"โยเกิร์ต" มี "โพรไบโอติกส์" เพียงพอแค่ไหน ทำไมกินแล้วไม่ได้ผล

"โยเกิร์ต" มี "โพรไบโอติกส์" เพียงพอแค่ไหน ทำไมกินแล้วไม่ได้ผล

คำว่า “โพรไบโอติกส์” (Probiotics) ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน คนหันมาใส่ใจสุขภาพ และปรับสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย และหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เราจะนึกถึง คือ "โยเกิร์ต" แต่ทำไมบางคนกินแล้วกลับไม่ได้ผล

“โพรไบโอติกส์” (Probiotics) เรียกได้ว่ามีการพูดถึงแพร่หลายในช่วงที่ผ่านมาและถือเป็นเทรนด์ในอนาคต ปัจจุบัน เราจึงพบเห็นอาหารเสริมที่มีโพรไบโอติกส์ หรือ โยเกิร์ต ที่มีโพรไบโอติกส์ ให้เลือกมากมาย แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เราทานเข้าไปเหมาะสมหรือเพียงพอต่อร่างกายหรือไม่

 

โพรไบโอติกส์ คืออะไร

 

ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จัก “โพรไบโอติกส์” (Probiotics) กันก่อน ข้อมูลจาก W9 Wellness Center ระบุว่า จุลินทรีย์ชนิดดี หรือ โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตชั้นดีขนาดเล็ก พบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ เป็นต้น

 

การมีโพรไบโอติกส์ที่เพียงพอในลำไส้ช่วยให้เกิดความสมดุล และลดโอกาสการเกิดโรคได้ เช่น ลดการอักเสบติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและช่องคลอด ดูแลระบบย่อยอาหาร รักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อฉวยโอกาสในร่างกาย แก้อาการลำไส้แปรปรวน ท้องร่วง ท้องผูก หากลำไส้อ่อนแอ ระบบน้ำเหลืองที่เชื่อมโยงกันก็จะอ่อนแอ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง

 

จุลินทรีย์ในร่างกายแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างกันของจุลินทรีย์ได้รับผลจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร ความเครียด การพักผ่อน การออกกำลังกาย วิธีคลอด ฯลฯ จุลินทรีย์ในร่างกายที่แตกต่างกันหรือกล่าวได้ว่า ความไม่สมดุลที่ไม่เหมือนกันจึงเป็นผลต่อปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

การเลือกรับประทานโพรไบโอติกส์โดยไม่ทราบสายพันธุ์ หรือไม่ตรงกับสมดุลจุลินทรีย์ของตัวเอง อาจทำให้กินแล้วไม่เห็นผล ดังนั้น การตรวจเพื่อรู้ชื่อสายพันธุ์จุลินทรีย์จึงเป็นประโยชน์ในการช่วยเสริมโพรไบโอติกส์ให้ตรงกับร่างกายตัวเอง รวมถึงสัดส่วนที่ควรบริโภคในแต่ละบุคคลจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

“โพรไบโอติกส์” ในโยเกิร์ต มีอยู่มากน้อยแค่ไหน


“นพ.พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์” ผู้อำนวยการ W9 Wellness Center ศูนย์ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic) ในโรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ปัจจุบัน โพรไบโอติกส์ เรียกว่าเป็น “เมกะโปรเจกต์” ที่ใหญ่กว่าเรื่องของพันธุกรรม เนื่องจากเรื่องพันธุกรรมมีการศึกษาจบไปค่อนข้างมาก แต่เรื่องของโพรไบโอติกส์ กลายเป็นเรื่องใหม่เพราะจุลินทรีย์ มีจำนวนมากกว่าเซลล์ของเราเป็นร้อยเป็นพันเท่า

 

"โพรไบโอติกส์ ส่วนใหญ่คนเราจะนึกถึงโยเกิร์ต ขณะที่การผลิตโยเกิร์ตส่วนใหญ่มักจะควบคุมการผลิตเพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อ ต้องการฆ่าเชื้อให้สะอาด จุลินทรีย์ธรรมชาติที่มาด้วยก็อาจทำให้ตายทั้งหมด และนำจุลินทรีย์ตัวหนึ่งที่คิดว่าสะอาดเอามาใส่ เพาะเชื้อเพิ่มปริมาณเข้าไป โยเกิร์ตแก้วนั้นก็จะมีจุลินทรีย์ชนิดนั้น จำนวนมากระดับหนึ่ง ซึ่งเราก็จะได้รับจุลินทรีย์ชนิดนั้น"

 

ขณะที่ปัญหาเรื่องความหลากหลายหรือการขาดความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ คนทั่วไปต้องมีจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ช่วยทำให้ร่างกายดำเนินไปได้ปกติราว 2 หมื่นกว่าล้านชนิด เรียกว่าเป็นจำนวนมาก แต่คนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังอาจจะเหลือเพียง 2,000 ชนิด มันคือความหลากหลายและปริมาณ

 

“เพราะฉะนั้น อยู่ที่ว่าเราจะคาดหวังกับโยเกิร์ตขวดหนึ่งหรือแก้วหนึ่งได้มากแค่ไหน ในคนที่ท้องผูกเรื้อรัง ถ่ายไม่ออก บางคนทานโยเกิร์ตก็อาจจะดีขึ้น พอช่วยได้ในมิติหนึ่ง แต่ในเรื่องของโพรไบโอติกส์ เป็นเรื่องที่ใหญ่มากกว่านั้น”

 

 

 

เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน 

 

"นพ.พิจักษณ์" อธิบายต่อไปว่า หลักการทั่วไป คือ การกินอาหารให้หลากหลาย ทั้งด้านคุณภาพของอาหาร และแหล่งอาหาร อาจจะต้องดูแลมากขึ้น แต่ในเชิงการแพทย์ รักษา และดูแลของ Wellness จะตรวจแบบเฉพาะบุคคลว่าลำไส้ อุจจาระขาดอะไรมากน้อยแค่ไหน และใช้โพรไบโอติกส์ ที่มีงานวิจัยว่าช่วยในเรื่องนั้นๆ เติมเข้าไป เพื่อให้การทานโพรไบโอติกส์ หรือ การตรวจและปรับสมดุลให้ตรงจุดมากขึ้น

 

"เรื่องเหล่านี้ต้องศึกษา เพราะแต่ละคนมีความลึกตื้นไม่เท่ากันอาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติม เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลึกซึ้ง ขณะที่บางคนไม่มีปัญหามาก ก็หาวิธีบาลานซ์ของตัวเองได้ปรับอาหารก็พอ หรือ อาจจะทานโพรไบโอติกส์เสริม หรือทานแล้วไม่ค่อยดี อาจจะต้องมาตรวจเพิ่ม และดูแลมากขึ้น" นพ.พิจักษณ์ กล่าว 

 

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า “โพรไบโอติกส์” ที่กินไปได้ผล

 

จริงๆ แล้วเราสามารถสังเกตตัวเองได้ง่ายๆ จากอาการที่เรามี เช่น ท้องผูกเรื้อรัง ท้องเสีย ท้องอืด หากร่างกายได้รับโพรไบโอติกส์เข้าแล้วจะต้องช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวให้เราได้ หรือทำให้อาการดังกล่าวดีขึ้น

 

โพรใบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งชนิดแบคทีเรียและยีสต์ ซึ่งมีวางจำหน่ายทั่วไป แต่อาจเป็นโพรไบโอติกส์ สายพันธุ์ที่ไม่ตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคล การตรวจจุลินทรีย์จึงเป็นการตรวจเพื่อดูว่าร่างกายของเรากำลังขาดโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ชนิดใด Gut Microbiome DNA จึงเป็นการตรวจเพื่อวัดระดับจุลินทรีย์ในร่างกาย เพื่อที่จะได้เสริมโพรไบโอติกส์ในสายพันธุ์ และสัดส่วนที่เหมาะสมกับร่างกายของเรามากที่สุด

 

ตรวจจุลินทรีย์ ดูความสมดุลลำไส้

 

ทั้งนี้ 9 ใน 10 ของเซลล์ในร่างกาย คือ “จุลินทรีย์” หากจุลินทรีย์ในลำไส้ที่เสียสมดุล จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเรื้อรังร้ายแรงมากมาย รวมถึงการเลือกทานโพรไบโอติกส์ให้เหมาะสม เพราะจุลินทรีย์ของแต่ละคนแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม และพันธุกรรม จุลินทรีย์ในตัวคนเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

 

ปัจจุบัน จึงมีการตรวจจุลินทรีย์จากอุจจาระ เพราะจุลินทรีย์อาศัยอยู่ในลำไส้ของเรามากที่สุด ทำให้การตรวจจากอุจจาระจึงทำให้ได้ผลเที่ยงตรงมากที่สุด การตรวจจุลินทรีย์จะไม่เหมือนการตรวจ DNA เพราะ DNA คนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่จุลินทรีย์ในตัวคนเปลี่ยนได้ เพราะฉะนั้นการตรวจจุลินทรีย์ในร่างกายเราจึงสำคัญอย่างยิ่งไม่แพ้กัน

 

นพ.พิจักษณ์ กล่าวว่า สำหรับการตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้ ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยส่งไปที่แล็บฮ่องกงซึ่งมีการศึกษาเรื่องนี้มานาน ขณะที่ แล็บในเมืองไทยยังมีน้อย เพียง 1-2 แห่งในโรงเรียนแพทย์ โดยใช้ระยะเวลาราว 2 สัปดาห์ในการทราบผล แล้วนำมาพูดคุย ปรับการรักษา

 

"วิเคราะห์ วางแผน จัดโพรไบโอติกส์เสริมเฉพาะบุคคล ที่แม่นยำมากกว่าที่เราไปซื้อกินเองแล้วไม่ได้ผล อาจจะคุณภาพ ปริมาณไม่ถึง กินไม่ถูกสายพันธุ์ กินไม่ถูกกับที่ร่างกายต้องการ การให้บริการส่วนนี้ ถือว่าตอบโจทย์กับคนกลุ่มนี้ซึ่งจะเป็นกลุ่มใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการป้องกัน ลงลึกถึงต้นตอของปัญหาสุขภาพแบบองค์รวม"