3 เรื่องใหญ่! ปฏิรูปด้านสาธารณสุข
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เปิดรับฟังความคิดเห็นแผนปฏิรูปด้านสาธารณสุข 10 ประเด็นหลัก ในการจัดการภาวะโรคระบาด-โรคอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสังคมผู้สูงอายุ สาเหตุคุกคามสุขภาพคนไทย บูรณาการทุกภาคส่วนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
วันนี้ (2 กันยายน 2563) ที่อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้เป็นชุดที่ 2 มีระยะเวลาดำเนินการเพียง 2 ปี ครบกำหนดในวันที่ 14 สิงหาคม 2565 ยืนยันว่า จะต่อยอดประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขของคณะกรรมการฯ ชุดแรกที่มี นายแพทย์เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน ให้เห็นเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.ระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ 2.ระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศสุขภาพ 3.กำลังคนสุขภาพ 4.ระบบบริการปฐมภูมิ 5.การแพทย์แผนไทย 6.การแพทย์ฉุกเฉิน 7.การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 8.ความรอบรู้ด้านสุขภาพ 9.การคุ้มครองผู้บริโภค และ 10.ระบบหลักประกันสุขภาพ
“การปฏิรูปทุกเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ ความสำเร็จอาจต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปี แต่อย่างน้อยช่วง 2 ปีนี้ ต้องวางระบบที่ดีของประเทศ ถือเป็นความท้าทาย โดยจะจัดการใน 3 เรื่องที่เป็นภาวะคุกคามด้านสาธารณสุขของไทยและโลกก่อน ได้แก่ โรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs และสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งต้องอาศัยทั้ง 10 ประเด็นปฏิรูปในการขับเคลื่อน” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์อุดมกล่าว
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์อุดม กล่าวต่อว่า เรื่องโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ จะนำบทเรียนโรคโควิด 19 มาเป็นต้นแบบ เพราะแม้ประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุขจะควบคุมโรคโควิด 19 ได้ดี แต่ต้องการบูรณาการเชื่อมโยงหน่วยงานอื่นๆ ให้มากขึ้น กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ยังไม่ครอบคลุม สิ่งสำคัญคือที่ทำให้ควบคุมโรคนี้ได้สำเร็จคือความร่วมมือของประชาชน เช่นเดียวกันการปฏิรูปที่จะสำเร็จได้
สำหรับประเด็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถือเป็นปัญหาของโลก ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตรวมปีละ 56 ล้านคน โดยมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึงร้อยละ 70 ขณะที่ประเทศไทยก็มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงสุดเช่นกัน และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก ปีละ 3-4 แสนล้านบาท จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน ควบคุมโรคได้ตามเกณฑ์ที่แพทย์กำหนดเพียงร้อยละ 25 ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยร้อยละ 40 มารู้ตัวอีกทีเมื่อเกิดอาการ ทำให้เป็นอัมพาต หัวใจวาย เสียชีวิต จึงต้องปฏิรูป โดยบูรณาการบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ความรอบรู้ด้านสุขภาพเข้ากับการรักษา หากปรับพฤติกรรมได้โรคก็จะลดลง
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์อุดมกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องผู้สูงวัย ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 60 ปีถึงร้อยละ 20 ของประเทศในปี 2567-2568 และจะเกินร้อยละ 25 ในปี 2578 ซึ่งผู้สูงอายุจะเป็นโรคจากความเสื่อมของร่างกาย มีค่าใช้จ่ายมากกว่าคนหนุ่มสาว 5-10 เท่า ที่ผ่านมามีการตั้งหน่วยงานต่างๆ ขึ้นมาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ จึงต้องปฏิรูปเพื่อขับเคลื่อนและเกิดการบูรณาการ โดยเฉพาะการดูแลที่บ้านและชุมชน ซึ่งถือเป็น new normal ของระบบสุขภาพหลังจากมีวิกฤตโรคโควิด 19 ตั้งเป้าหมายให้มีผู้บริบาลดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น มีการผลิตเพิ่มใหม่ภายในปี 2565 จำนวนรวม 70,000 คน
“การปฏิรูปต้องทำอะไรที่ไม่เหมือนเดิม ถ้าทำแบบเดิมก็ไม่มีการปฏิรูป ซึ่งใน 3 เรื่องที่จะขับเคลื่อนเป็นเพียงตุ๊กตาภาพใหญ่ที่ตั้งไว้ ยังไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด สามารถปรับปรุงได้ จึงนำมารับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ขอให้ช่วยกันคิดเสนอแนะให้เกิดการปฏิรูปผ่าน 10 ประเด็น เช่น การจัดการ ระบบการเงินการคลัง 3 กองทุนสุขภาพทั้งบัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม ทำอย่างไรถึงมีความยืดหยุ่นมากขึ้น การลดเหลื่อมล้ำ การยกระดับเรื่องข้อมูลที่ยังไม่เชื่อมโยง ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์วางแผนได้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เป็นคอขวดให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ สร้างนวัตกรรมระบบบริการปฐมภูมิ เช่น ปรับแผนการทำงานให้คล่องตัว สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนซึ่งผู้สนใจสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ผ่านเว็บไซต์ http://nscr.nesdb.go.th/thailandreform" ศ.คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดมกล่าว