'ซ้อมดับเพลิง' ให้ปลอดภัย เปิดข้อควรรู้ วิธีใช้ถังดับเพลิงที่ถูกต้อง
กรณีถังดับเพลิงระเบิด รร.ราชวินิตมัธยม ชวนเปิดวิธีการ "ซ้อมดับเพลิง" ให้ปลอดภัย พร้อมวิธีใช้งานถังดับเพลิงอย่างถูกต้อง ไม่ให้เกิดอันตราย
จากเหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิด ระหว่างซ้อมดับเพลิง โรงเรียนราชวินิตมัธยม เป็นเหตุให้มีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย ในช่วงวันที่ 23 มิ.ย. 66 โดยสาเหตุอยู่ระหว่างตรวจสอบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือนำ ผู้บาดเจ็บส่ง รพ.วชิระ และ รพ.กลางแล้วนั้น
แม้เบื้องต้นคาดว่า สาเหตุหลักจะอยู่ที่ตัวถังดับเพลิงที่เกิดการระเบิด อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นของการ "ซ้อมดับเพลิง" และ "ซ้อมหนีไฟ" นั้นยังคงเป็นเรื่องสำคัญ "กรุงเทพธุรกิจ" จึงชวนทำความเข้าใจ ว่า ทำไมเราต้องซ้อมดับเพลิง รวมถึงเปิดข้อกฎหมายที่สถานประกอบการ และนายจ้างควรทราบ เกี่ยวกับการซ้อมดับเพลิง พร้อมข้อแนะนำการใช้ถังดับเพลิงอย่างปลอดภัย
- ทำไมเราต้องซ้อมดับเพลิง
แน่นอนว่า เมื่อเกิดเหตุหรือภัยใดๆ แบบฉุกเฉินขึ้นมา คนเราส่วนใหญ่จะตื่นตระหนก และอาจรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าได้ไม่เหมาะสมจากความตกใจ ดังนั้น การฝึกซ้อมดับเพลิง และซ้อมหนีไฟ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เราคุ้นเคยหากเกิดเหตุจริงจะได้รู้ว่า ต้องทำอย่างไร
การซ้อมดับเพลิง และ ซ้อมหนีไฟ จะทำให้เราได้ทบทวนข้อปฏิบัติกรณีเกิดเหตุไฟไหม้ เช่น ต้องหนีไปทางไหน ตำแหน่งของทางหนีไฟ ข้อห้ามทำกรณีเกิดเหตุ รวมถึงได้ทราบว่า อุปกรณ์ดับเพลิงในอาคารนั้นๆ ติดตั้งที่จุดไหน และใช้งานอย่างไร
ขณะเดียวกัน ฝั่งเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ก็จะได้ตรวจเช็กความสมบูรณ์เรียบร้อยของอุปกรณ์ต่างๆ ว่า พร้อมใช้งานหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
โดยเฉพาะสำหรับสถานประกอบการ และอาคารสำนักงานต่างๆ ก็มีกฎหมายข้อบังคับโดยเฉพาะเพื่อสร้างความปลอดภัยแก่พนักงาน แรงงานที่ทำงานในที่แห่งนั้น โดยอ้างอิงตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 มีข้อกำหนดที่น่าสนใจ อาทิ
สถานประกอบการทุกแห่งที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องจัดทำป้ายข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการดับเพลิง และการอพยพหนีไฟ โดยให้ปิดประกาศให้เห็นได้อย่างชัดเจน
ขณะที่สถานประกอบกิจการที่มีอาคารตั้งแต่สองชั้นขึ้นไป หรือมีพื้นที่ประกอบกิจการตั้งแต่ 300 ตารางเมตรขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย รวมถึงดูแลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน อีกทั้งยังต้องติดตั้งสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ในสถานประกอบกิจการทุกชั้น ฯลฯ
ทั้งนี้ สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไป หรืออาคารสำนักงานที่มีสถานประกอบกิจการอยู่รวมกัน แนะนำให้ควรมีการฝึกซ้อมดับเพลิงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ถังดับเพลิงมีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร
เกี่ยวกับ "ถังดับเพลิง" นั้น เรื่องหนึ่งที่บางคนยังไม่ทราบ คือ ถังดับเพลิงมีหลายแบบ และเราต้องเลือกใช้ถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับประเภทเชื้อเพลิง ได้แก่
- ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ใช้ดับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงได้เกือบทุกประเภท ยกเว้นเพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันที่ติดไฟยาก เมื่อฉีดพ่นออกมาจะมีลักษณะเป็นฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย จึงเป็นอุปสรรคต่อการดับเพลิง รวมถึงก่อให้เกิดคราบสกปรก
- ถังดับเพลิงชนิดเคมีสูตรน้ำ ใช้ดับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงทั่วไป ของเหลวติดไฟ ก๊าซเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และน้ำมันที่ติดไฟยาก เหมาะสำหรับควบคุมเพลิงในห้องครัว เนื่องจากสามารถดับไฟที่เกิดจากน้ำมันประกอบอาหารได้
- ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย เหมาะสมำหรับควบคุมเพลิงไหม้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ห้องไฟฟ้า ห้องเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้สำนักงาน เนื่องจากไม่ทำให้เกิดคราบสกปรก
- ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เหมาะสมำหรับควบคุมเพลิงไหม้สถานีบริการน้ำมัน ก๊าซที่ฉีดออกมาจะเป็นไอเย็นจัดคล้ายน้ำแข็งแห้ง จึงช่วยลดความร้อนของไฟ รวมถึงไม่ทำให้เกิดคราบสกปรก แต่ไม่เหมาะสำหรับนำไปใช้ในบริเวณที่ไม่มีอากาศถ่ายเท เพราะอาจทำให้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิต
- ถังดับเพลิงชนิดโฟม เหมาะสำหรับดับเพลิงในภาคอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงประเภททินเนอร์ และสารระเหยติดไฟ เมื่อฉีดพ่นออกมา จะมีลักษณะเป็นฟองโฟมปกคลุมเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ แต่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ หากนำไปดับเพลิงที่เกิดกับเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้า จะทำให้ผู้ใช้งานถูกไฟฟ้าดูดได้
- วิธีใช้งานถังดับเพลิงอย่างถูกต้อง
จากข้อแนะนำโดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุถึงวิธีใช้งานถังดับเพลิงที่ถูกต้อง แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. ดึงสลักนิรภัยออกจากคันบีบบริเวณหัวถังดับเพลิง โดยหมุนสลักจนตัวยึดขาด และดึงสลักทิ้ง
2. ปลดสายฉีดออกจากตัวถังดับเพลิง โดยดึงจากปลายสายและใช้มือจับสายให้มั่นคง
3. กดคันบีบด้านบนของถังดับเพลิง เพื่อให้น้ำยาดับเพลิงพุ่งออกจากหัวฉีดไปยังต้นเพลิง
4. ส่ายหัวฉีดของถังดับเพลิงให้ทั่วบริเวณต้นเพลิง
การใช้ถังดับเพลิงเหมาะสมกับประเภทเชื้อเพลิง จะทำให้สามารถควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามและขยายวงกว้าง แต่หากใช้ถังดับเพลิงดับไฟผิดประเภท นอกจากจะไม่สามารถระงับเหตุเพลิงไหม้ได้แล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานอีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้ใช้งานถังดับเพลิงควรอยู่ห่างจากบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ประมาณ 2 - 4 เมตร ทางด้านเหนือลม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดับเพลิง
- หมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉิน
กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เราสามารถโทรแจ้งขอรับความช่วยเหลือได้ ตามเบอร์สายด่วน ดังนี้
โทร 191 เหตุด่วนเหตุร้าย
โทร 199 แจ้งไฟไหม้ - ดับเพลิง
โทร 1554 หน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรภยาบาล
โทร 1646 สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร ศูนย์เอราวัณ
โทร 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
โทร 1784 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
อ้างอิง : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย