สธ.ปรับแนวทางการรักษาโควิด-19 ใหม่ เพิ่ม LAAB ให้กลุ่มเสี่ยง
สธ.ปรับแนวทางการรักษาโควิด-19 เป็นฉบับที่ 26 เพิ่มการให้ LAAB หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปในผู้ป่วยกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง ระบุระบาด Small Wave อาการของผู้ติดเชื้อก็ไม่แตกต่างจากเดิม ผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ ส่วนใหญ่อาการน้อยกว่าครั้งแรก
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 ที่กรมการแพทย์ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2565 ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขโรคโควิด-19 ให้ความเห็นชอบแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ฉบับที่ 26 และกรมการแพทย์ ได้มีการประชุมแพทย์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อทำความเข้าใจ โดยที่มีการปรับ คือ เพิ่มการใช้ LAAB หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ในการรักษาผู้ป่วยโรคกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง
แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีอาการ จะรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยยาที่ใช้รักษา ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็ก ส่วนผู้ใหญ่ให้ยาโมลนูพิราเวียร์ หากเป็นกลุ่มเสี่ยง อาจให้ LAAB หรือ ให้ LAAB คู่กับยาต้านไวรัสอื่นๆ ซึ่งขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สธ.เตือน โควิด 19 Small Wave ขาขึ้น 3 สถานที่เสี่ยงต้องระวัง
ปัจจัยสำคัญที่คนไทยเสียชีวิตจาก "โควิด19" หลังปรับลดระดับโรคมา 2 เดือน
สาระสำคัญที่มีการปรับปรุง แบ่งเป็น 4 กรณี
1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ปฏิบัติตนป้องกันอย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 5 วัน
2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ปฏิบัติตนป้องกันอย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 5 วัน ให้การดูแลรักษาตามอาการ ตามดุลยพินิจของแพทย์
3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน ให้ยาต้านไวรัส เป็นแพกซ์โลวิด หรือเรมเดซิเวียร์ หรือ LAAB หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือโมลนูพิราเวียร์
4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วัน หลังจากมีอาการ และได้รับออกซิเจน แนะนำให้เรมเดซิเวียร์ โดยเร็วที่สุดเป็นเวลา 5-10 วันขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
“ระยะนี้ มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการระบาดแบบ Small Wave การรักษาไม่แตกต่างจากเดิม รวมทั้งอาการของผู้ติดเชื้อก็ไม่แตกต่างจากเดิม ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ครั้งที่สอง เท่าที่ได้สอบถามอาการจากผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะระบุว่า การติดเชื้อครั้งที่สอง อาการน้อยกว่าการติดเชื้อครั้งแรก เพราะผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันแล้ว"นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า กรณีการเสียชีวิต พบว่า ส่วนใหญ่ 70 % ของผู้เสียชีวิต จะรับวัคซีนน้อยกว่า 3 เข็ม ดังนั้น การฉีดวัคซีนยังถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 จึงอยากเชิญชวนให้มารับวัคซีน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราพบข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ขอให้ลูกหลานสังเกตอาการของผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยทุกกลุ่ม หากมีอาการไข้สูง ไอมาก หอบเหนื่อย ขอรีบไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่อาการของผู้สูงอายุจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ส่วนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 นั้น ภาพรวมทั้งประเทศ จำนวน 7,564 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียง 1,468 เตียง คิดเป็นร้อยละ 19.4 สำหรับเตียงระดับ 2-3 นั้น ใช้ไปร้อยละ 35 ทั้งนี้ได้มีการคาดการณ์ว่า คาดว่าจนถึงปีใหม่ เตียงระดับ 3 น่าจะไม่ถึงร้อยละ 50 เพราะความรุนแรงของโรคไม่เหมือนเดิม และคาดว่าคงไม่มีสถานการณ์ที่ทำให้เราต้องเปิดโรงพยาบาลสนาม หรือต้องยุบเตียงรักษาโรคอื่นๆ มาเพิ่มเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด เหมือนในอดีต และขอให้ประชาชนระวังป้องกันตัวเอง แต่ก็ไม่ควรวิตกกังวล เพื่อให้ชีวิตได้เดินหน้าต่อไป