สังเกตอาการ เห็นหยากไย่ เงาดำ อาจเป็น "ภาวะวุ้นตาเสื่อม"
"ตา" นับเป็นอวัยวะสำคัญต่อการใช้ชีวิต แต่หากวันหนึ่งเริ่ม สังเกตอาการตัวเองแล้วรู้สึกว่า มองเห็นจุดเส้นสีคล้ายหยากไย่ แสงแฟลช เงาดำ นั่นอาจหมายถึงอาการวุ้นในตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) ซึ่งสามารถเป็นได้เมื่ออายุมากขึ้น
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ให้ข้อมูลว่า "วุ้นตา" (Vitreous) เป็นส่วนประกอบภายในดวงตา มีลักษณะเป็นวุ้นเหลวใสคล้ายไข่ขาวอยู่หลังเลนส์ตายึดติดกับผิวจอตา ภาวะวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) เป็นได้เมื่ออายุมากขึ้น และอาจเสื่อมเร็วกว่าปกติในผู้ที่สายตาสั้นมาก หรือเคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตา วุ้นตาที่เสื่อมจะเหลวลง หดตัว และขุ่นขึ้น เมื่อแสงผ่านวุ้นตาที่เสื่อมจะ หักเหทำให้เห็นเป็นเงาดำลักษณะเป็นจุดและเส้นคล้ายหยากไย่ลอยไปมา
อาการของโรควุ้นตาเสื่อม
- เริ่มมองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมาโดยเฉพาะเวลากลอกตา หรือมองที่ผนังสีขาว หรือท้องฟ้า
- ระยะแรกจะสังเกตเห็นเงาของวุ้นตาที่เสื่อมเป็นจุดและเส้นดำลอย ซึ่งจะเคลื่อนไหวเมื่อกลอกตา อาจรบกวนการมองและรู้สึกรำคาญ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสมองจะเรียนรู้และละเลยเงาเหล่านี้ไปเอง อาจไม่เห็นหากไม่พยายามสังเกต
- เมื่อวุ้นตาเหลวและหดตัวมาก อาจจะลอกตัวออกจากผิวจอตาเอง และอาจดึงรั้งผิวจอตาทำให้เกิดการกระตุ้นจอตาเห็นเป็นแสงวาบคล้ายแฟลชจากกล้องถ่ายรูป หรือแสงฟ้าแลบในดวงตาแม้ในขณะหลับตา ซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดขึ้นเมื่ออยู่ในที่มืดหรือเวลากลางคืน อาการเหล่านี้อาจลดลงและหายไปเมื่อจอตาถูกดึงรั้งจากวุ้นตาลดลง
- ในบางรายวุ้นตาอาจดึงรั้งหลอดเลือดที่จอตาให้ฉีดขาดและเกิดเลือดออกในวุ้นตาทำให้เห็นเงาดำเพิ่มมากขึ้นทันที ซึ่งถ้าวุ้นตาติดแน่นกับจอตามากอาจดึงรั้งให้จอตาฉีกขาดได้ และหากวุ้นตาที่เหลวเซาะเข้าไปในรอยขาด จะทำให้จอตาลอกและอาจสูญเสียการมองเห็นได้
สาเหตุวุ้นตาเสื่อม
สำหรับ ภาวะวุ้นตาเสื่อม อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่าเกิดจาก
- ภาวะความเสื่อมตามวัย ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด
- การอักเสบในวุ้นตาและจอตา (Intermediate and Posterior Uveitis) ซึ่งอาจเกิดจากการอักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย การติดเชื้อ หรือภาวะทางกายอื่น ๆ เช่น มะเร็ง เป็นต้น
- ภาวะเลือดออกในน้ำวุ้นตา จากอุบัติเหตุหรือโรคที่ทำให้มีความผิดปกติของหลอดเลือด
ปัจจัยเสี่ยงวุ้นตาเสื่อม
- อายุเกิน 50 ปี
- สายตาสั้น
- เคยมีอุบัติเหตุที่ตา
- ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจก
- เบาหวานขึ้นจอตา
- การอักเสบในตา
วิธีการรักษา วุ้นตาเสื่อม
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อธิบายว่า ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาโดยการนัดติดตามอาการ ไม่ถึงขั้นต้องทำอะไรกับลูกตา แพทย์ก็จะติดตามอาการว่ามีอาการมากขึ้นหรือไม่ ปัจจุบันยังไม่มียาตัวไหนที่จะช่วยรักษาอาการภาพลอยไปลอยมาได้ เพราะเกิดจากความเสื่อมของตา กรณีที่ตรวจอย่างละเอียดแล้วว่าเคสผู้ป่วยไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหาภาวะโรคแทรกซ้อน
สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่
ในสมัยก่อนแพทย์จะแนะนำคนไข้เข้ารับการผ่าตัด เพื่อตัดตัวตะกอนในตาออก โดยแพทย์จะประเมิน ข้อดี ข้อเสีย ส่วนใหญ่ก็จะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เพราะฉะนั้นในกลุ่มที่มีอาการไม่ได้รุนแรงมาก แค่ที่สร้างความรำคาญ ซึ่งแพทย์ประเมินแล้วไม่ได้มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดจอประสาทตาหลุดลอก ก็อาจไม่แนะนำให้
แต่เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาค่อนข้างดี สามารถยิงเลเซอร์เพื่อสลายตัวตะกอนวุ้นตาได้ ซึ่งปัจจุบันผลการรักษาก็จะค่อนข้างดีประมาณ 80-90% ในการยิ่งเลเซอร์เพียงแค่ครั้งเดียว คนไข้ก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องของการเห็นภาวะลอยไปลอยมาอีก หรืออาจจะมีเห็นแต่ขนาดภาพก็จะเล็กลง
หากรักษาด้วย "เลเซอร์" จะกลับมาเป็นอีกหรือไม่
ส่วนใหญ่ 80-90% อาการไม่กลับมาเป็นซ้ำ การทำเลเซอร์คนไข้จะไม่เจ็บไม่ได้เป็นการผ่าตัดไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัด สามารถทำได้ที่ห้องตรวจจักษุแพทย์ได้เลย แต่ต้องมีการขยายม่านตาก่อนการทำเลเซอร์ ซึ่งแนะนำให้ผู้ป่วยมีญาติมาด้วยไม่ควรขับรถมาเอง
โดยวิธีการรักษาด้วยวิธีการยิงเลเซอร์ ที่ตัวตะกอนวุ้นตา ทำโดยการขยายม่านตาที่ดวงตาคนไข้ ไม่เจ็บ มีการหยอดยาชาให้ผู้ป่วยก่อน จากนั้นรอสักประมาณ 15 นาที ถึง 1 ชั่วโมง แล้วแต่คนไข้ว่าขยายม่านตาได้ง่ายหรือยาก หลังจากนั้นแพทย์ก็จะทำการยิงเลเซอร์ เข้าไปหาตัวตะกอนวุ้นตาตรงจุดที่มันมีขนาดใหญ่เพื่อลดขนาดของตัวตะกอนวุ้นตาให้ไม่บดบังการมองเห็น ใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง พอฤทธิ์ยาขยายม่านตาหมด ก็สามารถมองเห็นภาพได้เป็นปกติ
ข้อควรรู้
- สำหรับคนที่เป็นตาอักเสบบ่อยๆ ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ แต่โรคตาอักเสบนี้เป็นได้หลายสาเหตุ
- โรควุ้นตาเสื่อม ส่วนใหญ่ในช่วงกลางคืนหรือสถานที่มืดอาการจะไม่ออกชัดมากเท่ากับบริเวณกลางแจ้ง ที่มีแสงสว่างมากๆ แพทย์ย้ำว่า ถ้าเริ่มมีอาการผิดปกติทางสายตาสิ่งที่ดีที่สุด คือ ควรพบแพทย์ก่อน ถือว่าเป็นการตรวจสุขภาพสายตาไปก่อน ซึ่งถือได้ว่าดวงตาเป็นอวัยวะที่เราใช้งานเยอะที่สุดต่อวัน
อ้างอิง : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ , โรงพยาบาลกรุงเทพ , โรงพยาบาลจุฬาภรณ์