เก็บใบไม้ที่ร่วงหล่น สร้างเงินหลายล้านที่เมือง'คามิคัตสึ'

เก็บใบไม้ที่ร่วงหล่น สร้างเงินหลายล้านที่เมือง'คามิคัตสึ'

เมืองเล็กๆ "คามิคัตสึ" ในญี่ปุ่น นอกจากเป็นหมู่บ้านต้นแบบ Zero Waste ของโลก ผู้สูงวัยยังมีอาชีพเก็บใบเมเปิ้ลขาย แรกๆ ก็ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้ เพราะคนต้นคิดไม่ละความพยายามและลงมือทำจริงจัง

 

ใครจะรู้ว่า ลำพังเก็บใบไม้ขาย ก็เป็นธุรกิจมูลค่าหลายสิบล้านได้

ใครจะรู้ว่า ลำพังการเก็บใบไม้ที่ร่วงหล่นในป่า เป็นธุรกิจที่ร้านอาหารญี่ปุ่นในซอยทองหล่อ ต้องสั่งซื้อใบไม้จากบริษัทในเมืองแห่งนี้มาประดับจาน

ใครจะรู้ว่า ใบไม้ที่ดูเหมือนไม่มีค่า กลายเป็นสินค้าที่มีลูกค้าทั่วโลก

คามิคัตสึ เป็นเมืองเล็ก ๆ แวดล้อมด้วยภูเขาและป่า มีประชากรเพียง 1,500 กว่าคน และเกินครึ่งหนึ่งเป็นคนสูงวัย

เมืองนี้คือ เมืองสังคมคนสูงวัย กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการเลี้ยงดูคนชรา

ชาวเมืองคามิคัตสึ เคยมีอาชีพทำสวนส้มเป็นหลัก แต่ในปีค.ศ. 1981 เกิดอากาศหนาววิปริต อุณหภูมิลดลงถึง -13 องศาเซลเซียส ทำให้ต้นส้มยืนต้นตายหมดเศรษฐกิจในเมืองย่ำแย่

ชาวเมืองพยายามเปลี่ยนอาชีพมาปลูกผัก เห็ดหอม ทดแทนต้นส้ม แต่ก็มีรายได้ไม่มากนัก ขณะที่การทำเกษตรต้องใช้แรงงาน แต่ส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัยทำงาน ทำให้ผลิตผลลดลงไปเรื่อย ๆ

จนกระทั่งวันหนึ่ง ในปีค.ศ. 1986 นายโทโมจิ โยโคชิ ประธานสหกรณ์การเกษตรของเมือง ผู้กำลังคร่ำเคร่งว่า จะหาอะไรให้คนสูงวัยทำที่เหมาะสมและมีรายได้มากกว่า ได้ไปทำธุระในเมืองโอซาก้า และมานั่งทานอาหารในร้านแห่งหนึ่ง

เขาสังเกตว่า ลูกค้าในร้านมักประทับใจใบไม้ โดยเฉพาะใบเมเปิ้ลที่ประดับอยู่บนจานอาหาร ถึงขนาดมีลูกค้าสุภาพสตรีคนหนึ่งห่อใบเมเปิ้ลกลับบ้านไปด้วย

นายโยโคชิ เกิดปิ๊งไอเดียว่า เมืองของเขามีใบเมเปิ้ลมากมาย ขณะที่เมืองใหญ่ ๆ แบบโตเกียว โอซาก้า ฯลฯ แทบจะไม่มีใบเมเปิ้ล หากลองเก็บใบเมเปิ้ลมาส่งขายตามร้านอาหารในเมืองใหญ่ น่าจะเป็นธุรกิจที่รุ่งเรืองได้

คนทั่วไปอาจจะชอบคิดฝัน มีไอเดียบรรเจิด แต่ไม่ค่อยลงมือทำ เพราะกลัวอุปสรรคมากมาย และเชื่อว่าคงทำไม่สำเร็จ ความฝันของหลายคนจึงเป็นแค่ความฝัน

แต่ไม่ใช่นายโยโคชิ

ตอนแรกเขานำเอาไอเดียนี้ไปเล่าให้ชาวเมืองฟัง ส่วนใหญ่ไม่มีใครสนใจ พวกเขาเห็นใบเมเปิ้ลเกลื่อนท้องถนน จนเป็นเรื่องชินตา และไม่คิดว่าจะมีค่าเปลี่ยนเป็นเงินได้

แต่โยโคชิ เชื่อว่า ของที่ไม่มีราคาค่างวดในเมืองหนึ่ง อาจจะมีมูลค่าในอีกเมืองหนึ่งที่ไม่มีของเหล่านี้

ชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่สนใจ บางคนถึงกับพูดว่า พวกเขาไม่ยากจนพอที่จะเก็บใบไม้ขายหรอก

มีหญิงชราสี่คน ที่มีอาชีพจัดดอกไม้ขายอยู่แล้ว ยอมทดลองเก็บใบไม้มาขาย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังไม่รู้วิธีจัดวางใบไม้อย่างไร ให้ดูสวยงาม โยโคชิ ต้องลงทุนไปศึกษา ไปกินอาหารตามร้านอาหารหรู ๆ เป็นเวลานับปี กว่าจะเรียนรู้การจัดวางใบไม้ ชนิดของใบไม้ ที่ลูกค้าชื่นชอบ

โยโคชิเรียนรู้ว่า ที่ผ่านมาเชฟของร้านอาหารเป็นคนคิดว่าจะใช้ใบไม้ชนิดใดตกแต่งจาน และเขาได้มีโอกาสไปเรียนรู้จากเชฟหลายร้าน

สองปีต่อมา เมื่อเกิดความเข้าใจ และรู้เคล็ดลับศิลปะการจัดใบไม้ พวกเขาจึงทราบว่า จะจัดวางใบไม้อย่างไร กล่องหนึ่งจะบรรจุใบไม้แบบใด จนเริ่มมีลูกค้าสั่งเข้ามาเรื่อย ๆ

จากคนที่ร่วมโครงการ 4 คน ได้เพิ่มเป็น 167 คน และจากการเก็บใบไม่กี่ชนิด ปัจจุบันมีใบไม้ในออเดอร์ถึง 320 กว่าชนิด ส่วนใหญ่เก็บจากต้นไม้ในสวนของชาวบ้านกว่า 200 สวนรอบ ๆ เมือง

ในปีค.ศ. 2013 อาหารญี่ปุ่นได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก ทำให้ทั่วโลกสนใจทานอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น ใบไม้ประดับจานอาหารก็มียอดสั่งจองมากขึ้น

ทุกวันนี้มีลูกค้านอกจากในเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นแล้ว ยังส่งขายไปทั่วโลก ทำรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 260 ล้านเยน

บางคนมีรายได้ปีละนับสิบล้านเยน ถือว่าสูงมากสำหรับชาวชนบท

เป็นอาชีพที่เหมาะกับคนสูงวัยมากจริง ๆ เพราะคนทำงานเก็บใบไม้ส่วนใหญ่ คือหญิงชราอายุเกิน 70 ปี

แม่บ้านสูงวัยเหล่านี้มีความสุขกับการทำงานนี้มาก และได้เปลี่ยนชีวิตแสนว้าเหว่ของคนไม้ใกล้ฝั่ง ให้กลายเป็นคนกระชุ่มกระชวยราวกับคนในวัยทำงานจริง ๆ

159530067061 แต่ละวันแม่บ้านจะรอรับออเดอร์ความต้องการของชนิดใบไม้จากร้านอาหารผ่านโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต และเมื่อออกไปเก็บใบไม้มาแล้ว ก็จะนำมาแพ็กใส่กล่องอย่างดี ก่อนจะส่งไปให้บริษัท Irodori ที่โยโคชิเป็นคนตั้งขึ้นมา เพื่อรวบรวมส่งขายไปในเมืองใหญ่ ๆของญี่ปุ่น และทั่วโลกด้วย

การใช้แท็บเล็ต ทำให้ผู้สูงวัยสามารถเห็นเส้นทางว่า ใบไม้ของพวกเขาส่งไปที่ไหน และยอดขายเป็นอย่างไร

การเก็บใบไม้ทำให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตดี มีความสุขกับการได้ทำงานที่ไม่หนัก มีคุณค่า มีรายได้ และยังไม่ล้าหลังในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการทำงานและรับข่าวสาร

แต่ละวัน ชีวิตของคนเหล่านี้สนุกราวกับคนหนุ่มสาว ไม่ได้หงอยเหงาเหมือนคนชราทั่วโลก

ทุกวันนี้มีคนหลายพันคนจากทั่วโลกมาเรียนรู้งานที่เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ว่า ในสังคมผู้สูงวัย พวกเขามีความสุขได้อย่างไร

แน่นอนว่า เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ ของชาวเมืองมิคัตสึ คือการได้ตื่นเช้าขึ้นมา เพื่อเก็บใบไม้ และส่งต่อให้คนอื่นได้ชื่นชมความงามของธรรมชาติ

ความฝันของนายโยโคชิ เป็นจริงได้ จากความมุ่งมั่น เพื่อทำให้คนอื่น ๆ มีความสุข

และความฝันของพวกเราล่ะ เมื่อไรจะไปถึง