20 ปี 'กับดักรายได้ปานกลาง' ทำอย่างไร ไทยจะเจอทางออก
ประเทศไทย ประสบกับปัญหาเรื่องกับดักรายได้ปานกลางมานานกว่า 20 ปี มูลนิธิเอเชีย ชี้ทางออก ต้องเพิ่มอันดับความสามารถในการแข่งขัน ให้ความสำคัญ โรงเรียนขนาดเล็ก ลดเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย
ในปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดอันดับจาก ธนาคารโลก ว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางมานานกว่า 20 ปี ซึ่งถือว่าเป็นกับดักรายได้ปานกลาง หรือสถานการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจที่ประเทศซึ่งมีรายได้อยู่ในระดับหนึ่งและติดอยู่ในระดับนั้นเป็นเวลานาน
การที่ประเทศไทยจะเติบโตเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้นั้น ทางภาครัฐและเอกชนต่างมีความเห็นว่าจะต้องมีการพัฒนา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี ฯลฯ โดยมีการศึกษาเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวทาง มูลนิธิเอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ได้มีความเห็นและมุมมองที่สามารถนำไปปรับใช้ ต่อยอดได้อย่างน่าสนใจ
โทมัส พาร์ค ผู้แทนมูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยประสบกับปัญหาเรื่องกับดักรายได้ปานกลางมานานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่มีต้นทุนการทำธุรกิจและแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา นอกจากในด้านเศรษฐกิจแล้วยังมีเรื่องของการศึกษาที่เป็นปัจจัยสำคัญ
"หลายๆ ธุรกิจบอกว่ากำลังประสบปัญหาในการหาบัณฑิตจบใหม่ที่มีคุณสมบัติสูงด้านแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นสิ่งท้าทายที่สำคัญ ในการก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางของประเทศไทย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำอย่างไรจะออกจาก กับดักรายได้ปานกลาง
ถ้าต้องการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางจะต้องปฏิรูปการศึกษา โดยระบบการศึกษาจะต้องทำให้อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาในระดับนานาชาติดีขึ้น มีการผลิตนักเรียนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถพูดภาษาอังกฤษ ก็จะดึงดูดให้ภาคธุรกิจหันมาสนใจแรงงานที่มีความ สามารถแข่งขันในระดับสากล
สิ่งสำคัญ ก็คือ เราจะทำให้ระบบการศึกษาทำงานดีขึ้นได้อย่างไร หลายคนอาจจะมองไปที่โรงเรียน แต่ผมเห็นว่าจะต้องทำให้ทั้งระบบสามารถดูแลนักเรียนได้เป็นจำนวนมาก หรือทำให้ประเทศไทยโดยรวมก้าวไปสู่ขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่การมุ่งเป้าเพื่อดูแลประชาชนกลุ่มเล็กๆ
แก้ปัญหา 2 ประการ
ในด้านการศึกษาทางมูลนิธิเอเชียนั้นได้มุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหา 2 ประการคือ
1)การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพโดยรวมของระบบการศึกษาไทย ซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างทั้งระบบและเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก
2)ลดความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษา ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก ทั้งในโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ชนบทและในเมือง
สร้างพื้นที่สร้างสรรค์
นอกจากนี้ การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กในการแสดงออกก็เป็นสิ่งสำคัญ การส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้ความรู้กับคุณครูเพื่อสอนเด็กก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่การเข้าไปพูดคุยสอบถามนักเรียนว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไร เป็นเรื่องที่มีความลึกซึ้งมากกว่า เพราะจะทำให้ทราบข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ สามารถชี้นำไปในทางที่ถูกต้อง
"ซึ่งจากการจัดโครงการประกวดเรียงความ 'ครูใหญ่ในใจเรา' ที่ผ่านมา ทำให้ได้พบว่านักเรียนต้องการให้ผู้อำนวยการมีส่วนร่วมกับชีวิตประจำวันในโรงเรียนมากขึ้น อาทิ การเดินไปพบนักเรียนในชั้นเรียน, สังเกตว่าครูกำลังทำอะไร รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ให้มากขึ้น และออกไปพูดคุยกับชุมชนหรือเจ้าหน้าของที่รัฐ หรือใช้เวลาไปกับการหาทุนการศึกษาให้น้อยลง"
นอกจากนี้ นักเรียนยังต้องการผู้อำนวยการที่มีความยุติธรรมและเสมอภาค ให้เกียรติกับคนต่างเพศหรือมีภูมิหลังต่างกัน และจะชื่นชมเมื่อมีการใช้วาจาที่เหมาะสมและเป็นที่น่าเคารพนับถือ ฯลฯ
" โดยผลที่ได้รับจากการประกวดเรียงความในครั้งนี้ คือ นักเรียนรู้สึกว่าความคิดเห็นของพวกเขามีความสำคัญ สามารถช่วยปรับปรุงโรงเรียน หรือแก้ไขระบบการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เป็นการขยายพื้นที่ให้นักเรียนมีบทบาท หรือเคารพต่อบทบาทของตนเองมากขึ้นในอนาคต”
โทมัส ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า ในอนาคตมูลนิธิเอเชีย มีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับกระทรวง ศึกษาธิการ และโรงเรียนต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน โดยจะให้ความสำคัญเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท ที่ต้องมีความพร้อมและได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในปัญหาความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย
"มูลนิธิเอเชีย ก่อตั้งมานานเกือบ 70 ปี มีการทำงานกับหลายภาคส่วน ทั้งในเรื่องการพัฒนา นโยบายต่างประเทศ การเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง เทคโนโลยี อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และการศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาไปพร้อมกับประเทศไทย ที่ในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าท้ายครั้งยิ่งใหญ่คือเรื่องกับดักรายได้ปานกลาง” โทมัส กล่าวทิ้งท้าย