HPV DNA Self-Sampling คัดกรอง 'มะเร็งปากมดลูก' เองได้ ไม่ต้องอายหมอ

HPV DNA Self-Sampling คัดกรอง 'มะเร็งปากมดลูก' เองได้ ไม่ต้องอายหมอ

ชวนหญิงไทย ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก HPV DNA ลดเสี่ยง เจอเร็ว รักษาหายได้ ลดโอกาสเป็นมะเร็งฯ และเสียชีวิต พร้อมทางเลือกใหม่ HPV DNA Self-Sampling เก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง

Key Point :

  • มะเร็งปากมดลูก พบเป็นอันดับ 5 ของโรคมะเร็งที่พบในหญิงไทย อีกทั้งยังตรวจพบผู้ป่วยกว่า 25 ราย ต่อวัน
  • อย่างไรก็ตาม มะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้และรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ที่ผ่านมา ผู้หญิงกลับไม่ค่อยเข้ารับการตรวจเนื่องจากเขินอาย และยังไม่มีอาการ 
  • ปัจจุบัน มีการพัฒนาการตรวจแบบ HPV DNA Test ที่ให้แพทย์เก็บตัวอย่างให้ และ HPV DNA Self-Sampling แบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง โดยถูกบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับหญิงไทยอายุ 30-59 ปี 

 

‘มะเร็งปากมดลูก’ เป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 5 ของมะเร็งที่พบในผู้หญิงไทย ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ถึงร้อยละ 80 หากได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหาเชื้อ HPV อย่างสม่ำเสมอ

 

ในอดีตการไปคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คือ วิธีการตรวจแบบแปปสเมียร์ ต้องไปพบแพทย์ ขึ้นขาหยั่ง เพื่อปาดเอาเซลล์ปากมดลูกออกมา และนำมาตรวจในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่ค่อยเข้ารับการคัดกรอง เนื่องจากความเขินอาย และไม่มีอาการผิดปกติ หลายคนรอจนมีอาการแล้วค่อยมาพบแพทย์และมักจะช้าเกินไป

 

 

HPV DNA Self-Sampling คัดกรอง \'มะเร็งปากมดลูก\' เองได้ ไม่ต้องอายหมอ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

แต่ในปัจจุบัน มีการพัฒนาการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในรูปแบบ HPV DNA Test ซึ่งมีทั้งแบบให้แพทย์เก็บตัวอย่างให้ และ HPV DNA Self-Sampling แบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ให้หญิงไทยที่มีอายุ 30-59 ปี สามารถรับสิทธิ์ได้ฟรีผ่านแอปฯ เป๋าตัง นำมาเก็บสิ่งส่งตรวจเองที่บ้าน พร้อมส่งกลับหน่วยบริการ และรอแจ้งผลผ่านแอปฯ เป๋าตัง หากผลเป็นลบ สามารถตรวจซ้ำได้ทุก 5 ปี หากผลเป็นบวกให้รีบพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป

 

หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูก 25 รายต่อวัน

 

นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานสัมภาษณ์พิเศษ ‘HPV DNA Self-Sampling กุญแจสำคัญสู่การกำจัดมะเร็งปากมดลูก’ จัดโดย บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยระบุว่า แม้ว่าปัจจุบัน ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยมีจำนวนที่ลดลง เพราะมีชุดสิทธิประโยชน์หลายอย่าง เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กผู้หญิง รวมไปถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมถึงการรณรงค์ให้เกิด 3 A คือ

  • Awareness เพราะคนไข้ไม่ค่อยตระหนัก ไม่ค่อยกลัวโรคนี้เท่าไร คิดว่าตัวเองไม่เป็นเพราะไม่มีอาการ ซึ่งจริงๆ โรคนี้เป็นภัยเงียบ คือถ้ามีอาการแปลว่าเป็นเยอะแล้ว
  • Accessibility การเข้าถึง ที่ผ่านมาอาจจะเข้าถึงยาก เพราะว่าต้องให้หมอมาตรวจ ต้องขึ้นขาหยั่ง แต่ปัจจุบันเป็นการทำงานเชิงรุกที่ รพ.สต. มีออกหน่วย ให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องเป็นคุณหมอเรียกว่า วีไอเอ (VIA) มาตรวจให้ ก็เป็นการออกตรวจเชิงรุก
  • Affordable สมัยก่อน หากอยากตรวจแบบ HPV คนไข้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง สปสช. เล็งเห็นประโยชน์ และความคุ้มค่า บรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์แทนแปปสเมียร์ ทําให้เรื่องของมะเร็งปากมดลูกลดลง

 

 

HPV DNA Self-Sampling คัดกรอง \'มะเร็งปากมดลูก\' เองได้ ไม่ต้องอายหมอ

 

อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ตรวจพบผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูก 25 ราย ต่อวัน ที่สําคัญ มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่รักษาค่อนข้างยากหากเป็นแล้ว จะแบ่งเป็น 4 ระยะใหญ่ๆ ตั้งแต่ได้รับเชื้อเอชพีวี จนไปถึงเป็นมะเร็ง กินเวลาเป็นสิบปี ดังนั้น การได้ตรวจคัดกรอง ทำให้รู้ก่อน รู้เร็ว รักษาได้ไวขึ้น แต่หากมาระยะที่มีเลือดออกแล้ว มีก้อนที่ปากมดลูกแล้ว กลุ่มนี้จะรักษายาก

 

เชื้อ HPV พบเร็ว รักษาทัน

 

ปัจจุบันมีนวัตกรรม มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น มีการพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง HPV DNA Self-Sampling โดย องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า การตรวจ HPV DNA Self-Sampling มีความคุ้มค่า แนะนำให้เป็นมาตรฐานการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

 

นพ.โอฬาริก อธิบายต่อว่า หากตรวจด้วย HPV DNA หรือ HPV DNA Self-Sampling แล้วผลเป็นลบ แปลว่าสามารถเว้นระยะการตรวจไปได้ 5 ปี จึงตรวจใหม่ แต่หากผลเป็นบวกต้องดูว่าเชื้อ HPV เป็นสายพันธุ์เสี่ยงสูงหรือไม่ หากเป็นสายพันธุ์ 16 และ 18 คือ สายพันธุ์เสี่ยงสูง ต้องให้แพทย์ตรวจเพิ่มเติม

 

“เมื่อเริ่มเป็นน้อยๆ การรักษาก็จะง่าย สะดวก หายเร็ว และหายได้ ดังนั้น ความสำคัญคือ หากตรวจแล้วผลเป็นบวกให้รีบมาพบแพทย์ บางคนอาจจะไม่เป็นอะไรเลยก็ได้ หรือหากพบเชื้อเอชพีวี จะได้ทำการรักษาแต่เนิ่นๆ อย่าลืมว่ามะเร็งในระยะแรกเริ่มแม้จะมีอาการผิดปกติ แต่ก็อาจจะเหมือนปกติ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เป็นมากแล้ว จึงอยากรณรงค์ให้ผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจคัดกรอง HPV DNA ให้แพทย์ตรวจให้ที่สถานบริการ หรือจะเก็บตัวอย่างด้วยตนเองแบบ HPV DNA Self-Sampling ก็ได้ เพราะเชื้อ HPV ยิ่งตรวจพบไวยิ่งดี จะได้ทำการรักษาก่อนเชื้อพัฒนาไปเป็นมะเร็ง”

 

HPV DNA Self-Sampling คัดกรอง \'มะเร็งปากมดลูก\' เองได้ ไม่ต้องอายหมอ

 

สิทธิประโยชน์หญิงไทย 30-59 ปี

 

ที่ผ่านมา ในปี 2563 บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA testing (เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทส) ที่มีความแม่ยำสูง เป็นสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตรวจทุกๆ 5 ปี เพื่อทดแทนการตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap smear) หรือ วีไอเอ (VIA) แต่ด้วยความไม่สะดวกในการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองที่หน่วยบริการ รวมถึงพฤติกรรมเขินอายที่จะเข้ารับบริการฯ บอร์ด สปสช.จึงได้อนุมัติให้ชุดเก็บสิ่งส่งตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง 'HPV DNA Self Collection' (เอชพีวี ดีเอ็น เซล คอลเลคชัน) เป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อเป็นทางเลือกในการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง

 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคมะเร็งปากมดลูก นับเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย โดยสถิติพบว่า เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 5 ในผู้หญิงไทย และมีอัตราการเสียชีวิตปีละเกือบ 5,000 ราย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นมะเร็งที่รักษาให้หายได้หากพบในระยะแรกเริ่ม เนื่องจาก ร้อยละ 70 ของโรคเกิดจากการติดเชื้อ HPV (เอชพีวี) โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อหาการติดเชื้อเอชพีวีในระยะแรกเริ่ม เพื่อนำไปสู่การรักษา จึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญ เพื่อลดจำนวนหญิงไทยที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก

 

“การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสตรีไทยอายุ 30-59 ปี สามารถขอรับชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองได้ที่โรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ และเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ขอรับชุดตรวจได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง สปสช.ได้นำร่องที่เขตสุขภาพที่ 7 ใน 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยเพิ่ม ร้านยาและคลินิกพยาบาล จำนวน 119 แห่ง ให้เป็นจุดที่กลุ่มเป้าหมายขอรับชุดตรวจได้ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง"

 

ทั้งนี้ ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง ‘กระเป๋าสุขภาพ’ จะมีการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของผู้หญิงอยู่ 22 รายการ สำหรับสิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยปี 2566 นี้ ตั้งเป้าหมายไว้ 1.2 ล้านราย ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 7 แสนราย หรือร้อยละ 56.8 จึงอยากเชิญชวนให้สตรีกลุ่มเสี่ยงมาใช้สิทธิ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะหากเจอระยะต้นๆ สามารถรักษาหายได้ และหากผลออกมาเป็นลบ แปลว่าท่านปกติ สามารถกลับมาตรวจใหม่ในอีก 5 ปี

 

HPV DNA Self-Sampling คัดกรอง \'มะเร็งปากมดลูก\' เองได้ ไม่ต้องอายหมอ

 

ลดการสูญเสียจากโรงมะเร็งปากมดลูก

 

ด้าน พิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก พยายามลดการสูญเสียจากโรคมะเร็งปากมดลูก และประเทศไทยโชคดีที่มีสิทธิประโยชน์จากทาง สปสช. ในส่วนของภาคเอกชน อย่าง โรช ไดแอกโนสติกส์ ประเทศไทย เราเองก็พยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งของจิ๊กซอว์นี้ เพื่อจะทำให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ ด้วยนวัตกรรมเครื่องมือห้องปฏิบัติการทางการแพทย์แบบออโตเมชั่น (automation) ในห้องแล็บ ช่วยลดภาระและปริมาณงานของเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ รวมถึงช่วยในการประชาสัมพันธ์สื่อต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการตรวจคัดกรองฯ ซึ่งช่วยชีวิตผู้หญิงให้ไม่ต้องเสียชีวิตจากโรคนี้

 

HPV DNA Self-Sampling คัดกรอง \'มะเร็งปากมดลูก\' เองได้ ไม่ต้องอายหมอ