ปัญหา "สายตา" ใครว่าเรื่องเล็ก ทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีรักษา

ปัญหา "สายตา" ใครว่าเรื่องเล็ก ทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีรักษา

ความผิดปกติทางสายตา นับเป็นปัญหาสำคัญของโลก ขณะที่ในไทยพบว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่มีปัญหา "สายตา" จะอายุ 50 ปีขึ้นไป และพบในผู้ที่อายุน้อยลงต่อเนื่อง การ "ปลูกถ่ายกระจกตา" แม้จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางรักษา แต่ก็ยังมีข้อจำกัด ผู้ป่วยต้องรอการปลูกถ่ายกว่า 3-5 ปี

ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประชากรทั่วโลกมีปัญหาทางสายตาประมาณ 2.2 พันล้านคน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากความผิดปกติทางสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือจากโรคต้อกระจก ที่ไม่ได้รับการแก้ไข รักษา

 

ผลสำรวจ The first rapid assessment of avoidable blindness (RAAB) ในประเทศไทย ระบุว่า "ตาบอด" สามารถป้องกันได้กว่า 92% และสามารถรักษาได้กว่า 76.8% โดยสาเหตุของสภาวะตาบอดเกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ

  • โรคต้อกระจก (Cataract)
  • โรคต้อหิน (Glaucoma)
  • โรคกระจกตา (Corneal Disease)

 

ซึ่งปัญหาทางการมองเห็นเหล่านี้มักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบัน เริ่มพบผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาในกลุ่มที่มีอายุเฉลี่ยน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

 

เมื่อใดที่ควรพบแพทย์ 

 

"นพ.ธีรวีร์ หงษ์หยก" แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตา และผ่าตัดแก้ไขสายตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัว ‘ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา’ ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยให้ข้อมูลว่า กระจกตา คือ ส่วนที่อยู่ด้านหน้าสุดของดวงตาดำ มีลักษณะโค้งใส มีทั้งหมด 5 ชั้น ทำหน้าที่ให้แสงผ่าน และหักเหแสงให้มาตกรวมกันที่จอตาด้านในเพื่อการมองเห็นที่ดีขึ้น โดยอาการที่บ่งบอกว่าตาเริ่มมีปัญหา และควรพบแพทย์ คือ 

  • เริ่มมีอาการมองไม่ชัดหรือเป็นฝ้าหมอก
  • ตาไม่สู้แสง
  • ค่าสายตาเปลี่ยนบ่อย
  • สายตาเอียงมากผิดปกติ
  • มองเห็นแสงฟุ้งๆ หรือเห็นแสงเป็นวงรอบเมื่อมองดวงไฟ
  • รู้สึกระคายเคืองขณะใส่คอนแทคเลนส์
  • เกิดอุบัติเหตุ
  • กระจกตาเป็นแผลหรือขุ่นมัว

 

อาจแสดงได้ว่ากระจกตาอาจเริ่มมีปัญหา จึงควรจะต้องมาพบแพทย์เพื่อทำการประเมินและวินิจฉัยอาการดังกล่าว โดยจักษุแพทย์จะตรวจตาอย่างละเอียด และอาจใช้เครื่องมือในการประเมินพยาธิสภาพของกระจกตา เช่น เครื่อง Corneal Topographer ซึ่งช่วยในการดูรูปร่างของกระจกตาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน

 

ปัญหา \"สายตา\" ใครว่าเรื่องเล็ก ทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีรักษา

 

สาเหตุปัญหากระจกตา

 

สำหรับ สาเหตุที่ทำให้กระจกตาขุ่น เป็นฝ้าขาว บวมขึ้น หรือ ทำให้กระจกตาโค้งเบี้ยวผิดรูปร่างไป ที่พบได้บ่อยใน "ต่างประเทศ" ได้แก่

  • โรคความเสื่อมของเซลล์กระจกตาด้านในจากพันธุกรรม เซลล์ด้านในของกระจกตามีหน้าทำให้กระจกตาใสโดยการควบคุมน้ำในกระจกตา เมื่อเสื่อมจึงทำให้กระจกตาบวม หนา เป็นฝ้าได้
  • โรคกระจกตาโก่งย้วย ที่อาจจะสัมพันธ์กับภูมิแพ้ที่ไม่ได้ควบคุม ทำให้ขยี้ตามาเป็นระยะเวลานาน จนเกิดภาวะกระจกตาอ่อนแอ บางลง และโก่งเบี้ยวผิดรูปไป

 

ส่วนใน "ประเทศไทย" พบกระจกตาขุ่นจากแผลติดเชื้อที่กระจกตาได้บ่อยกว่า

  • อาจเกิดจากการทำงาน การใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่ได้ดูแลให้ดี
  • หรือการขี่มอเตอร์ไซค์ที่ไม่ใส่หมวกกันน็อค ซึ่งจะช่วยป้องกันศีรษะและดวงตา
  • อีกสาเหตุที่พบบ่อย คือ กระจกตาเสื่อมบวมภายหลังการผ่าตัดตาที่ซับซ้อน
  • นอกจากนั้น กระจกตาเสื่อมจากพันธุกรรม หรือกระจกตาขุ่นผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ก็พบได้ไม่น้อยเช่นกัน

 

"ในต่างประเทศ ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระจกตาเสื่อมส่วนใหญ่จะอายุ 50 ปีขึ้นไป ขณะที่ ผู้ป่วยกลุ่มกระจกตาโก่งย้วยส่วนใหญ่จะอายุ 20-30 ปี เริ่มมีปัญหา บางคนใส่แว่น คอนแทคเลนส์พิเศษแล้วมองไม่เห็นก็ต้องผ่าตัดช่วย ส่วนการติดเชื้อพบได้หลายวัย ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน 20-40 ปี และอีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นตั้งแต่เกิด พบปัญหากระจกตาขุ่น แต่ก็สามารถผ่าตัดช่วยเหลือได้"

 

ทั้งหมดล้วนมีผลทำให้เกิดแผลเป็นฝ้าขาวที่กระจกตา กระจกตาบวมหรือความโค้งที่ผิดรูปร่างไป ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นได้อย่างรุนแรง หลายๆ โรคก็สามารถแก้ไขได้ โดยการ "การปลูกถ่ายกระจกตา" เพื่อให้กระจกตากลับมาใส และมองเห็นได้อีกครั้งหนึ่ง

 

ปัญหา \"สายตา\" ใครว่าเรื่องเล็ก ทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีรักษา

 

กลุ่มไหน ที่สามารถ ปลูกถ่ายกระจกตาได้

 

นพ.ธีรวีร์ อธิบายต่อไปว่า โรคกระจกตา หากเป็นระยะแรก หลายคนสามารถรักษาด้วยยาหรือคอนแทคเลนส์พิเศษ แต่หากเป็นระยะหลัง ต้องผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาซึ่งสามารถทำได้ทุกวัย หากมีข้อบ่งชี้และสุขภาพร่างกายพร้อมที่จะดมยาสลบผ่าตัดได้ ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงอายุ 90 ปี โดยข้อบ่งชี้ในการปลูกถ่ายกระจกตา ได้แก่ 

  • ทำให้การมองเห็นดีขึ้น เช่น กระจกตาขุ่นและบวมจากากรติดเชื้อ สายตาเอียงมาก 
  • กระจกตาทะลุ อาจะเกิดจากอุบัติเหตุ หรือติดเชื้อ 
  • กระจกตาติดเชื้ออย่างรุนแรง 
  • เพื่อความสวยงาม เปลี่ยนกระจกตาขุ่นให้ใส ซึ่งวิธีนี้ ในประเทศไทยไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากกระจกตายังขาดแคลน  

 

 

ปลูกถ่ายกระจกตา มีวิธีใดบ้าง 

 

"รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ" ประธานชมรมกระจกตาและการแก้ไขสายตาแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า วิธีการปลูกถ่ายกระจกตา จะเป็นการผ่าตัดเอากระจกตาของผู้ป่วยที่ขุ่นหรือเป็นโรคออก แล้วปลูกถ่ายด้วยกระจกตาของผู้บริจาค

 

ข้อดี ของการรักษาด้วยการปลูกถ่ายกระจกตา คือ จะช่วยแก้ไขปัญหาการมองเห็นของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ช่วยเสริมความแข็งแรงของกระจกตาในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาบางหรือทะลุ และช่วยควบคุมการติดเชื้อที่กระจกตาในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่กระจกตา

 

ซึ่ง การรักษา จะใช้กล้องผ่าตัดรุ่นใหม่ที่มีการผนวกเทคนิคที่ช่วยในการตรวจชั้นต่างๆ ของกระจกตาในระหว่างผ่าตัด (Microscope-integrated intraoperative optical coherence tomography) ช่วยให้การผ่าตัดกระจกตามีความแม่นยำมากขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ

 

1. การปลูกถ่ายกระจกตาทุกชั้น (Penetrating keratoplasty) กรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาขุ่นทุกชั้น (ซึ่งกระจกตามีทั้งหมด 5 ชั้นย่อย หรือ 3 ชั้นหลัก คือ ชั้นผิวหรือชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นหรือชั้นเยื่อบุ) หรือทำงานได้ไม่ดี การผ่าตัดวิธีนี้ จะผ่าตัดโดยเอากระจกตาทุกชั้นที่มีพยาธิสภาพออกและนำกระจกตาที่มีความหนาแบบเดียวกันและมีทุกชั้นใส่เข้าไปแทนที่ โดยใช้ระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไปในการปรับไหม

 

2. การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้น (Lamellar keratoplasty) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาเสียหายเฉพาะบางส่วน ก็จะทำการปลูกถ่ายเฉพาะบางชั้น วิธีนี้บางคนใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไปก็สามารถมองเห็นได้ ดังนีั

  • การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นบน (Anterior lamellar keratoplasty) ซึ่งมีข้อดี คือ ไม่ต้องตัดกระจกตาชั้นเยื่อบุโพรงหรือกระจกตาชั้นในสุดทิ้งไป จึงช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่ร่างกายผู้ป่วยจะปฏิเสธกระจกตาที่เกิดจากการปลูกถ่ายได้ รวมทั้งลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ด้วย
  • การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นอีกชนิดหนึ่ง คือ การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นเยื่อบุโพรงกระจกตาหรือกระจกตาชั้นใน (Endothelial keratoplasty) เป็นการนำเยื่อบุโพรงกระจกตาชั้นในที่มีพยาธิสภาพออก และทดแทนด้วยเยื่อบุโพรงกระจกตาจากดวงตาบริจาคที่นำมาปลูกถ่าย ซึ่งกระจกตาชั้นนี้มีความบางมาก ประมาณ 10-15 ไมครอน จึงเป็นการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนมาก 

 

"นอกจากนี้ การผ่าตัดชนิดนี้ ยังมีขนาดแผลผ่าตัดที่เล็กเพียง 3-5 มิลลิเมตร ทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้มาก ที่สำคัญ มีการฟื้นตัวของสายตาที่เร็วมากนับเป็นสัปดาห์ เร็วกว่าการปลูกถ่ายกระจกตาทุกชั้นอย่างมาก"

 

"กระจกตาที่นำมาต้องผ่านการคัดกรองว่ามีคุณภาพดี โดยทั่วไปนำกระจกตามาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต ซึ่งตอนนี้ยังขาดแคลน ปีหนึ่งสามารถทได้เพียง 700 - 1,000 ราย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้บริจาค แต่คนเสียชีวิตก็ยังไม่ถึง"  

 

ปัญหา \"สายตา\" ใครว่าเรื่องเล็ก ทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีรักษา

 

โรคกระจกตาซับซ้อนผ่าตัดได้หรือไม่

 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการโรคกระจกตาที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น เป็นต้อหินมาก่อน เคยผ่าตัดวุ้นตามาก่อน ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาต้องควบคุม บางครั้งแพทย์อาจต้องใช้วิธีอื่นรักษาร่วมด้วย เช่น

  • การรักษาโรคของกระจกตาด้วยเอ็กไซเมอเลเซอร์ (Phototherapeutic Keratectomy : PTK) 
  • การฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ (Corneal collagen cross-linking) เพื่อเสริมความแข็งแรงเส้นใยคอลลาเจนในกระจกตา
  • การผ่าตัดใส่วงแหวน (Intrastromal Corneal Ring Segment) เพื่อปรับความโค้งของกระจกตา เพื่อให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

"การปลูกถ่ายกระจกตาได้ผลดี เพราะกระจกตาไม่มีเส้นเลือด แต่หากเคยผ่านการอักเสบ หรือผ่านการผ่าตัดมา ทำให้เส้นเลือดเข้ามา ฉะนั้น แปลว่าเมื่อใดก็ตามที่เส้นเลือดเข้ามา โอกาสที่เนื้อเยื้อต่อต้านจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องวางแผนร่วมกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านต้อหิน จอตา ในการผ่าตัด ควบคุมการอักเสบ และควบคุมความดัน"

 

กลุ่มไหนที่ไม่สามารถปลูกถ่ายกระจกตาได้ 

 

สำหรับกลุ่มที่ไม่สามารถปลูกถ่ายกระจกตาได้ คือ ไม่สามารถมองเห็นแล้ว มองไม่เห็นแสง ดังนั้น จึงต้องมีการทดสอบว่า คนไข้มองเห็นอย่างไร คนไข้อาจจะบอกว่ายังเห็นอยู่ แต่ต้องทดสอบทางการแพทย์ว่า เห็นแสงจริงๆ หรือ เป็นปรากฎการณ์การเห็น ดังนั้น หากมองไม่เห็นก็ไม่สามารถปลูกถ่ายได้

 

"ผลข้างเคียง" และ "การดูแล" หลังปลูกถ่ายกระจกตา

 

"นพ.ธีรวีร์" อธิบายว่า สำหรับผลข้างเคียงในการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ได้แก่ ตาแห้ง แดงอักเสบเล็กน้อย และจะค่อยๆ ดีขึ้น โอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ร่างกายต้านกระจกตา ก็เป็นภาวะที่ต้องระวังในการปลูกถ่ายอวัยวะทุกอย่าง ซึ่งการเปลี่ยนถ่ายกระจกตา จะใช้ยาหยอดตา ไม่จำเป็นต้องทานยากดภูมิ ก็สามารถดูแลได้ แต่หากมีอาการเจ็บเคือง แดง การมองเห็นลดลง ควรมาพบแพทย์ และอย่าขาดยา 

 

ปัจจุบัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีอัตราความสำเร็จของการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา อยู่ที่ 70-95% ขึ้นอยู่กับอาการและโรคที่ผู้ป่วยเป็น ซึ่งเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเมื่อเทียบกับการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นๆ

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการผ่าตัดปัจจัยหนึ่ง คือ ความพอดีของรอยต่อของแผลระหว่างเนื้อเยื่อกระจกตาของผู้ป่วย และเนื้อเยื่อกระจกตาที่นำมาปลูกถ่าย ดังนั้นเทคนิคการตัดกระจกตา (Trephination) ทั้งกระจกตาที่นำมาปลูกถ่ายและเนื้อเยื่อกระจกตาของผู้ป่วยจึงมีความสำคัญมาก การปลูกถ่ายกระจกตาจึงจำเป็นต้องใช้แพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญขั้นสูงในการผ่าตัด

 

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตา ควรเข้ารับบริการตรวจ screening สุขภาพตาเป็นประจำทุกปี

 

ไทยมีผู้รอคอยดวงตากว่า 17,000 คน 

 

เมื่อดูสถานการณ์การจัดหาและบริการดวงตาของ ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย ในปัจจุบัน มีรายงานว่าผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการปลูกถ่ายกระจกตาจะต้องใช้เวลารอคิวบริจาคประมาณ 3-5 ปี ซึ่งยอดบริจาคดวงตาหลังเสียชีวิตมีเพียง 2% ของประชากรไทย

 

ขณะที่แต่ละปีมีผู้ขอรับบริจาคดวงตามากกว่า 1,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยแต่ละปีจะมีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตาเพียง 600 – 700 ราย ปัจจุบันยังมีผู้รอคอยดวงตามากกว่า 17,000 คน ด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา อาจทำให้อาการผู้ป่วยจากที่เป็นน้อยๆ เริ่มเป็นมากขึ้น ส่งผลให้การรักษายากขึ้นและมีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น กรณีที่เบาหวานขึ้นตาก็ไม่สามารถยิงเลเซอร์รักษาได้ ทำให้ภาวะของโรคแย่ลง และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา

 

บริจาคดวงตา ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย 

 

ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย มีหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมดวงตาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว  ด้วยเทคนิคมาตรฐานสากล เพื่อมอบให้จักษุแพทย์นำไปใช้รักษาผู้ป่วยอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ตลอดจนส่งเสริม การให้บริการทางการแพทย์ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับบริจาคดวงตาจากผู้มีกุศลจิต และมอบดวงตาที่ผู้บริจาคถึงแก่กรรมแล้วให้จักษุแพทย์ นำไปใช้รักษาผู้ป่วยกระจกตาพิการ

 

เนื่องจากในประเทศไทยมีคนตาบอดจำนวนมากที่มีสาเหตุจากโรคของกระจกตา ซึ่งศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Cornea อันอาจรักษาให้หายหรือทุเลาลงได้โดยการผ่าตัดที่เรียกว่า การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา หรือ Corneal Transplantation (Keratoplasty) และเป็นศูนย์กลางการประสานงานช่วยเหลือให้ผู้ป่วยกระจกตาพิการได้รับการรักษาโดยจักษุแพทย์

 

ขั้นตอนการบริจาคดวงตา


1.ผู้ที่สนใจบริจาคดวงตาสามารถแสดงความจำนงในการบริจาคดวงตาได้คนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ เป็นต้นไป โดยสามารถแสดงความจำนงได้ที่ คลิก

2.เมื่อบริจาคดวงตาแล้วจะได้รับบัตรประจำตัวผู้บริจาคดวงตา ควรพกบัตรผู้บริจาคติดตัวไว้และแจ้งให้ญาติรับทราบว่าได้ทำเรื่องบริจาคดวงตาไว้ในระหว่างมีชีวิต

3.ในกรณีบริจาคอวัยวะแทนญาติ กรุณาโทรแจ้งศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทยทันทีที่ผู้บริจาคเสียชีวิต ที่หมายเลข  081-902-5938, 081-836-4927 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ภายหลังเสียชีวิตดวงตาจะเริ่มเสื่อมสภาพ และเน่าเปื่อย ดังนั้น เพื่อให้ดวงตาที่มีสภาพดีที่สุด ญาติของผู้แสดงความจำนงในการบริจาคควรโทรแจ้งศูนย์ดวงตาทันทีหลังผู้บริจาคเสียชีวิต เพื่อให้ศูนย์ดวงตาได้จัดเก็บดวงตาโดยเร็วที่สุด ซึ่งควรจัดเก็บให้เรียบร้อยภายใน 6-8 ชั่วโมง

 

ข้อควรปฏิบัติภายหลังการอุทิศดวงตา


1.แจ้งสมาชิกในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดให้รับทราบ
2.เก็บบัตรอุทิศดวงตาไว้กับตัวหรือในที่หาง่าย
3.ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาควรปรึกษาจักษุแพทย์

 

ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย

สถานที่ติดต่อ: 1871 อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฒโน) ชั้น 7 ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
เบอร์โทรศัพท์ : 0-2256-4039-40
เบอร์โทรสาร :  0-2252-4902
เว็บไซต์ :   คลิก 

 

อาหารบำรุงสายตา สำหรับเด็ก

 

ข้อมูลจาก กรมอนามัย แนะนำ อาหารที่ช่วยบำรุงสายตาให้กับเด็ก ได้แก่ 

1) ผักผลไม้หลากสีเพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆและสารต้านอนุมูลอิสระ คือ

  • วิตามินเอช่วยปกป้องกระจกตา ช่วยการมองเห็นในที่มืด ได้แก่ ผักผลไม้สีเหลือง ส้มเขียว ซึ่งมีสารแคโรทีนอยด์ ที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินเอ เช่น ตำลึง ฟักทอง ข้าวโพด แครอท ผักโขม คะน้า    พริกหยวกส่วนผลไม้ เช่น มะละกอ แคนตาลูป มะม่วงสุก
  • วิตามินซี เป็นสารที่ช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์ ได้แก่ ผักและผลไม้ต่างๆ เช่น คะน้า ผักโขม กะหล่ำปลี บรอกโคลีหน่อไม้ฝรั่ง พริกต่างๆ ส่วนผลไม้ เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ฝรั่ง กีวี่
  • ลูทีน สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในข้าวโพด ผักโขม อะโวคาโด
  • ไลโคปีน สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในมะเขือเทศ ฟักข้าว
  • แอนโทไซยานิน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พบในผักและผลไม้สีม่วง ได้แก่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ทับทิม กะหล่ำปลีม่วง มะเขือม่วง 

2) ปลา เพราะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า

3) ไข่เนื่องจากในไข่แดงจะมีสารลูทีนและซีแซนทีน ซึ่งจะช่วยบำรุงระบบการไหลเวียนของเลือดและเส้นเลือดฝอยที่เลี้ยงตา ป้องกันการเสื่อมประสิทธิภาพของดวงตา

 

ใช้ "สายตา" อย่างไรไม่ให้มีปัญหา

 

ขณะเดียวกัน ในสังคมยุคดิจิทัลที่แต่ละวันกลุ่มคนวัยทำงานต้องอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เป็นเวลานานติดต่อกัน อาจทำให้ได้รับผลกระทบ เช่น ภาวะตาล้า ตาแห้ง ตาพร่า น้ำตาไหล หรือร้ายแรงกว่านั้นอาจเสี่ยงกับโรคจอประสาทตาเสื่อม โดยเฉพาะผู้ที่นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นานวันละ 10 ชั่วโมง กรมอนามัย แนะนำว่า

  • ควรดูแลรักษาและใช้สายตาให้เหมาะสม
  • หยุดพักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุก 2 ชั่วโมง ครั้งละประมาณ 15 นาที
  • นอกจากนี้ ควรกินอาหารที่ดี มีประโยชน์ และอุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยบำรุงสุขภาพตา เช่น วิตามินเอ วิตามินซี ลูทีน ซีแซนทีน กรดไขมัน ที่มีความสำคัญต่อการมองเห็น