'นาฏศิลป์ประยุกต์' ส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ
มทร.ธัญบุรี นำท่านาฏศิลป์ประยุกต์ ส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ สร้างความสัมพันธ์ภายในสังคมระหว่างบุคคล บูรณาการการเรียนการสอนเป็นสื่อการเรียนรู้ และการนำไปใช้ในการสร้างงานที่เชื่อมโยงกับชุมชนและสังคม
Key Point :
- มทร.ธัญบุรี พัฒนารูปแบบกิจกรรมการออกกำลังกายโดยใช้ท่านาฏศิลป์ประยุกต์ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ
- การวิจัยครั้งนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 30 คน ผลการประเมินระดับความพึงพอใจของของผู้สูงอายุที่มีต่อกิจกรรม อยู่ในระดับมากที่สุด สามารถนำมาดัดแปลงและประยุกต์เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้
- ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของการนำเอาศาสตร์และศิลป์ทางด้านนาฏศิลป์และดนตรีมาประยุกต์ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
นักวิจัย มทร.ธัญบุรี นำท่านาฏศิลป์ประยุกต์ ส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุเพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของการนำเอาศาสตร์และศิลป์ทางด้านนาฏศิลป์และดนตรี ที่สำคัญเป็นการสร้างความสัมพันธ์ภายในสังคมระหว่างบุคคล บูรณาการในการเรียนการสอนเป็นสื่อการเรียนรู้ และการนำไปใช้ในการสร้างงานที่เชื่อมโยงกับชุมชน และสังคม
ทีมนักวิจัยประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประวิทย์ ฤทธิบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา ภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชราภัณฑ์ ไชยสังข์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกันพัฒนารูปแบบกิจกรรมการออกกำลังกายโดยใช้ท่านาฏศิลป์ประยุกต์ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ถอดรหัสกลุ่ม 'Blue Zone' กินอย่างไร ให้อายุขัยยืนยาว
- สูงวัยไม่เหงา 'ผู้ช่วยเฉพาะกิจ' หาหมอ พาเที่ยว ไม่เดียวดาย
- 'ของกินเล่น ของหวาน'สำหรับผู้สูงอายุ กินแล้วอร่อย ดีต่อสุขภาพ
โดยนำท่ารำของนาฏศิลป์พื้นฐานกับอัตลักษณ์ท่ารำมอญที่เป็นนาฏศิลป์พื้นเมืองของท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี ที่มีความเชื่อมโยงทางด้านศิลปวัฒนธรรมกับการดำเนินชีวิตมาสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นศักยภาพการนำศิลปวัฒนธรรมความเป็นท้องถิ่น เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาหรือความเจริญทางกาย อารมณ์สังคม และสติปัญญา ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในด้านการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นพื้นเมืองซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ผู้สูงอายุเข้าถึงได้ง่าย
ท่านาฏศิลป์ประยุกต์ 7 กิจกรรม ประกอบด้วย
กิจกรรมที่ 1 สูงวัยใสใจสุขภาพ
กิจกรรมที่ 2 เรียนรู้การดูแลตัวเอง
กิจกรรมที่ 3 ยืดคลายสไตล์รำไทย
กิจกรรมที่ 4 นาฏกรรมสร้างสรรค์ บันเทิงปทุม
กิจกรรมที่ 5 นาฏกรรมสัมพันธ์
กิจกรรมที่ 6 สูงอายุโชว์พาว
กิจกรรมที่ 7 ปัจฉิมนิเทศ
ใช้เวลาในการทำกิจกรรมจำนวน 16 ครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมง 30 นาที ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน มีความสอดคล้องกันและมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 30 คน ที่อยู่ในศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ หมู่บ้านฟ้ารังสิต ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ผลการประเมินระดับความพึงพอใจของของผู้สูงอายุที่มีต่อกิจกรรมการออกกำลังกายโดยใช้ท่านาฏศิลป์ประยุกต์หลังการเข้าร่วมกิจกรรมโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เนื่องจากผู้วิจัยได้ใช้ท่ารำทางนาฏศิลป์ไทยมาประยุกต์เข้ากับจังหวะของดนตรี เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะสามารถนำมาดัดแปลงและประยุกต์เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้
ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า รูปแบบกิจกรรมการออกกำลังกายโดยใช้ท่านาฏศิลป์ประยุกต์ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ โดยใช้ศาสตร์ทางด้านนาฏศิลป์และดนตรี มาประยุกต์โดยใช้หลักของการเคลื่อนไหวของร่างการในการแสดงออกเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาหรือความเจริญทางกาย อารมณ์สังคม และสติปัญญา พัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของสื่อเทคโนโลยีและคู่มือกิจกรรมกิจกรรมการออกกำลังกายที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี สามารถปรับสภาพของตนเองในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้ อีกทั้งยังเผยแพร่ในรูปแบบวิชาการ
สิมิลัน อึงปัญญา (ครูนาย) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 คุณครูผู้ดูแลห้องเรียนคลาสกิจกรรมนาฏศิลป์ เป็นอาจารย์ฝึกสอนพิเศษให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ หมู่บ้านฟ้ารังสิต ตำบลบึ่งยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยปกติในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ผู้สูงอายุจะรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ของผู้คนในกลุ่มชุมชน และยังเป็นช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุได้มีพบปะสังสรรค์ ถามสารทุกข์สุขดิบของกันและกัน
มีโอกาสพูดคุย และนำงานวิจัยนาฏศิลป์ประยุกต์ส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ นำท่ารำประยุกต์มาให้กลุ่มผู้สูงอายุได้ทดลองใช้ ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุมีความชื่นชอบและทำให้พวกเขามีสุขภาพที่แข็งแรงดียิ่งขึ้น ท่ารำต่างๆล้วนแต่เป็นท่าที่เหมาะสม ซึ่งมีอาจารย์พยาบาลได้กำกับดูแลในทุกกระบวนท่า เพราะแต่ละท่าที่รำนั้นจะมีลักษณะพิเศษที่สามารถช่วยให้กล้ามเนื้อของร่างกายได้รับผลลัพธ์ที่ดีและสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น ผนวกกับผู้สูงอายุชอบการทำกิจกรรมแบบนี้อยู่แล้ว จึงทำให้งานวิจัยชิ้นดีเกิดความคุ้มค่าได้มากที่สุด
ศรียาพร อัมพวา อายุ 63 ปี ได้เข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกาย โดยใช้ท่ารำประกอบกับดนตรี เล่าว่ามีความสุข เหมือนได้มาขยับร่างกายได้มาร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ ได้พบปะอาจารย์และคนอื่นๆ ทำให้มีความสุข แต่ร่างกายก็แข็งแรงขึ้น มากที่สุดเห็นจะเป็นสุขภาพจิตมี ความสุข ไม่เหงา สดชื่น ยิ่งได้พูดคุยและทำกิจกรรมกับเพื่อนๆและพวกอาจารย์ยิ่งทำให้มีความสุข
ผลการวิจัยดังกล่าวจดลิขสิทธิ์ ประเภทงานนาฏกรรม ชื่อผลงาน บันเทิงปทุมและได้รับรางวัลระดับดีเด่น (ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) การประกวดผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประจำปี 2566 เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนอีกด้วย
เป็นแนวทางในการออกแบบกิจกรรมการออกกำลังกายโดยใช้ท่านาฏศิลป์ประยุกต์ ช่วยส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี และเพื่อเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของการนำเอาศาสตร์และศิลป์ทางด้านนาฏศิลป์และดนตรีมาประยุกต์โดยใช้หลักของการเคลื่อนไหวของร่างการในการแสดงออกเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาหรือความเจริญทางกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และที่สำคัญเป็นการสร้างความสัมพันธ์ภายในสังคมระหว่างบุคคลอันเป็นรากเหง้าของคนไทยต่อไป