กรมวิทย์ฯ สุ่มตรวจพบสารตกค้างในผัก ผลไม้สด และธัญพืช
กรมวิทย์ฯ สุ่มตรวจผักและผลไม้สดจากตลาดสด 41 จังหวัด พบ "สารคลอร์ไพรีฟอส" และ "สารไกลโฟเซต" ตกค้างในผักผลไม้สด
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.63 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 2-1/2563 ในวันที่ 30 เมษายน 2563 มีข้อสรุปลงมติ กำหนดให้ "สารคลอไพริฟอส" และ "พาราควอต" เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หรือ "แบน" 2 สารดังกล่าว สำหรับ "สารไกลโฟเซต" ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ จากนั้นมีการประกาศราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ.2563 ที่กำหนดสารคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) คลอร์ไพริฟอส-เมทิล (chlorpyrifos-methyl) พาราควอต (paraquat) พาราควอตไดคลอไรด์ (paraquat dichloride) และ พาราควอตไดคลอไรด์ [บิส (เมทิลซัลเฟต)] {paraquat dichloride [bis (methyl sulfate)]} เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
ด้วยภารกิจในการคุ้มครองผู้บริโภคของทางกระทรวงสาธารณสุข จึงมีความจำเป็น ที่จะต้องดำเนินการเฝ้าระวังสารตกค้างดังกล่าวในอาหารกลุ่มเสี่ยงทั้งในช่วงก่อนและหลังวันบังคับใช้เพื่อทราบสถานการณ์ และวางมาตรการลดความเสี่ยงที่เหมาะสมต่อไป
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ดำเนินการตามนโยบายของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสารตกค้างในผักและผลไม้สด โดยมีการสุ่มตรวจผักและผลไม้สดจากตลาดในเครือข่าย 41 จังหวัด จำนวน 154 ตัวอย่าง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม ปี 2563 ตรวจวิเคราะห์ 3 สาร โดยใช้วิธีทางห้องปฏิบัติการ พบ "สารคลอร์ไพริฟอส" ตกค้าง ร้อยละ 13 ปริมาณที่พบน้อยกว่า 0.02-0.89 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวอย่างผักผลไม้สด 20 ตัวอย่าง ได้แก่ ใบบัวบก คะน้า กะหล่ำปลี ส้ม องุ่น ฝรั่ง มะยงชิด
พบ "สารไกลโฟเซต" ตกค้าง ร้อยละ 4 ปริมาณ น้อยกว่า 0.01- 0.13 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวอย่างผักผลไม้สด 6 ตัวอย่าง พริกขี้หนู ผักกาดขาว ผักแพว โหระพา ส้ม องุ่น แต่ไม่พบการตกค้างของพาราควอตในทุกตัวอย่าง และในเดือนพฤษภาคม ได้สุ่มเก็บตัวอย่างถั่วเมล็ดแห้งและธัญพืช ตรวจวิเคราะห์สารเคมีกำจัดวัชพืช "พาราควอต" และไกลโฟเซต ในตัวอย่าง ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวบาเลย์ ข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลี จำนวน 12 ตัวอย่าง ทั้งที่เป็นผลผลิตในประเทศและ นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อทราบสถานการณ์การตกค้างในวัตถุดิบอาหาร พบว่าพบการตกค้างไกลโฟเซตในตัวอย่างถั่วเหลือง 4 ตัวอย่างจาก 6 ตัวอย่าง ปริมาณ 0.06-1.16 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตรวจไม่พบการตกค้างพาราควอต ในตัวอย่างดังกล่าว
“สถานการณ์การตกค้างของ 3 สาร ตัวอย่างผักผลไม้สดที่สุ่มจากแหล่งจำหน่ายในตลาดมีความเสี่ยง ในการตรวจพบ คลอไพรีฟอส ตกค้างโดยเฉพาะในผักใบและผลไม้หลายชนิด โดยไม่พบการตกค้างของพาราควอต สำหรับถั่วเหลืองเมล็ดเต็มและเมล็ดซีกที่ผลิตในประเทศและไม่ระบุแหล่งที่มา มีความเสี่ยงในการพบการสารเคมีกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตตกค้าง ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังต้องติดตามการเฝ้าระวังเพื่อทวนสอบประสิทธิภาพของมาตรการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรและการจำกัดการใช้สารเหล่านี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป” นายแพทย์โอภาสกล่าว