"บำรุงราษฎร์" กางแผนปี 66 มุ่งสู่ Medical and Wellness Destination
"บำรุงราษฎร์" ฉายภาพใหญ่ปี 2566 ลุยกลยุทธ์ 4C1W มุ่งสู่ Medical and Wellness Destination จับสัญญาณนักท่องเที่ยวฟื้น โรงพยาบาลเอกชน กลับมาคึกคัก ผู้ป่วยต่างชาติทยอยเข้าใช้บริการ คาดสัดส่วนใกล้เคียงก่อนโควิด-19
ปี 2566 นับเป็นอีกปีที่น่าจับตามอง เพราะเป็นปีที่พลิกฟื้นจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เราได้เห็นความคึกคักของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเริ่มเดินทาง ด้าน "โรงพยาบาลเอกชน" ก็เรียกว่ากลับมาคึกคักเช่นเดียวกัน
ตั้งแต่ปลายปี 2565 เริ่มมีสัญญาณแนวโน้มที่ดีขึ้น ด้วยปัจจัยหลายประการ อาทิ เศรษฐกิจภายในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่กลับมาใช้บริการด้านการแพทย์ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 "ภญ.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวในงานแถลงข่าว "บำรุงราษฎร์ ฉายภาพใหญ่ปี 2023" โดยคาดว่าในปี 2566 นี้ ผู้ป่วยต่างชาติจะมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปีก่อนโควิด-19 ที่ประมาณ 50%
"ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดประเทศรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากก่อนโควิด ซึ่งมีรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติราว 30% ปัจจุบัน สัดส่วนอยู่ที่มากกว่า 60% อันดับหนึ่ง ได้แก่ เมียนมา รวมถึงกาตาร์ คูเวต บังกลาเทศ กัมพูชา ซาอุดิอาราเบีย ที่เริ่มเพิ่มขึ้น ขณะที่ รายได้จากผู้ป่วยชาวไทยราว 35%"
"ซึ่งการเปิดประเทศบวกกับกระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ได้ช่วยส่งเสริมให้ตลาด Medical & Wellness Tourism รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ปัจจุบัน โรงพยาบาลมีล่ามกว่า 200 คน รองรับกว่า 33 ภาษา รวมถึงนำเทคโนโลยีล่ามดิจิทัล 4 ภาษา ได้แก่ อาราบิก เมียนมา บังกลาเทศ และจีน อีกด้วย"
การแพทย์เปลี่ยน วิสัยทัศน์ต้องปรับ
"ภญ.อาทิรัตน์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน การบริการการแพทย์เปลี่ยน ทิศทางการให้บริการทางการแพทย์จึงเริ่มเปลี่ยน ส่งผลต่อวิสัยทัศน์ ซึ่ง "บำรุงราษฎร์" ตั้งเป้าสู่ปีแห่งความเป็นเลิศ (Year of Excellence) พร้อมมุ่งมั่นเพื่อก้าวสู่จุดหมายแห่งการดูแลสุขภาพและสุขภาวะที่น่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ใหม่ของปีนี้ ด้วยการผนึกความเชี่ยวชาญและต่อยอดของการรักษาโรคซับซ้อนเข้ากับการดูแลเชิงป้องกัน
ที่ผ่านมา มีการริเริ่มและวางรากฐานเวชศาสตร์เชิงป้องกัน ภายใต้ชื่อ "ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์" ซึ่งเป็นสถาบันเวชศาสตร์ชะลอวัยแบบบูรณาการ โดยยึดหลัก 4C1W เป็นปัจจัยหลักเพื่อก้าวสู่ปีแห่งความเป็นเลิศ ประกอบด้วย
1. Critical Care การรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤต
2. Complicated Care การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนหลายโรคหรือโรคหายาก
3. Cutting-edge technology การให้ความสำคัญและประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี
4. Collaboration of expertise and partners การทำงานที่สอดประสานกันและการแสวงพันธมิตรที่เข้มแข็ง
และ 1. W = Wellness การแพทย์เชิงป้องกัน
"หัวใจสำคัญ ของการทำธุรกิจโรงพยาบาล คือ คุณภาพและความปลอดภัย บำรุงราษฎ์ คือ มีเป้าหมายชัดเจน คือ การทำเพื่อผู้ป่วยส่งมอบความปลอดภัยสูงสุด มุ่งเน้นเชิงป้องกัน วินิจฉัยความเสี่ยง ไม่ให้คนเจ็บป่วย และหากเจ็บป่วยนวัตกรรมทางการแพทย์ต้องทันสมัย ทัดเทียมนานาชาติ"
ดูแลผู้ป่วยวิกฤต โรคซับซ้อน
ในปี 2565 บำรุงราษฎร์ มุ่งมั่นในการรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤต และการดูแลโรคซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็น
- การเปิด ‘แผนกผู้ป่วยวิกฤตระบบประสาทและไขสันหลัง’ (Neurocritical Care Unit: NCCU)
- การเปิด ‘ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร’ (Gastrointestinal Motility Center)
- การเปิด ‘ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา’ (Cornea Transplant Center)
- ‘คลินิกคุณภาพการนอนหลับ’ (Comprehensive Sleep Clinic) ค้นหาสาเหตุแท้จริงในการนอน ตรวจ วางแผน เพื่อหาแนวทางให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ
อีกทั้ง การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับสร้างเสริมประสบการณ์ผู้ป่วย พัฒนาคุณภาพของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อให้บริการด้านจีโนมิกส์ด้วยเทคโนโลยี Next Generation Sequencing (NGS) ที่ช่วยในการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อทำนายโรค เช่น มะเร็ง ความเสี่ยงโรคหัวใจ การแพ้ยา รวมถึงการตรวจโครโมโซมของลูกตั้งแต่ยังไม่คลอด
การเปิดตัว Radiology AI นวัตกรรมที่เข้ามาช่วยรังสีแพทย์ในการวิเคราะห์และระบุตำแหน่งภาวะความผิดปกติของปอดและมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่มได้อย่างแม่นยำ ปัจจุบันใช้กับผู้ป่วยทุกรายที่มาเอกซเรย์
รวมถึงการปรับตัวสู่การเป็น Digitized Hospital โดยนำประโยชน์ของเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริการ มีการพัฒนา Bumrungrad Application ให้ครอบคลุมมากขึ้น นัดหมายแพทย์ ความรู้ต่าง และการปรึกษาแพทย์ทางไกล ดูประวัติการตรวจ ผลแล็บ และรับยา เพิ่มฟีเจอร์ Bumrungrad FastTrack Pay เพื่อความสะดวกในการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่น โดยไม่จำเป็นต้องรอชำระเงินหน้าเคาน์เตอร์ เป็นต้น
4 เสาหลัก สู่ความเป็นเลิส
สำหรับปี 2566 ภายใต้แนวคิดของ 4C1W บำรุงราษฎร์ประกาศให้เป็นปีสู่ความเป็นเลิศ (Year of Excellence) โดยมีเสาหลักด้านความเป็นเลิศ 4 ประการ ได้แก่
1. ความเป็นเลิศด้านบุคลากร (People Excellence)
บุคลากรโรงพยาบาล คือ ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด บำรุงราษฎร์มีนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่องในการสรรหา สร้าง รักษา และพัฒนาบุคลากรให้เติบโตไปพร้อมกับองค์กร ตลอดจนปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งจากรุ่นสู่รุ่น หนึ่งในกิจกรรมที่บำรุงราษฎร์ทำมาโดยตลอด คือ การสร้างและพัฒนาให้มีบุคลากรด้านการแพทย์และการพยาบาลที่ทรงคุณค่าให้แก่โรงพยาบาลและแก่ประเทศชาติ ซึ่งรวมถึงการให้ทุนการศึกษาแก่พยาบาล
"ศ.นพ.นิมิต เตชไกรชนะ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรบำรุงราษฎร์ และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยและการศึกษา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า การเดินหน้าสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน ต้องอาศัยคน ทุกคนในองค์กรต้องทำงานสอดคล้องกัน มีการบริหารจัดการที่ดี การได้คนเก่งมาทำงานจะทำอย่างไรให้รักษาเขาไว้ได้ และส่งเสริมอย่างไรให้เขาเก่งขึ้น
"เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์เปลี่ยนไว หากไม่พัฒนาเราจะยังอยู่ที่เดิม ดังนั้น หัวใจสำคัญ คือ การอบรม ให้ความรู้ โดยฝ่ายแพทย์จะคอยทบทวนความรู้ อัพเดทข้อมูล และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างการผ่าตัดโดยหุ่นยนต์ ต้องรีสกีล"
โรงพยาบาลมีสถาบันทางวิชาการที่ส่งเสริมด้านการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อให้บุคลากรมีความรู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ ถือได้ว่าปัจจุบันบำรุงราษฎร์เป็น ‘สถาบันวิชาการทางการแพทย์ภาคเอกชน’ หรือ Academic Private Hospital อย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งยังสนับสนุนให้แพทย์และบุคลากรได้มีโอกาสทำงานวิจัย ตีพิมพ์ผลงานในวารสารทางวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งนับเป็นการถ่ายทอดแบ่งปันองค์ความรู้ขององค์กรไปสู่สาธารณชนอีกด้วย
2. ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Clinical Excellence)
การแพทย์ นับเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้รับบริการ "รศ.นพ. ทวีสิน ตันประยูร" ประธานปฏิบัติการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า ในปีนี้ โรงพยาบาลฯ มีการยกระดับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) ได้แก่ สถาบันหัวใจ ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน ศูนย์โรคระบบประสาท ศูนย์ทางเดินอาหารและตับและลำไส้ และศูนย์จักษุ ซึ่ง 5 ศูนย์ความเป็นเลิศนี้ เปรียบเสมือนเรือธงในการขับเคลื่อนการรักษาพยาบาลในปี 2566
ขณะที่ศูนย์การรักษาอื่น ๆ ยังคงให้บริการด้วยคุณภาพมาตรฐานและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานของบำรุงราษฎร์ทุกประการ โดยบำรุงราษฎร์มีองค์แพทย์ที่เข้มแข็ง ทำหน้าที่กับการกำกับดูแลทางการแพทย์ (Clinical Governance) ซึ่งเป็นธรรมภิบาลของแพทย์ เพื่อให้การประกอบวิชาชีพของแพทย์ให้เป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามจริยธรรมและศีลธรรม (Moral) อย่างถูกต้องเหมาะสม และเป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีกระบวนการตอบสอบภายในอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล
ตลอดจนมีแผนระยะยาวในการเตรียมแพทย์รุ่นใหม่ให้มีความพร้อมในการก้าวขึ้นมาเป็นแพทย์ผู้ชำนาญการและแพทย์ผู้บริหารของโรงพยาบาลในรุ่นต่อไป (Building Tomorrow Doctors) ด้วยการออกแบบหลักสูตรพัฒนาแพทย์ที่เป็นแบบฉบับของบำรุงราษฎร์เอง รวมไปถึงการขยายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ อาทิ ศูนย์มะเร็ง ร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตร ได้แก่ โรงพยาบาลพิษณุเวช และ โรงพยาบาลนครธน เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน
"การจะเดินหน้าสู่ "ความเป็นเลิศทางการแพทย์" ต้องเริ่มต้นจากการรวบรวมแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ ขณะที่โรงพยาบาลต้องมีธรรมาภิบาล มีความเสมอภาค เปิดเผย ไม่ปิดบัง และเป็นไปตามจริยธรรม มาตรฐานทางการแพทย์ เพื่อให้เดินหน้าไปพร้อมกัน สิ่งแวดล้อมที่ดีจะดึงดูดให้แพทย์เก่งๆ รวมถึงต้องกำกับดูแลแพทย์ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน และความรู้ในปัจจุบัน มีการเก็บผลการรักษามาวิเคราะห์ ปรับปรุง วิธีการรักษา และพัฒนาแพทย์ทั้งแพทย์ที่อยู่เดิมและแพทย์ใหม่"
3. ความเป็นเลิศด้านคุณภาพและความปลอดภัย (Quality and Safety Excellence)
คุณภาพและความปลอดภัย คือ หัวใจสำคัญอีกประการหนึ่ง อีกทั้งยังมีการให้องค์กรอิสระภายนอกเข้ามาตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากล (JCI), มาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ‘ขั้นก้าวหน้า’ (A-HA), การรับรองจาก Global Healthcare Accreditation (GHA) ในระดับความเป็นเลิศมาตรฐานสากลในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เดินทางเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย
4. ความเป็นเลิศในการส่งเสริมประสบการณ์ผู้ป่วย (Patient Experience Excellence)
โรงพยาบาลฯ ได้มีการปรับปรุงวิถีแห่งบำรุงราษฎร์ (Bumrungrad Way) ซึ่งเป็นแนวปฎิบัติของบุคลากรในการบริการผู้ป่วยที่เป็นแบบฉบับของบำรุงราษฎร์เองให้สอดรับตามยุคสมัย แต่ยังคงแนวปฏิบัติที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการรักษาพยาบาล นำไปสู่การให้บริบาลด้วยความเอื้ออาทร (compassionate caring)
Wellness เสริมจุดแข็งการแพทย์ไทย
ท้ายนี้ "ภญ.อาทิรัตน์" กล่าวเสริมว่า เทรนด์ของ Wellness กำลังมาแรง หลายคนหันมาดูแลสุขภาพ ปัจจุบัน ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ เติบโตอย่างมากและสร้างรายได้กว่า 1 พันล้านบาทในปี 2565 รวมถึงบริการที่ RAKxa (รักษ) ศูนย์บูรณาการสุขภาพและการแพทย์แบบองค์รวมที่บางกระเจ้า และพันธมิตรอื่น ๆ ถือเป็นการเสริมจุดแข็งด้านการแพทย์ของไทย สู่เป้าหมายของการเป็น ‘ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ’ หรือ ‘การแพทย์ครบวงจร’ (Medical Hub) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) สร้างชื่อเสียงความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ และสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบให้กับประเทศชาติ