สุดยอด 'ปลาคาร์พ' ถ้าแพงสุดฤทธิ์ ต้องสวยบาดใจ
ไม่เชื่อ ก็ต้องเชื่อ ปลาคาร์พสวยๆ สายพันธุ์ญี่ปุ่น ราคาหลักสิบล้านบาท ยังธรรมดา ถ้าเป็นแชมเปี้ยนราคาถึง 60 ล้านบาท ดูเหมือนเว่อร์ แต่มีที่มาที่ไป และวิธีคิดการเลี้ยงและการทำธุรกิจ
ถ้าคนไทยคิดจะเพาะเลี้ยง ปลาคาร์พ ให้มีมูลค่าเหมือนคนญี่ปุ่น ลืมไปได้เลย...
นั่นเป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีกระบวนการ วิธีคิดและการพัฒนามานานกว่าร้อยปี มีทั้งความอดทน เฝ้าดู บันทึก และเรียนผิดเรียนถูก เพื่อทำให้ดีที่สุดตามแบบคนญี่ปุ่น
กว่าธุรกิจปลาคาร์พจะมีมูลค่ากว่าพันล้านหมื่นล้านบาท คนทำฟาร์มปลาคาร์พในญี่ปุ่นคิดทุกอย่าง รวมถึงทำให้คนทั้งโลกเชื่อใจ และเชื่อมั่นว่า เป็นปลาคาร์พที่ดีที่สุดในโลก
ณรัตน์ สุขถิ่นไทย เจ้าของไทยสุวรรณ อินเตอร์ฟาร์ม และดีลเลอร์รายใหญ่ปลาคาร์พ เล่าว่า ไม่เคยมีปลาคาร์พตัวใดที่มีลวดลายซ้ำกันในโลก เป็นคุณสมบัติที่อเมซิ่งมาก
"ดังนั้นถ้าปลาคาร์พของใครหาย ตามหาได้เลย คนเลี้ยงยังจำได้ ”
- ฟาร์มใหญ่สุดที่ญี่ปุ่น
ณรัตน์ ทำธุรกิจนำเข้าปลาคาร์พจากญี่ปุ่นมานานกว่า 20 ปี เขาต้องบินไปญี่ปุ่น เพื่อประมูลปลาคาร์พและเดินดูฟาร์มปลาคาร์พ ปีละไม่ต่ำกว่า 10-20 ทริป อาศัยว่าชอบเลี้ยงปลาตั้งแต่เด็กๆ ในวัยยี่สิบกว่าๆ เริ่มทำธุรกิจนำเข้าปลาทอง แล้วหันมานำเข้าปลาคาร์พอย่างจริงจัง
ถ้าคุยเรื่องปลาคาร์พ เขาคุยได้ทั้งวัน ไม่เบื่อหน่าย และคุยได้สนุก มีทั้งสาระและความฮา เขาเป็นคนหนึ่งที่รู้จริงเรื่องปลาคาร์พในประเทศไทย และยังรู้ว่าจะทำธุรกิจนี้อย่างไร
"เมื่อก่อนคนญี่ปุ่น ถ้าบ้านไหนมีลูกชาย จะมีธงปลาคาร์พบนหลังคาบ้าน เพื่อให้เด็กที่เกิดมา มีความอดทนเหมือนปลาคาร์พ เพราะหลายร้อยปีที่แล้ว มันสามารถว่ายขึ้นไปตามร่องน้ำภูเขา เป็นพันๆ เมตรเพื่อวางไข่ เป็นปลาที่อายุยืนเป็นร้อยๆ ปี มีบันทึกไว้ว่า อายุยืนที่สุด 200 กว่าปี"
คุณสมบัติของปลาคาร์พที่ไม่เหมือนปลาชนิดใดในโลก ทั้งอึด อดทน และที่พิเศษสุดคือ ลวดลายบนตัวปลาเกิดจากธรรมชาติล้วนๆ
ณรัตน์ เล่าต่อว่า บางทีคนญี่ปุ่นยอมเพาะปลาคาร์พเป็นล้านๆ ตัว เพื่อหวังปลาคาร์พดีๆ แค่ 10 ตัว และปีหนึ่งเพาะได้แค่ครั้งเดียว ทำให้ปลาคาร์พมีมูลค่าสูง ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศเดียวที่เลี้ยงปลาคาร์พมีคุณภาพสูง
“50-60 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีประเทศไหนเลี้ยงปลาคาร์พเทียบญี่ปุ่นได้ ตั้งแต่ผมทำธุรกิจปลาคาร์พ ยังไม่เคยเห็นราคาปลาคาร์พตก ปลาคาร์พตัวเล็กๆ ที่สวยตอนนี้ อาจไม่ได้แปลว่าอีกสิบปีข้างหน้าจะสวยเหมือนเดิม หรือปลาคาร์พที่ตัวเล็กๆ ดูธรรมดา โตเต็มที่แล้วอาจเป็นปลาสวยงามเป็นแชมป์ก็ได้ ดังนั้นการประกวดปลาคาร์พ แกรนด์แชมป์เปี้ยน จึงต้องจบในปลาจัมโบ้ไซส์เท่านั้น"
ไทยสุวรรณ อินเตอร์ฟาร์ม
- ปลาคาร์พดีๆ ต้องญี่ปุ่น
ปลาคาร์พจากญี่ปุ่นถูกจำหน่ายออกไปทั่วโลก โดยการประมูลผ่านดีลเลอร์ ฟาร์มของณรัตน์ ก็เป็นหนึ่งในดีลเลอร์ในเมืองไทย ทุกๆ ปีเขาจะไปคัดปลาคาร์พที่เป็น Top of Japan มาจำหน่าย รวมถึงลูกค้าสั่งซื้อผ่านการประมูล
แม้จะมีปลาคาร์พหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือก เขา บอกว่า สายพันธุ์ที่เด่นที่สุดในโลกนี้ และเป็นแชมเปี้ยนตลอดมีสามสายพันธุ์เท่านั้น คือ โคฮากุ (Kohaku) ลวดลายขาวแดง , ไทโช ซันเก้ (Taisho Sanke) ลวดลาย ขาว แดง ดำ และโชวา ซันโชกุ (Showa Sanshoku) และไม่ใช่แค่สีสันที่แต่งเติมโดยธรรมชาติ ยังรวมถึงรูปร่างและขนาดที่ได้สัดส่วน
“มีสามประเภทที่ได้รางวัลผลัดกัน ยังไม่เคยพบปลาลวดลายอื่นๆ เป็นแกรนด์แชมป์เปี้ยน” ณรัตน์เล่า
“คนญี่ปุ่นเก่งในการเลี้ยงปลาคาร์พ เลี้ยงมา 300-400 ปี เพราะเป็นปลาน้ำจืดที่มีความอดทนสูงและสวยงาม ปลาคาร์พกลายเป็นธุรกิจทำเงินให้คนญี่ปุ่น หลักพันล้านหมื่นล้านเลยทีเดียว ฟาร์มเลี้ยงปลาคาร์พในญี่ปุ่น จะทำอย่างจริงจังและมุ่งมั่นมาก”
โคฮากุ สีขาวแดง หนึ่งในสามสายพันธุ์ดีๆ เป็นที่นิยมระดับโลก
สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว การเลี้ยงปลาคาร์พ ไม่ได้ทำเล่นๆ เขาทำฟาร์ม โดยพัฒนาองค์ความรู้อยู่เรื่อยๆ และไม่มีใครรู้ความลับในการเลี้ยงปลาคาร์พ ณรัตน์ ยอมรับว่า ไม่มีทางที่คนไทยจะเลี้ยงปลาคาร์พได้เหมือนคนญี่ปุ่น พวกเขามีกรรมวิธีที่คนทั้งโลกไม่รู้
“ผมยังไม่รู้เลยว่า พวกเขาทำยังไง แต่ละฟาร์มก็มีความลับ ตั้งแต่การเพาะเลี้ยง สายเลือดพันธุกรรม การคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งเป็นความรู้ที่คนญี่ปุ่นทำมานาน พวกเขาเพาะเลี้ยงตั้งแต่ยังไม่รู้เพศ
ปลาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ปลาที่เลี้ยงปีที่สองและรู้เพศแล้ว และเป็นปลาประมูล ฟาร์มเล็กๆ ที่เพาะเลี้ยง หากพบว่าปลาฝูงนั้นไม่สวย แม้จะทำมาเป็นปีๆ ก็เท่ากับศูนย์ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฟาร์มเล็กๆ อยู่ยาก แต่ฟาร์มใหญ่ๆ มีเงินทุนมหาศาล รองรับความล้มเหลวได้
ไม่มีทางที่เราจะสู้ญี่ปุ่นได้ ถ้าเขาทุบราคาลงมา เราก็แย่แล้ว เหมือนการเล่นหุ้น ถ้าปลาคาร์พระดับท็อปๆ จีนกำลังพัฒนาอยู่ การเลี้ยงปลาคาร์พให้ได้ดี ไม่ใช่ง่าย มีวิธีการอยู่"
- ราชาแห่งปลาน้ำจืด
ว่ากันว่า ปลาคาร์พเป็นปลาน้ำจืดที่สวยที่สุด สามารถสร้างบรรยากาศดีๆ ในบ้านได้ นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปลาคาร์พป็อปปูล่า และเป็นปลาที่ดูไฮคลาส
"ลองนึกดู ถ้าคุณมีบ้านสวยๆ หลายล้าน แล้วคุณเลือกเลี้ยงปลาสวาย จะเป็นยังไง” ณรัตน์ เล่า
และเขาเคยประมูลปลาคาร์พสวยๆ ตัวเดียวให้ลูกค้าคนไทยสูงสุด 10 ล้านบาท และไม่ต้องตกใจปลาคาร์พ ตัวที่เป็นแชมเปี้ยนโลกที่คนญี่ปุ่นเพาะเลี้ยงราคา 203 ล้านเยน
“ตอนนั้นลูกค้าคนไทยอยากได้ปลาตัวหนึ่ง แล้วให้ผมประมูลเต็มที่ไม่มีขีดจำกัด ตกลงกันที่ 30 ล้านเยน เป็นปลาที่สวยงาม เมื่อประมูลได้แล้ว ก็ฝากเลี้ยงไว้ และยังมีกรณีฝากเลี้ยงไว้ แล้วเข้าตาดีลเลอร์จีน ก็ขายได้ราคามากขึ้นสองสามเท่า ซึ่งเกิดขึ้นจริง” ณรัตน์ เล่า แต่ใช่ว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป
“แบบนี้ก็มีเหมือนกัน ปีแรกฝากเลี้ยงไว้ที่ญี่ปุ่น ปีที่สองปลาอาจตายก็ได้ ไม่มีใครรู้ หรือฝากไว้ไม่มีคนมาขอซื้อ ก็เป็นแค่สัตว์เลี้ยงตัวหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ได้ไปเยี่ยมปลาที่ญี่ปุ่นและมีความสุขในการท่องเที่ยว”
อีกเรื่องที่ ณรัตน์ เล่าให้ฟังคือ การตรวจสอบปลาก่อนประมูล
“เรื่องนี้สำคัญมาก บางทีลูกค้าเห็นรูปปลาในเว็บสวยมาก แต่พอเดินทางไปญี่ปุ่น ตัวนั้นมีถลอกๆ ครีบฉีก ผมต้องบอกลูกค้าว่าให้ยกเลิกการซื้อ หรือบางตัวสวยกว่าในรูป งบที่ลูกค้าตั้งไว้ไม่พอ ลูกค้าจะสู้ราคาไหม”
โชวา ซันโชกุ -Showa Sanshoku หนึ่งในสามสายพันธุ์ดีระดับโลก
และเมื่อถึงฤดูลากปลาขึ้นมา หากปลาเหล่านั้นอายุปีเศษๆ ขนาด 50-60 เซนติเมตร คนญี่ปุ่นก็จะรู้ว่าเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย เขาก็จะถ่ายรูปทำพรีเซนต์ไว้ในเว็บไซต์ เพื่อให้ดีลเลอร์ติดต่อเข้ามา (ลูกค้าไม่สามารถซื้อตรงได้) และพบกันวันประมูลที่ญี่ปุ่น
"ทั้งโลกจะมีสามฟาร์มใหญ่ๆ ที่ทำการประมูลปลา ก็จะมีการประกันฝากปลาไว้ได้หนึ่งปี ฟรีค่าฝาก ค่าเลี้ยง และประกันชีวิต ถ้าปลาตาย เขาจะตั้งวงเงินให้ประมูลใหม่ ไม่เสียเงินเปล่าแน่ นี่เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกกล้าที่จะลงทุนกับคนญี่ปุ่น ถ้าคุณเคยไปญี่ปุ่น คุณคงรู้ว่าคนญี่ปุ่นเชื่อได้จริงๆ ผมเคยลองจดจำปลาที่จะซื้อ ไม่ว่ากี่ครั้งก็ได้เหมือนเดิม"
ว่ากันว่า เคยมีการทดลองว่า ปลาคาร์พจะมีความอดทนแค่ไหน และได้พบว่า มันสามารถอดอาหารได้เป็นปี แต่ต้องอยู่ในบ่อดินหรือบ่อซิเมนต์ เนื่องจากปลาคาร์พไม่ใช่ปลากินเนื้อ กินได้ตั้งแต่แพลงก์ตอนเล็กๆ ผลไม้ ปลาป่น ขนมปัง เศษข้าว
เมื่อถามถึงธุรกิจการเลี้ยงปลาคาร์พ... ณรัตน์ บอกว่า การนำเข้า แม้จะมีไข่ออกมาจะไม่เก็บไว้ เพราะจะไม่ได้ปลาดีๆ
"ถ้าพนักงานคนไหนเก็บไข่ที่ออกมาไปเพาะเลี้ยง จะไล่ออกทันที ไม่ให้ทดลองเพาะเลี้ยง มันกลายพันธุ์ได้ นี่คือการคุมแบรนด์ ผมระวังทุกอย่าง เพื่อให้คนซื้อสบายใจ ยินดีจ่ายเงิน ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะลองเพาะเลี้ยง แต่ถ้าผมทำแบบนั้น นั่นเป็นการเอาของปลอมมาวางในช็อปของแท้”
- 6 คำถามกับธุรกิจปลาคาร์พ
1. ทำไมมาทำธุรกิจปลาคาร์พ
ถ้าคนเราใจรัก ทำได้ดี เงินจะมาหาเอง ช่วงต้นผมลงทุนยี่สิบล้านบาท เดือนหนึ่งกำไร แสนสองแสน มีความสุขแล้ว ปีหนึ่งได้ 12 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าฝากเงิน
ธุรกิจนี้ไม่ต่างจากไวน์ จะดื่มเพื่อสุขภาพก็มีให้ดื่ม หรือไวน์ขวดละห้าแสนบาทก็มี แล้วเราก็จะพูดว่า "อะไรวะ แพง" เหมือนการเลี้ยงปลา เลี้ยงไปแล้วจะตายหรือไม่ตายไม่รู้ แต่ไวน์ขวดละห้าแสนดื่มหมดขวดแน่ๆ ถ้ายังไม่ดื่ม ขวดนั้นก็ยังมีมูลค่า
2. การทำธุรกิจนี้ต้องระมัดระวังอย่างไร
ผมเป็นคนทำอะไรมีขั้นมีตอน ไม่ได้ใช้หลักทำธุรกิจแบบเอ็มบีเอ ผมจะไม่สุ่มเสี่ยงกับสิ่งที่ไม่ควรเสี่ยง ถ้าผมมีโอกาส ผมจะไม่ทิ้งโอกาส บางทีไปซื้อปลาคาร์พ ซื้อหมดฟาร์มก็เคยมี จนคนตกใจ
การเลี้ยงปลาคาร์พ ก็มีความเสี่ยงในการติดโรคเหมือนสัตว์เลี้ยงทั่วไป ผมจะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น จะไม่ให้ปลาทุกตัวเจอกัน เราแยกเลี้ยงแต่ละบ่อ ดังนั้นโอกาสที่ผมจะล้มละลายไม่มีทาง
อีกอย่างผมอ่านหนังสือเยอะ เป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จะทำอะไรก็ต้องมีพื้นฐานเหมือนการทำธุรกิจ แม้จะรักจะชอบก็ต้องมีทักษะ ไม่รู้เรื่องปลาก็ต้องศึกษา อ่านหนังสือและไปเรียนรู้ที่แหล่งผลิตปลาคาร์พ รูปแบบธุรกิจก็ต้องรู้ ไม่ใช่ว่าใจรักอย่างเดียว ผมเชื่อว่าต้องใจรักและทุ่มเทกับสิ่่งที่มีความต้องการจริงในโลกใบนี้
3. คุณมองว่า ธุรกิจนี้น่าจะไปได้ดี ?
ตอนเริ่มทำ ผมรู้แล้วว่า ผมทำแล้วใหญ่ได้ ผมนั่งดูทีวี เห็นโฆษณาอาหารปลาเยอะมาก แสดงว่าตลาดปลาไม่เล็กแน่ ไม่มีใครเอาอาหารปลาไปเลี้ยงปลาสวายแน่ แสดงว่า มีคนเลี้ยงปลาสวยงามเยอะ ถ้าผมจับถูกทาง ก็รอด
เหมือนรถยนต์ที่วิ่งตามถนน ถ้าคุณทำยางรถยนต์จะเจ๋งได้ยังไง แสดงว่า มีดีมานด์ นี่คือเหตุผลในการคิด ปลาสวยงามเป็นตลาดที่ใหญ่ มีส่วนแบ่งตลาด จึงมีขั้นมีตอนก่อนลงทุน
ตอนผมอายุ 23 ปี ผมลงทุนยี่สิบล้าน ผมสู้หมดหน้าตัก ผมรู้ว่า ถ้าผมต้องการเป็นแชมป์ผมต้องทำใหญ่ ถ้าผมทำเล็กๆ มีปลาคาร์พ 5 ตัว 10 ตัว 100 ตัวเป็นร้านค้าธรรมดาๆ จะดึงดูดคนไหม
4. ตอนที่ลงทุนนำเข้าปลาคาร์พ มีฟาร์มใหญ่ๆ ทำอยู่แล้วไหม
มีสิ ผมต้องฉีกตลาด เอเย่นต์ระดับแถวหน้าแบบผมมีประมาณ 4-5 ราย ผมมีปลาคาร์พนำเข้าและขายในประเทศ 80 เปอร์เซ็นต์ และลูกค้าปลาที่ประมูลจากญี่ปุ่น 10-20 เปอร์เซ็นต์ ผมพาไปญี่ปุ่นไปดูประมูลปลาคาร์พ ซึ่งการประมูลต้องมีฐานลูกค้าที่ใหญ่
ปลาตัวหนึ่งประมูลแล้วผมได้แค่ 5-10 เปอร์เซ็นต์ แค่ได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นฟรี แต่ได้ในแง่แบรนด์และการสร้างฐานลูกค้าในไทย ถ้าระดับล้านกว่าๆ มีลูกค้าหลายรายในเมืองไทยให้ผมประมูล หรือระดับสิบล้านบาทก็เคยประมูลมาแล้ว
5. นำเข้าปลาคาร์พ ต้องบริหารจัดการอย่างไร
ผมเชื่อว่า ญี่ปุ่นก็ต้องควบคุมราคา มีมาตรฐานของพวกเขา ไม่อย่างนั้นราคาจะเว่อร์อะไรขนาดนั้น ผมจึงไม่เชื่อเรื่องการเอาสินค้าพรีเมียมมาทำในราคาประหยัด หากมีคนเอารถลัมโบร์กินีมาขายราคาแปดแสนบาท คนที่เคยซื้อราคาแพงๆ จะไม่ซื้อแบรนด์นี้แล้ว เจ๊งตั้งแต่คิด
สิ่งที่ผมเล่าคือปรัชญาการทำธุรกิจ ไม่ใช่การเปลี่ยนตามกระแส และความคิดแบบนี้เป็นอมตะ ไม่มีการเพิ่มสัดส่วนการตลาดด้วยราคาที่ต่ำลง มีแต่เพิ่มสัดส่วนด้วยระดับไฮเอนด์ ขนาดแฟรนไชส์ ผมยังไม่ขายเลย เพราะผมคุมไม่ได้ ถ้าเอาปลาผมไปร้อยตัว แล้วเพาะเองร้อยตัว ธุรกิจผมจบเลย
6. เหตุใดปลาคาร์พนำเข้าราคาแพงมาก ?
คิดแทนคนเลี้ยงไม่ได้ อย่างคนซื้อรถยนต์แพงๆ รู้อยู่ว่า ซื้อแล้วขาดทุนทันที 30 เปอร์เซ็นต์ อย่างปลาคาร์ฟซื้อไปแล้ว จะตายเมื่อไหร่ไม่รู้ คนส่วนใหญ่ซื้อก็เพราะชอบ
ตอนผมเริ่มทำธุรกิจปลาในช่วงแรกๆ ผมก็เคยแนะนำคนซื้อบางคน เพราะไม่อยากให้เขาเสียเงินเยอะเกินไป แต่พอไปส่งปลาที่บ้านเขา ก็คิดอีกแบบ บางคนมหาเศรษฐีเลยเพราะมนุษย์มีหลากหลายแบบ
หมายเหตุ : ข้อมูลจากการอบรม Alternative Investment ทางรอดฝ่าวิกฤติกับสินทรัพย์ทางเลือก เรื่องเลี้ยงปลาคาร์ฟ เสริมฮวงจุ้ย,สร้างเงินล้าน ด้วยปลาคาร์ฟ ของกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563