รพ.ไทยนครินทร์ เดินหน้านวัตกรรม รับ 5 เทรนด์ "Healthcare" แห่งอนาคต

รพ.ไทยนครินทร์ เดินหน้านวัตกรรม รับ 5 เทรนด์ "Healthcare" แห่งอนาคต

รพ.ไทยนครินทร์ เผย 5 เทรนด์ "Healthcare" แห่งอนาคต เดินหน้า "นวัตกรรมทางการแพทย์" บูรณาการร่วมกับ ศิลปะการรักษา เสริมความแข็งแกร่งด้านการแพทย์ไทย ยกระดับประเทศสู่ Medical Hub

“นวัตกรรม”  เป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญ ที่ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วง "โควิด-19" ที่ถือเป็นตัวเร่งให้นวัตกรรมพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั้งการตรวจ คัดกรอง รับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่านออนไลน์  รวมถึงเทคโนโลยีในการผ่าตัด การรักษามะเร็ง และอื่นๆ ที่รองรับสังคมสูงอายุก็มีการพัฒนาไปมากเช่นกัน

 

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2565 “นพ.พิเชฐ ผนึกทอง” ผู้อำนวยการงานคุณภาพ และ ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหาร สายงานการตลาด โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวในช่วง Session 1 : INNOVATION DRIVING THE FUTURE ภายในงาน NEXT STEP THAILAND 2023 : ทิศทางแห่งอนาคต จัดโดย บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) โดยอธิบายถึง 5 เทรนด์หลัก ในการนำนวัตกรรมมาใช้ในอุตสหากรรม Healthcare ว่า ในช่วงที่ผ่านมา หากไม่มีโควิด-19 เข้ามากระตุ้น นวัตกรรมอาจจะไม่ไปเร็วขนาดนี้ โดย 5 เทรนด์หลัก ได้แก่

1. ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ช่วยให้การรักษาง่ายขึ้น อยู่ รพ.สั้นลง 

2. การสาธารณสุขทางไกล หรือ Telehealth 

3. Retail Health ทำให้การบริการด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ การตรวจแล็บ ตรวจ ATK สะดวกมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องไป รพ. เหมือนเมื่อก่อน

4. Wearable Gadgets จากเดิมที่ต้องตรวจสุขภาพที่ รพ. แต่ตอนนี้สามารถนำเครื่องมือไปตรวจที่บ้านได้ เช่น การตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เป็นต้น 

5. การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล Personalized Healthcare นอกจากเรื่องของร่างกายแล้ว ยังมีเรื่องของจิตใจด้วย 

 

 

นวัตกรรมมีส่วนช่วยทางการแพทย์ได้มาก อันดับแรก คือ เพิ่มคุณภาพในการรักษา คุณภาพมีหลายมิติ มิติแรก คือ นวัตกรรมทำให้คนไข้ปลอดภัย และการวินิจฉัยโรคแม่นยำมากขึ้น การรักษาตรงประเด็นมากขึ้น แต่ก่อนคนไข้มะเร็ง หากมีฉายแสง ผิวจะไหม้ ปัจจุบัน เทคโนโลยี มีการฉายแสงแบบมุ่งเป้าไปที่ก้อนมะเร็งโดยตรง" 

 

ต่อมา คือ สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีคนไข้จำนวนมาก นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการคัดกรอง การรักษา ช่วยอ่านฟิล์มเอกซเรย์ปอด ขณะที่ โรคบางโรคต้องรักษาต่อเนื่อง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน นวัตกรรมเข้ามาช่วยเตือนการกินยา ดูผลการตรวจในอดีตและปัจจุบัน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น

 

สำหรับ การผ่าตัด ปัจจุบัน ใครแผลใหญ่ถือว่าเชย นอน รพ.นาน ค่าใช้จ่ายสูง ปัจจุบัน ต้องแผลเล็กเจ็บน้อย กลับไปทำงานได้เร็ว เป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรม สุดท้าย คือ โรคบางโรคใช้ระยะเวลาในการรักษา หากนวัตกรรมไม่เข้ามาช่วยจะทำให้การรักษาล้าช้า และทำให้คุณภาพการรักษาแย่ลง

 

ยุคการแข่งขันด้วย "คุณภาพ" 

 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในเรื่องนวัตกรรม เชื่อว่าทุก รพ. ทำนวัตกรรม เพราะข้อดีเยอะ ทุกที่แข่งได้เหมือนกันหมด ในเรื่องของ ฮาร์ดแวร์ (Hardware) และ ซอฟต์แวร์ (Software) เพราะใช้เงินซื้อได้ แต่ "บุคลากร" (Peopleware) สำคัญที่สุด ทำอย่างไรให้นวัตกรรมในการดูแลผู้ป่วย รักษาในระยะสั้น แต่คุณภาพการรักษาดีที่สุด

 

"นวัตกรรมส่วนอื่นในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือสามารถใช้เงินได้ แต่กระบวนการรักษาสำคัญมาก ดังนั้น ทุกที่พยายามพัฒนาตรงส่วนนี้ และสุดท้าย จะสามารถยกระดับประเทศไทยให้เป็น Medical Hub ที่มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น หากเรามองเป็นคู่แข่งก็คือคู่แข่ง หากมองเป็นพันธมิตรก็คือพันธมิตร ขึ้นอยู่ว่าเราจะมองตรงไหน" 

 

 

นวัตกรรม ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ

 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของนวัตกรรม ที่จะตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุนั้น นพ.พิเชฐ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าสู่ผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หากมองว่าเริ่มดูแลตั้งแต่สูงอายุบางทีไม่ทัน ต้องเตรียมตัวก่อน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ "กลุ่มที่จะก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ" เข้าสู่สูงวัยอย่างไรให้ปลอดภัย และ "เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว" จะอยู่อย่างไรให้ปลอดภัย เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ

 

โรคที่นานๆ เจอที จะเจอมากขึ้น ชัดเจนที่สุด คือ โรคมะเร็ง ทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่าทุกคนต้องเป็นมะเร็ง แต่อาจจะเป็นตอนอายุ 150 ปี ซึ่งอยู่ไม่ถึง ปัจจุบัน พอคนอายุยืนยาวขึ้น ร่างกายสัมผัสสารก่อมะเร็งมากขึ้น ทำให้พบมะเร็งสูงขึ้น และสิ่งสำคัญ คือ กรรมพันธุ์ ดังนั้น มีการตรวจยีนส์บางอย่าง หากพบแล้วเราจะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งสูงมากกว่าปกติ ทำให้สามารถตรวจเลือดดูพันธุกรรมในร่างกายว่ามีความเสี่ยงมะเร็งหรือไม่

 

"พอรู้ว่าเราเป็นมะเร็งต้องลดปัจจัยเสี่ยง เพราะพันธุกรรมลดไม่ได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงอื่นๆ ได้ และต้องมีการคัดกรองทันทีเพื่อมุ่งเน้นการตรวจเฉพาะ ขณะเดียวกัน หากพบว่าเป็นมะเร็ง ในอดีตการรักษา 3 แบบ คือ ใช้ยา ผ่าตัด ฉายแสง

  • การใช้ยาเคมีบำบัด แต่ก่อนจะพบว่าคนไข้ผมร่วง มีผลข้างเคียงเยอะ ปัจจุบันมียามุ่งเป้า ฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรง ทำให้ผลข้างเคียงน้อยลง
  • การผ่าตัด หุ่นยนต์เข้ามาช่วยมากขึ้น ในการเสียเลือดน้อย และการส่องกล้อง
  • การฉายแสง แต่ก่อนผิวหนังคนไข้จะด้านและมีผลข้างเคียงเยอะ ปัจจุบัน ประสิทธิภาพดีขึ้น และพบว่าการฉายแสงที่ดีในปัจจุบัน จะมุ่งเป้าไปถึงก้อนมะเร็ง ผลข้างเคียงน้อย ประสิทธิภาพสูง

 

ค้นหาความเสี่ยง รักษาให้มีประสิทธิภาพ

 

นพ.พิเชฐ กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น ต้องพยายามค้นหาก่อนว่าเราเสี่ยงเป็นอะไร พอเป็นแล้วรักษาอย่างไรให้ผลข้างเคียงน้อยที่สุด และประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากมะเร็งแล้ว โรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมก็จะตามมา เช่น กระดูกเสื่อม ข้อเสื่อม ตามอายุ บางคนปวดหลังด้วยอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อน แต่ก่อนการผ่าตัดแผลเล็กที่สุด คือ 3-4 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่ เห็นชัด หายช้า พอแผลใหญ่เกิดขึ้น การทำลายเส้นประสาทก็มากขึ้น ทำให้ผลการรักษาน้อยลง ปัจจุบัน รพ. ใช้เทคนิคส่องกล้องแผลเล็ก หายไว นี่คือเบื้องต้นในการรักษาด้วยนวัตกรรมที่รองรับผู้สูงอายุ

 

ส่งเสริม ป้องกัน ก่อนป่วย

 

นพ.พิเชฐ กล่าวต่อไปว่า ในด้านของ Healthcare เราไม่อยากจะรักษาโรค หลายคนมองว่า รพ. ก็อยากจะมีกำไร แต่เราอยากให้ประชาชนสุขภาพดีมากกว่า เพราะหมายถึงทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า คนเราพอถึงจุดหนึ่งของชีวิต ต้องมาเป็นโรคร้ายคงไม่คุ้ม ดังนั้น การดูแลสุขภาพสำคัญที่สุด

 

"รพ. อยากจะเป็นส่วนร่วมสำคัญในการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่ป้องกัน ค้นหาว่าเสี่ยงจะเป็นอะไร ป้องกันว่าจะไม่ให้เกิดได้อย่างไร พอป้องกัน เมื่อสงสัยว่าจะเป็นก็รีบวินิจฉัย รักษา เพื่อให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด ผลข้างเคียงน้อยที่สุด และดูแลอย่างต่อเนื่องให้คนไทยมีอายุยืนยาว" 

 

"ไม่ต้องกลัว รพ. ตกงาน เพราะ รพ.สามารถเข้าไปช่วยเป็นพาร์ทเนอร์ในด้าน Healthcare ได้ทุกจุด เชื่อว่าหาก รพ. ภาครัฐ เอกชน ก็กำลังสนใจในส่วนนี้เพราะเราคงไม่อยากรักษาที่ปลายทาง เนื่องปลายทางค่าใช้จ่ายสูง ยิ่งภาครัฐงบประมาณจำกัดในการรักษาพยาบาล ดังนั้น การมุ่งไปที่การป้องกันน่าจะสำคัญกว่า" 

 

บูรณาการนวัตกรรม และศิลปะการรักษา

 

อย่างไรก็ตาม แม้นวัตกรรมจะส่งผลดีต่อการรักษา แต่ในอีกมุมหนึ่ง "นพ.พิเชฐ" มองว่า ข้อดีก็มีข้อเสีย ในมุมมองของการเป็นแพทย์ การเรียนเราต้องมีพื้นฐานในการตรวจคนไข้ คือ ดู คลำ เคาะ ฟัง ต้องดูก่อนว่าคนไข้ลักษณะนี้เป็นแบบไหน ต้องฟังเสียง ปอด หัวใจ เคาะ และคลำ แต่ปัจจุบัน เมื่อมีนวัตกรรมเข้ามา บางทีคนไข้ไปหาหมอ หมอไม่จับเลย เอกซเรย์เห็นทุกส่วน แต่รักษาได้ผล

 

"เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ความสำคัญที่สุด คือ ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ การไปหาหมอ ถึงจะเก่งแค่ไหน หมอขอสัมผัสสักนิดคนไข้จะรู้สึกดีขึ้นมาเยอะ ส่วนนี้หากเรามีความชาญฉลาดในการใช้นวัตกรรม ควบคู่กับศิลปะในการรักษาคนไข้ จะกลบข้อเสียของนวัตกรรมไปได้ ข้อเสียของนวัตกรรมมีแต่ไม่มาก เราต้องใช้นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์จริง” นพ.พิเชฐ กล่าวทิ้งท้าย