แรงงานจ่อเข้าไทยนับแสน ยังไร้ 'สถานที่กักกัน'โควิด-19
สธ.เผยยังไร้เงาผู้ประกอบการยื่นขอตั้ง “สถานที่กักกันแรงงานต่างชาติ” พ้อสถานพยาบาลตรวจโควิดผู้ป่วยปอดบวมไม่ถึง50% ย้ำคุมระบาดรอบ 2ได้เร็วขึ้นกับตรวจเจอเร็ว แพทย์-พยาบาล-คนไทยต้องตื่นตัว กำชับทุกฝ่ายทบทวนบทบาท แนะคนไทยเปลี่ยนมุมคิด“มีโควิดก็เที่ยวได้”
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้แม้ประเทศไทยจะไม่เจอผู้ติดเชื้อภายในประเทศ แต่ยังถือว่าประเทศไทยมีโอกาสกลับมาพบผู้ป่วยในประเทศได้ เพราะการไม่มีรายงาน ไม่ได้แปลว่าไม่มีผู้ป่วย เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19ทั่วโลกที่มีการรายงานนั้นต่ำกว่าผู้ติดเชื้อจริง 10 เท่า เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่วันละ 4.7 หมื่นคน อาจมีผู้ติดเชื้อจริงถึง 4.7 แสนคน เป็นต้น เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกราย โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย คล้ายหวัด เจ็บคอบ้าง เมื่อยตัวเล็กน้อย ไข้ไม่สูง ไม่มีไข้ อาจไม่ได้เข้ารับการรักษาตามปกติ เข้าใจว่า หวัดธรรมดา ทำให้ยอดผู้ป่วยรายใหม่ที่รายงานต่ำกว่ารายใหม่ที่เกิดขึ้นจริง
นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยควรจะเรียนรู้จากสถานการณ์ระบาดของโรคในประเทศเวียดนามขณะนี้ เพราะสถานการณ์ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะการระบาดในเมืองดานังนั้นยังสอบสวนหาสาเหตุไม่เจอ แต่มีสมมติฐานว่าน่าจะเกิดจากการมีผู้ติดเชื้อหลงเหลืออยู่ในประเทศ เมื่อประชาชนผ่อนคลายมาตรการตนเองก็กลับมาเจอผู้ติดเชื้อรายใหม่ และเกิดระบาดใหม่แม้จะไม่มีการรายงานเจอผู้ป่วยในประเทศมานาน 90 วันแล้วก็ตาม หรืออาจจะเกิดจากการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ แม้จะมีสถานที่กักกันผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ แต่ก็อาจจะมีช่องโหว่ในการกักกัน และมีการลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย
“ประเทศไทยจะเจอผู้ป่วยใหม่อีกครั้งแน่นอน โอกาสค่อนข้างสูง แต่หวังว่าจะไม่เป็นการระบาด ถ้าระบาดก็วงจำกัด ไม่เป็นวงกว้างขวางมากเกินไป จะสามารถคุมโรคได้ในเวลาสั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจอผู้ป่วยเร็ว สอบสวนโรคเร็ว ติดตามคนสัมผัสผู้ติดเชื้อได้เร็ว ครอบคลุมทุกคนและนำเข้ามาอยู่ในสถานกักกันทั้งหมด ถ้าทำได้ก็จะคุมโรคได้สูงมาก รวมถึง ประชาชนในพื้นที่ที่เจอผู้ป่วยให้ความร่วมมือแค่ไหน ถ้าร่วมมือดีประเทศไทยก็จะเจอผู้ป่วยแต่ไม่มีการระบาด”นพ.ธนรักษ์กล่าว
สิ่งที่จำเป็นและทุกฝ่ายควรทำในตอนนี้ คือ ต้องทบทวนบทบาทตัวเองว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดแพร่ในวงกว้าง
โดย ระดับบุคคล จะต้องคงมาตรการป้องกันส่วนบุคคลทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงการไปในสถานที่แออัด และกินร้อนใช้ช้อนกลางส่วนตัว
ระดับองค์กร สามารถลดความเสี่ยงได้ โดยการให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้านให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ จะเป็นการลดคนออกมาในพื้นที่สาธารณะ ถ้าทุกคนออกมาพร้อมกันหมด สถานที่ต่างๆก็จะแออัด เหลื่อมเวลาการทำงาน มาตรการคัดกรอง ให้ผู้ที่ป่วยทางเดินหายใจหยุดอยู่บ้านป้องกันการป่วยเป็นกลุ่มก้อนที่อาจจะเกิดความวุ่นวายมากขึ้น รวมถึง จัดพื้นที่ให้พนักงานนั่งทำงานห่างกัน รักษาระยะห่าง 2 เมตร และต้องพิจารณาแนวทางระบายอากาศให้มีการหมุนเวียน กรณีเป็นพื้นที่ปิด เพราะสถานที่อากาศไม่ถ่ายเทเสี่ยงแพร่โรคมากกว่าพื้นที่โล่ง 19 เท่า
นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนของ สถานพยาบาล ควรจะต้องคงมาตรการในค้นหาผู้ติดเชื้อให้เข้มข้นเช่นเดิม ซึ่งจากรายงานขณะนี้พบว่ามีการตรวจหาเชื้อโรคโควิดในกลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ถึง 50 % ในทุกเขตสุขภาพและกรุงเทพฯ ถือว่าเป็นอัตราที่น้อย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นปอดอักเสบที่ทราบสาเหตุ
อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือสถานพยาบาลยังคงเข้มในการตรวจโรคโควิดต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอาการ และผู้ป่วยทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อน เนื่องจากหากประเทศไทยตรวจเชื้อโรคโควิด-19ให้ครอบคลุมกลุ่มอาการตามเกณฑ์ที่กำหนด หากตรวจมากแล้วไม่เจอผู้ติดเชื้อก็จะมั่นใจได้ว่าไม่มีผู้ติดเชื้อหลงเหลือ และถ้าไทยจะคุมโรคให้ได้เร็วก็ต้องค้นหาผู้ป่วยให้ได้เร็ว เพราะหากดูจากการกลับมาระบาดรอบ 2 ในประเทศเวียดนาม เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจากยังมีคนป่วยหลงเหลืออยู่ในประเทศ และมีการตรวจเจอและรายงานพบผู้ติดเชื้อได้ช้า
“เมื่อประเทศไทยกลับมามีการระบาดของโรคโควิดเป็นรอบที่ 2 สิ่งที่จะทำให้คุมสถานการณ์ได้ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดวงกว้าง จะต้องเกิดจากการระมัดระวังและตรวจเจอผู้ติดเชื้อได้เร็ว ซึ่งขึ้นอยู่กับความตื่นตัวของแพทย์ พยาบาลและผู้ป่วย อย่างถ้าเป็นช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.2563 เมื่อมีอาการป่วยทุกคนจะวิ่งไปขอตรวจโควิด เพราะการจะเจอผู้ติดเชื้อได้ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ผู้ป่วยมารับการรักษา
ที่สำคัญ อยากให้คนไทยเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ไม่ใช่ว่าไม่มีโควิดแล้วถึงออกไปเที่ยว แต่อยากให้คิดว่า แม้มีโควิดก็ออกไปเที่ยวได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ทำในสิ่งที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อ เพราะแม้ว่าจะมีวัคซีนแล้วแต่ก็ยังมีโรคโควิดอยู่ต่อไป ส่วนวัคซีนจะช่วยให้ไม่เกิดการระบาดหนักจนคนไข้ล้นรพ.เท่านั้น” นพ.ธนรักษ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการเตรียมความพร้อมรองรับกรณีที่ผ่อนปรนให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ โดยต้องเข้ารับการกักกันตัวในสถานที่กักกันขององค์กร (Organizational Quarantine) นั้น ซึ่งกระทรวงแรงงานรายงานว่าน่าจะมีราว 1.1แสนคน นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีสถานประกอบการใดยื่นเรื่องเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปประเมินก่อนอนุญาตให้จัดตั้งสถานที่กักกัน ซึ่งให้สถานประกอบการจัดหาสถานที่และบริหารจัดการเองในการกักกันกลุ่มแรงงานต่างชาติที่เข้ามาจนครบ 14 วัน
อย่างไรก็ตาม ที่ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกาประเมินว่าไทย และนิวซีแลนด์มีความเสี่ยงต่ำ ในขณะที่ประเทศอื่นที่มีรายงานผู้ป่วยจำนวนน้อยกว่ามีความเสี่ยงสูงนั้น เข้าใจว่าในการประเมินนั้น ผู้ประเมินจะดูเรื่องจำนวนผู้ป่วย ความเข้มแข็งของการควบคุมโรค จำนวนผู้เสียชีวิต โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มาตรการควบคุมป้องกันโรคนั้นทำได้ดี ทำได้เต็มที่หรือไม่ และสิ่งหนึ่งที่ต้องแสดงให้เห็น คือ ประเทศเข้มแข็งในการตรวจหาเชื้อ