนวนมากจนทำให้เกิดการเสียชีวิตถูกพูดถึงบ่อยครั้ง โดยเฉลี่ยทุกๆ ปีจะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวกว่า 380 คน ซึ่งเหตุการณ์สลดล่าสุดเกิดขึ้นในงานเทศกาลฮาโลวีน ย่านอิแทวอน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 150 ราย และมีคนไทยเสียชีวิต 1 ราย จากเบียดกันของฝูงชน และขาดอากาศหายใจ
เจ้าหน้าที่ดับเพลิงกรุงโซล อธิบายว่าจุดเกิดเหตุเป็นถนนเล็กๆ ที่มีลักษณะเป็นเนิน ซึ่งมีผู้คนแออัดกันชนิดยืนเบียดกำแพงทั้งสองฝั่ง จนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่ก็ยังมีคนจากด้านหลังเบียดเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่งฝูงคนที่อยู่ด้านหน้าบนเนินเกิดล้มลงมา ทำให้คนที่อยู่ด้านล่างล้มทับต่อกันเป็นโดมิโน หลายคนถูกทับอยู่อย่างนั้นนานเกือบชั่วโมง กว่าที่จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รู้จักย่าน ‘อิแทวอน’ หลังเหตุโศกนาฏกรรมปาร์ตี้ฮาโลวีน
เมื่อย้อนดูเหตุการณ์เบียดกันของผู้คนจำนวนมากจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในปีผ่านๆ มา บทความชื่อ Ten tips for surviving a crowd crush ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ theconversation อธิบายว่าเหตุการณ์ Crowd Crush หรือ การเบียดกันของฝูงชนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในงานพิธีทางศาสนา งานกีฬา และ งานเฉลิมฉลอง อย่างเช่น
- ปี 2533 งานแสวงบุญพิธีฮัจญ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เกิดเหตุเหยียบกันในอุโมงค์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1,426 คน ที่นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่สุด
- ปี 2565 มีการระงับความรุนแรงในการแข่งขันฟุตบอลในอินโดนีเซีย ทำให้ผู้คนเบียดออกจากสนาม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 125 คน
- ปี 2564 ผู้คนเบียดกันในงานแสดงดนตรีของศิลปินแร็ปเปอร์ ทราวิส สก็อตต์ จนมีผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บกว่า 100 คน
- วิธีเอาตัวรอดจากการติดอยู่ท่ามกลางฝูงชนจำนวนมาก
นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน เดิร์ก เฮลบิง (Dirk Helbing) นักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมฝูงชน อธิบายว่าเมื่อผู้คนอยู่รวมกันมากกว่า 6 คนต่อตารางเมตร ทำให้เกิดความอึดอัดและเมื่อเกิดความเคลื่อนไหวแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็จะส่งผลถึงคนรอบข้างคล้ายแผ่นดินไหว จากนั้นสิ่งที่ตามมาคือผู้คนบางส่วนจะล้มลง โดนเหยียบ หรือคนที่โดนเบียดจะขาดอากาศหายใจ
โดยวิธีเอาตัวรอดจากเหตุการณ์นี้คือ
1.มองสถานการณ์ตรงหน้า พร้อมประเมิน
เมื่อเราตกอยู่ในฝูงชน สิ่งแรกที่ควรทำคือการมองสถานการณ์ตรงหน้า พร้อมประเมินว่าเราอยู่ตรงไหน ควรไปจุดไหนที่ผู้คนบางตา หรือหนาแน่นน้อยที่สุด รวมถึงการมองไปข้างบนเพื่อหาทางออกให้เร็วเช่นการปีนกำแพง หรือปีนรั้ว
2. อย่าลังเลที่จะออกไปในที่โล่ง
การอยู่ท่ามกลางฝูงชนจำนวนมาก พื้นที่ว่างจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ และยิ่งนานไปการเคลื่อนไหวก็จะทำได้น้อยลง เมื่อมองหาที่ว่างแล้ว เมื่อไม่สบายใจ หรือเกิดการหายใจติดขัด อย่าลังเลที่จะออกไปจากฝูงชน โดยไม่ต้องเสียดายว่าพลาดอะไรข้างหน้าบ้าง
3. รักษาสมดุลร่างกาย ด้วยการยืนตรง
หากประเมินแล้วว่าจุดที่ยืนอยู่ไม่สามารถฝ่าฝูงชนออกไปได้ ให้รักษาสมดุลยืดพื้นที่ยืน และยืนตัวตรงเข้าไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการล้ม หรือถูกกดทับจากหลายทิศทาง หากล้มลงไปจะเกิดปรากฏการณ์คล้ายเกมโดมิโนและยากต่อการกลับมายืน ซึ่งเสี่ยงต่อการโดนเหยียบหรือขาดอากาศหายใจมากขึ้น
4. ควบคุมการหายใจ
ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติมักจะกรีดร้อง หรือแม้แต่ช่วงที่เบียดเสียดกันก็จะเกิดการด่าทอ แต่วิธีที่สุดคือการหายใจเข้าลึกๆ และควบคุมลมหายใจไม่ควรตระหนกไปกับคนรอบข้าง
5. ยกแขนไว้ระดับหน้าอก
การทำท่าแขนไขว้ หรือยกแขนไว้ที่ระดับหน้าอกช่วยเพิ่มพื้นที่ว่างข้างหน้า นอกจากนี้ยังสามารถช่วยป้องกันซี่โครงและปอดเมื่อเกิดการหกล้ม
6. ไหลไปกับฝูงชน
หากอยู่ท่ามกลางฝูงชน และถูกผลัก ให้ทำการไหลไปกับฝูงชนมากกว่าการย้อนกลับ เพื่อรักษาสมดุลพื้นที่ของตนเองเอาไว้ นอกจากนี้การเดินทวนกระแสฝูงชนยังทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมากกว่าไหลไปกับผู้คน
7. ไม่ควรอยู่ติดกำแพงหรือหลังเสา
ไม่ควรอยู่ติดกำแพง หรือหลังเสาที่ไม่สามารถปีนขึ้นได้ เนื่องจากบริเวณนั้นเมื่อเกิดการล้มทับจะทำให้ไม่มีทางออกและเสี่ยงต่อการถูกล้มทับจากคนหลายทิศทางได้ง่าย นอกจากนี้บริเวณกำแพงหรือหลังเสายังมีความกดอากาศสูง
8. ประเมินว่าควรเข้าไปในฝูงชนไหม
เมื่อเกิดงานเทศกาล และพิธีสำคัญจุดมุ่งหมายทุกคนคือทางเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้นบางครั้งก็ต้องประเมินสถานการณ์ด้วยว่าเราควรที่จะไปเข้าร่วมขบวนฝูงชนไหม ซึ่งมีวิธีการประเมินง่ายๆ คือ
เดินแบบไม่โดนตัวกันกับคนรอบข้าง แสดงว่าความหนาแน่นยังน้อยกว่า 3 คนต่อตารางเมตร ลักษณะนี้สามารถเข้าร่วมกับฝูงชนได้แบบปลอดภัย
เดินแบบชนกับคนรอบข้างแบบไม่ตั้งใจ ลักษณะนี้ความหนาแน่นของฝูงชนอยู่ที่ประมาณ4-5 คนต่อตารางเมตร ไม่มีอันตรายในทันที แต่ควรย้ายออกจากศูนย์กลางของฝูงชน
หากไม่สามารถขยับมือได้อย่างอิสระ หรือเอามือจับใบหน้าไม่ได้ ลักษณะนี้คือกลุ่มฝูงชนที่มีความอันตราย
9. หากเกิดเหตุการณ์ตระหนก ไม่ควรวิ่งไปทางเดียวกัน
หากฝูงชนเกิดความตระหนกอย่างใดอย่างหนึ่ง มักจะส่งผลให้เกิดการวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นแล้วควรมองหาช่องทางอื่นๆ และประเมินสถานการณ์ พร้อมกับขยับออกห่างจากฝูงชนให้มากที่สุด
10. ช่วยเหลือกันและกัน
การออกจากฝูงชนได้นั้น บางครั้งต้องอาศัยการช่วยเหลือกันและกัน พร้อมทั้งการเป็นหนึ่งน้ำใจเดียว ดังนั้นอย่าลังเลที่จะช่วยเหลือคนรอบข้างเมื่อทำได้ หลีกเลี่ยงการทำให้คนรอบข้างสะดุด หรือแม้แต่การมองผู้น่าจะต้องการความช่วยเหลือแบบเร่งด่วน
----------------------------------
อ้างอิง: theconversation.com