‘เวลเนสไทย’ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ GWI-BDMS Wellness Clinic สร้างศก.สุขภาพ
สถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute หรือ GWI) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มุ่งเน้น งานวิจัยและข้อมูลทางการศึกษาด้านสุขภาพเชิงป้องกันและอุตสาหกรรมเวลเนสทั่วโลก ได้ประกาศสานต่อความร่วมมือกับ บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก เป็นปีที่สอง
KEY
POINTS
- นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในประเทศ โดยเฉลี่ยแล้วจะมีการใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 90,000 บาท ประเทศไทยเจริญเติบโตขึ้นในฐานะจุดหมายปลายทางด้านสุขภาพชั้นนำ
- การร่วมมือกับ GWI สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก ส่งเสริมศักยภาพให้กับชุมชน ด้วยองค์ความรู้ และส่งเสริมผู้นำทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ
- ตั้งเป้าส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ของประเทศย ให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว เป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางการดูแลสุขภาพครบวงจรของโลก
ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการทำวิจัยร่วมกันเพื่อเก็บข้อมูลทางสถิติเวลเนสของประเทศไทย และโอกาสในเศรษฐกิจด้านสุขภาพของโลกที่มีมูลค่าถึง 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ ใน พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ตามรายงาน Wellness Economy Monitor ล่าสุดของ GWI แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันเศรษฐกิจด้านสุขภาพของประเทศไทยมีมูลค่าถึง 1.2 ล้านล้านบาท (3.4 หมื่นล้านดอลลาร์) และอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก (จาก 218 ประเทศทั่วโลก) และอันดับที่ 9 ในระดับภูมิภาค (จาก 45 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก)
ประเทศไทยมีศักยภาพที่แข็งแกร่งทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) โดย ใน พ.ศ. 2565 จัดอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก และอันดับที่ 4 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของภาคการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั่วโลกใน พ.ศ. 2565 ทาง GWI คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตขึ้นในอัตรา 16.6% ต่อปี ไปจนถึง พ.ศ. 2570
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'บีดีเอ็มเอส' รุกตลาด 'การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ' รับเทรนด์โลก
คนไทยน้ำหนักเกินและอ้วน 48.35% ลดน้ำหนัก-ภาวะอ้วน ป้องกันโรค
"ไทย" สวรรค์ของผู้รักสุขภาพและต้องการความเป็นอยู่ที่ดี
นอกจากนี้ยังเผยให้เห็นว่านักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในประเทศไทย โดยเฉลี่ยแล้วจะมีการใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 90,000 บาท (2,501 ดอลลาร์) ต่อการเดินทางใน พ.ศ. 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจาก ประมาณ 70,000 บาท (1,978 ดอลลาร์) ต่อการเดินทางใน พ.ศ. 2563 บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้คนให้ความสำคัญกับประสบการณ์การเดินทางเชิงสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งให้ความคุ้มค่าเงินมากขึ้นและต้องมีการลงทุนมากขึ้น
ประเทศไทยได้เจริญเติบโตขึ้นในฐานะจุดหมายปลายทางด้านสุขภาพชั้นนำ โดยเป็นประเทศที่ผสมผสานทั้งวัฒนธรรมและความงดงาม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนา มวยไทย อาหารไทยที่มีประโยชน์ ไปจนถึงกิจกรรมการออกกำลังกายอย่างหลากหลายที่มีให้เลือก
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขึ้นชื่อในด้านสถานที่แห่งการบำบัดและบริการด้านสุขภาพทางการแพทย์ ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพและผ่อนคลายในราคาที่ไม่แพง เช่น การนวดแผนไทย การตรวจสุขภาพ และการดูแลรักษาเฉพาะทางที่เน้นด้านสุขภาพตั้งแต่ระดับหัวใจและหลอดเลือด ไปจนถึงระดับพันธุกรรม ด้วยคุณภาพด้านการบริการที่ดีเยี่ยมในราคาที่จับต้องได้ ประเทศไทยจึงเปรียบเหมือนสวรรค์ของผู้รักสุขภาพและต้องการมีความเป็นอยู่ที่ดีจากทั่วโลก
GWI ผนึกบีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก ส่งเสริมสุขภาพคนทั่วโลก
Susie Ellis ประธานและซีอีโอของ GWI กล่าวว่า ภูมิศาสตร์เวลเนสของ GWI เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ เช่น BDMS Wellness Clinic ให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เข้าใจมากขึ้นว่า ประเทศของเขาอยู่ในตำแหน่งใดในเศรษฐกิจเวลเนสโลก และโอกาสเติบโตมากมายทางเศรษฐกิจเวลเนสที่สามารถเป็นไปได้
นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท กล่าวว่า การร่วมมือกับ GWI สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก ในการส่งเสริมศักยภาพให้กับชุมชน ด้วยองค์ความรู้ และส่งเสริมให้ผู้นำทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐนำเวลเนสมาเป็นส่วนในหนึ่งของธุรกิจขององค์กร
สำหรับบีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก เป็นศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ Bangkok Dusit Medical Services (BDMS) เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งบีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก ดำเนินงานโดยยึดหลักปรัชญาที่ว่า ‘สุขภาพที่ดีเริ่มที่การป้องกัน’ โดยคลินิกจะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการตรวจประเมินสุขภาพและป้องกันโรค ในขณะเดียวกันก็มีการดูแลเรื่องสุขภาพจิตและร่างกายของผู้รับบริการด้วย
นอกจากนี้ วิกฤตการณ์โรคอ้วนได้เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย โดยใน พ.ศ. 2566 สูงถึง 48.3% ของประชากร ทางบีดีเอ็มเอส เวลเนส ได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาและการนำเทคนิคด้านสุขภาพใหม่ๆ มาใช้ ซึ่งผสมผสานไปด้วยการตรวจพันธุกรรม ฮอร์โมน และอัตราการเผาผลาญ เพื่อส่งเสริมการควบคุมน้ำหนักให้ดีต่อสุขภาพอย่างยั่งยืน
“เราหวังว่าข้อมูลที่ได้รวบรวมมาจาก GWI รวมถึงเครือข่ายที่กว้างขวางทั่วโลกของ GWI จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ของประเทศไทย ให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว และเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางการดูแลสุขภาพครบวงจรของโลก” นพ.ตนุพล กล่าว
อย่างไรก็ตามแม้ว่า เศรษฐกิจด้านสุขภาพของประเทศไทยได้หดตัวลง 31.6% ใน พ.ศ. 2563 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดที่มีต่อการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจได้มีการฟื้นตัวดีขึ้นใน พ.ศ. 2564 และ 2565 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 8.5% ต่อปี นำโดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเติบโตขึ้นเป็น 2.8 แสนล้านบาท (7.8 พันล้านดอลลาร์) ใน พ.ศ. 2565 โดยมีอัตราการเติบโตที่ 36% ต่อปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2565 ตามมาด้วยธุรกิจสปาและบ่อน้ำพุร้อน ซึ่งเป็นภาคที่มีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 21% และ 18% จาก พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2565 ตามลำดับ