แพทยศาสตร์ศิริราชแนะวิธีรับมือระบาดระลอก 2
WHO เตือนประเทศในเอเชียแปซิฟิก ระยะใหม่ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ปัจจัยสำคัญอาจเกิดจาหผู้ป่วยกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี นพ.ประสิทธิ์ ชี้ ยุทธวิธี Targeted Intervention สร้างสมดุลเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ แทนการล็อกดาวน์ หากเกิดระลอก 2
หลังจาก WHO ประกาศเตือนประเทศในเอเชียแปซิฟิก เมื่อ 19 มิ.ย.ว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลง “Dangerous Phase” จากอุบัติการณ์ผู้ติดเชื้อใหม่และเสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลก ขณะเดียวกัน 18 ส.ค. มีคำเตือนจาก WHO อีกครั้ง ถึงปัจจัยที่สำคัญเกิดขึ้นกับผู้ป่วยกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี และอาจนำไปสู่ระยะใหม่ของการแพร่ระบาด ยุทธวิธี Targeted Intervention จึงถูกนำไปใช้ในหลายประเทศเพื่อสร้างสมดุลเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ แทนการล็อกดาวน์
วันนี้ (25 สิงหาคม) ศ.ดร.น.พ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการแถลงข่าววิเคราะห์สถานการณ์วิกฤต COVID-19 ผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ Mahidol Channel ว่า สาเหตุที่ WHO ประกาศเตือนการเผชิญการระบาดรอบ 2 ในเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อในฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย มีอายุน้อยกว่า 40 ปี ผู้ติดเชื้อที่อายุน้อย มักไม่มีอาการหรืออาการน้อย จึงเสี่ยงต่อการนำไปสู่การแพร่เชื้อโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น นิวซีแลนด์ เวียดนาม เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย รัฐบาลต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดแม้กระทั่งการล็อกดาวน์
สิ่งที่เรากำลังติดตามไม่ใช่เพียงการแพร่ระบาดใหม่ แต่เป็นสัญญานว่ากำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ของการแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น ออสเตรเลีย เมื่อติดตามข่าวจะพบว่าเมื่อ 2 เดือนที่แล้วถูกยกย่องว่าควบคุมโรควิด-19 ได้ดีอันดับต้นๆ ของโลก วันที่ 9 มิถุนายน ออสเตรเลียประกาศไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ แต่แล้วก็เกิดการแพร่ระบาดในรัฐวิกทอเรีย มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 723 ราย จนกระทั่ง 30 กรกฎาคม รัฐบาลออสเตรเลีย ประกาศปิดเมือง ขณะที่เมืองเมลเบิร์น มีการเคอร์ฟิลตั้งแต่ 2 ทุ่มถึงตีห้า จำกัดการออกไปซื้อของ 1 ครั้งต่อวันครอบครัวละ 1 คน เพื่อควบคุม 6.3 ล้านคนในเมืองเมลเบิร์น หลังจากนั้น อัตราการแพร่ระบาดของออสเตรเลียก็ยังไม่ลดลง
“ฮ่องกง เป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งกว่า 14 วันเต็มๆ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 100 รายต่อวัน และเวียดนามเมื่อช่วงต้นๆ ของโควิด-19 ที่ดูควบคุมได้ดี แต่เกิดการแพร่ระบาดในดานัง ต้องปิดเมืองและพบว่าหลายวันต่อมา มีผู้ติดเชื้อ 200 รายต่อวัน ตั้งแต่ฮานอยจนถึงโฮจิมินห์ และประเทศที่ระบาดหนัก คือ ฝั่งอเมริกาและละตินอเมริกา”
ดังนั้น วิธีจัดการกับโควิด-19 จะดูแค่ประเทศเราไม่ได้ แต่ต้องดูประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย สถานการณ์ทั่วโลกพบว่า ทุกๆ 3-5 วัน ผู้ติดเชื้อทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคน สิ่งที่น่ากลัว คือ ช่วงฤดูใบไม้ร่วง ทำให้ไวรัสอยูในอากาศได้นานขึ้น หน้าหนาวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส
สำหรับสถานการณ์ใน 3 อันดับประเทศที่มีการติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ “สหรัฐอเมริกา” จำนวนผู้ป่วยใหม่ดูเหมือนจะลดลง แต่การติดเชื้อเพิ่มขึ้นในคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปี โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นกว่า 135% และเนื่องจากอายุไม่มาก อาการน้อย แต่นำไปสู่การติดเชื้อในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงอายุ มีโรคระบบทางเดินหายใจ ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น มีการคาดการณ์ว่าทุก 20 วันจะมีคนเสียชีวิต 20,000 คน หรือวันละ 1,000 คน “บราซิล” ยังอยู่ในระยะแรก มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวมถึงการเสียชีวิต ตอนนี้กว่าแสนคน และไม่มีแนวโน้มลดลง และ “อินเดีย” อยู่ในช่วงขาขึ้น มีผู้ติดเชื้อวันละ 6 -7 หมื่นรายต่อวัน และ อัตราการเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า Targeted Intervention คือ ยุทธวิธีที่หลายประเทศนำมาใช้เมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ และได้ผลดี คือ ทำให้ผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจและคนในสังคมน้อยกว่าการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดเช่นในการระบาดระลอกแรก ทั้งนี้ Targeted Intervention จะดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการประสานงานทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายปกครอง (ผู้กำหนดนโยบายและมาตรการ) ผู้ประกอบการ (ผู้นำนโยบายและมาตรการไปปฏิบัติ) และผู้ใช้บริการ (ผู้ได้รับผลจากนโยบายและมาตรการ) เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
อาทิ การปิดเพียงบางกิจกรรมที่เสี่ยงหากเกิดการแพร่ระบาด ทบทวนนโยบายใหม่ ทำให้มาตรการกระชับมากขึ้น หรือปิดเพียงร้านอาหารบางร้าน ห้างบางห้างที่มีการแพร่ระบาด ผู้ประกอบการ ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง และผู้ใช้มาตรการ มีสิทธิที่ไม่ไปใส่สถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด จะนำไปสู่การปรับปรุงของผู้ประกอบการ เป็นการควบคุมซึ่งกันและกัน
หากมีการแพร่ระบาดระลอกสอง สิ่งที่ดีที่สุด คือ “มีการติดเชื้อ” เพียง 1-2 คน แยกและหยุด แต่ไม่ใช่ถึงขั้น “แพร่ระบาด” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเกิดกรณีนี้ต้องหาจุดที่มีแพร่ระบาดของเชื้อ และนำยุทธวิธี Targeted Intervention มาใช้ ซึ่งต้องรู้เป้าหมายว่าการแพร่ระบาดอยู่ตรงไหน ดังนั้น การเช็กอินเช็กเอ้าท์ สำคัญอย่าหย่อน รวมถึงใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม การ์ดอย่าตก
“เวลาเราบริหารจัดการโรคติดเชื้อ เราต้องไม่รอจนจำนวนตัวเลขเยอะ เมื่อเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มมีมาตรการทันที ก่อนที่จะไม่ทัน หากเราช่วยกัน ต่อให้มีการระบาดระลอก 2 จะไม่รุนแรง อย่ารอจนมีคนเสียชีวิตเยอะ หรือเศรษฐกิจแย่ลง แล้วมามองย้อนหลังในสิ่งที่เราไม่ได้ทำ “ไทย” ระยะแรกทำได้ดี แต่ใช่ว่าจะปลอดภัย มีโอกาสสูงที่จะระบาดรอบใหม่ แต่หากยังคุมได้ดี เศรษฐกิจจะยังไปได้ ทุกคนต้องช่วยกัน รักษาระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย ขอให้ทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ประเทศที่กำลังมีระบาดระลอก 2
สำหรับสถานการณ์ประเทศที่กำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 ได้แก่ “สหราชอาณาจักร” ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม มีผู้ป่วยใหม่หลักพันต่อวัน มีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ทำให้อัตราการเสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
“เยอรมนี” เริ่มระบาดระลอก 2 ราวเดือนมิถุนายน จากการแพร่ระบาดในโรงงานทำเนื้อ บวกกับการแพร่ระบาดอีก 2 กลุ่มใหญ่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นกว่าพันรายต่อวัน มีการออกมาตรการมากมาย เพื่อให้การติดเชื้อไม่ระบาดจนเกินไป
“เนเธอแลนด์” มีผู้ป่วยใหม่ 500-600 คนต่อวัน ไม่สามารถดึงตัวเลขลลงมาได้ แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำ จากระบบบริการสุขภาพที่ค่อนข้างดี
“ญี่ปุ่น” เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้อำนาจแต่ละเมืองในการจัดการ การตรวจโควิด-19 ถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับประชากรล้านคน ขณะที่ไทยมีสัดส่วนการตรวจ 12,500 คนต่อประชากรล้านคน ถือเป็นอันดับ 4-5 ของประเทศในเอเชีย ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการรักษาไว้ซึ่งเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการตัดสินใจช้า ทันทีที่ตัดสินช้า การแพร่ระบาดดึงกลับมายาก ทั้งนี้ 2 ใน 3 ของการติดเชื้อในญี่ปุ่นอายุต่ำกว่า 40 ปี คนเหล่านี้ไม่เสียชีวิต แต่เมื่อกลับบ้านมีโอกาสพบเจอผู้สูงวัย กลุ่มเสี่ยง
“เกาหลีใต้” เพิ่งประกาศ ให้ทุกคนใส่หน้ากาก ทั้งในอาคารและข้างนอก รวมทั้งรักษาระยะห่าง เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อกำลังขึ้น โดยเดือนที่ผ่านมาพบการติดเชื้อในธุรกิจส่งของตามบ้าน เกิดการแพร่กระจาย มีการพูดคุยกันเยอะในเรื่องของแพกเกจจิ้งที่อิมพอร์ตเข้ามาซึ่งอาจมีทางเป็นไปได้ ดังนั้น เกาหลีใต้จึงออกมาตรการเข้มงวด ค้นหาบุคคลเสี่ยงอย่างเต็มที่
“ฮ่องกง” การติดเชื้อระลอก 2 มากกว่าระลอกแรก มีการกระจายการติดเชื้อภายใน มีมาตรการหลายอย่างเข้มงวดมากขึ้น ถึงแม้ว่าอัตราการเสียชีวิตน้อยก็ตาม
“ฟิลิปปินส์” อยู่ในระยะแรกทั้งผู้ป่วยและการเสียชีวิต ลักษณะการใช้ชีวิตมีคนอยู่ร่วมกันค่อนข้างเยอะ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยการแพร่ระบาด “เวียดนาม” รอบแรกควบคุมได้ดี แต่ดานัง มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แม้ขณะนี้มีแนวโน้มลดลง แต่ปัญหาคือ มีการระบาดจากทางตอนเหนือถึงตอนใต้ของประเทศ และเริ่มมีการเสียชีวิตประปราย
“สิงคโปร์” พบการติดเชื้อในหอพักแรงงานต่างด้าว ขณะนี้ เริ่มอยู่ที่ตัวเลข 2 หลัก ถือว่าทำได้ดี รวมถึงควบคุมการเสียชีวิต เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงงาน สุขภาพค่อนข้างแข็งแรง
“ออสเตรเลีย” ตัวเลขลดลง แต่ต้องติดตามดูเป็นระยะ การเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าจากรอบแรก