เปิด14 เมืองสมุนไพรช่วยเกษตรกรไทย
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก จึงได้มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้เกิดการพัฒนาวิจัย
ผลิตสมุนไพรไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยา เครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน รวมถึงส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศเกิดการพัฒนาอย่างมั่นคง
เมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 โดยมี "ดร.สาธิต ปิตุเตชะ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการการประชุม มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพร
โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เครือข่ายนักวิชาการ เร่งพิสูจน์ความปลอดภัย คุณภาพ ประสิทธิภาพและประกาศเป็นรายการผลิตภัณฑ์สมุนไพรอ้างอิง เพื่อให้การอนุมัติผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีความรวดเร็วลดความยุ่งยากในการเตรียมเอกสารขออนุญาตของผู้ประกอบการ
ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้มีระบบการให้คำปรึกษาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อยู่ระหว่างการวิจัย และส่งเสริมอุตสาหกรรมสารสกัดสมุนไพร และพัฒนาระบบการรับรองสารสกัดสมุนไพรที่ใช้สำหรับใช้อ้างอิงในการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เพื่อใช้เป็นเอกสารรับรองการส่งออก เป็นการส่งเสริมการตลาด เพิ่มมูลค่าการส่งออก
รวมทั้งได้ตั้งศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพร เพื่อให้คำปรึกษาผู้ประกอบการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีการจัดอบรมยกระดับผู้ประกอบการ ส่งเสริมภาพลักษณ์ทางการตลาด และให้ข้อมูลผู้ประกอบการสมุนไพรแบบครบวงจร (One Stop Service) พร้อมสนับสนุนสมุนไพรเป็น Product Champions
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังมีมติเห็นชอบให้ยกระดับเมืองสมุนไพรทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มการเกษตรวัตถุดิบสมุนไพร ประกอบด้วย จังหวัดอำนาจเจริญ, สุรินทร์, มหาสารคาม, อุทัยธานี, สกลนคร 2.กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร
ประกอบด้วย จังหวัด นครปฐม, สระบุรี, ปราจีนบุรี, จันทบุรี และ3.กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงามประกอบด้วยเชียงราย, พิษณุโลก, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, สงขลา
ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามูลค่าทางการตลาดสมุนไพรในประเทศสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกสูงถึง3 ล้านล้านบาท ประเทศไทยมีการส่งออกสมุนไพรไทยอยู่ในหลักแสนล้านบาท โดยส่งออกกลุ่มอาหารเสริมกว่า 80,000 ล้านบาทกลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาทและกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท
เนื่องจากปัจจุบันคนรุ่นใหม่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า “สมุนไพร” มีความปลอดภัยประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้สมุนไพรของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจุบัน และมีการนำสมุนไพรมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 79 % อาหารเสริม 17 % และยารักษาโรค 4 %
พืชสมุนไพรที่ได้รับความนิยมได้แก่ ไพล ใบบัวบก กระชายดำ ขมิ้นชัน และในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สมุนไพรที่จะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วคือ ฟ้าทลายโจร ขิง กระเทียม หอมแดง และมะนาว เพราะมีประสิทธิภาพในการช่วยแก้อาการและป้องกันไข้หวัด
โดยปี 2562 สมุนไพรไทยมีมูลค่าทางการตลาดในประเทศที่สูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งประเทศไทยมีการส่งออกวัตถุดิบ ทั้งพืชสมุนไพรสด แห้ง และสารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งในรูปยา เครื่องสำอางสปา และ เสริมอาหารระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2563 แบ่งเป็นสมุนไพร ประมาณ 324.2 ล้านบาทสารสกัดจากสมุนไพร 184.8 ล้านบาทเครื่องเทศและสมุนไพร 2,837.2 ล้านบาทเครื่องสำอางเครื่องหอมและสบู่ 40,070.5 ล้านบาทเครื่องสำอางสบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว 52,218.7 ล้านบาท
ขณะเดียวกันพืชสมุนไพรยังนำไปใช้ในธุรกิจสปาด้วย ตามนโยบายยกระดับและเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสปาไทย(Creative Spa & Wellness Thailand) โดยมีการใช้สมุนไพรมาเป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ เช่นนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในสปา เช่น น้ำมันนวดตัว ครีมนวดตัว ครีมพอก ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเส้นผม ผลิตภัณฑ์บำรุงเล็บ และเท้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ปรับอากาศ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อธุรกิจสปาเปิดดำเนินการได้จะทำให้ตลาดสมุนไพรไทยเติบโตไปด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ปี 2562 มูลค่าธุรกิจสปาทั่วโลก ประมาณ 27 ล้านล้านบาทธุรกิจสปาของไทย อยู่ที่ประมาณ 35,000 ล้านบาท จัดเป็นอันดับที่ 16 ของโลก และเป็นอันดับ 5 ของเอเชียมีกิจการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข2053 แห่ง แบ่งเป็นสปาเพื่อสุขภาพ 531 แห่ง นวดเพื่อสุขภาพ 1217 แห่ง นวดเพื่อเสริมสวย 305 แห่ง
ประเทศไทยได้รับการยอมรับให้เป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของโลกที่มีระบบการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่ดีเหมาะสำหรับการเป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ด้านสุขภาพและความงามในภูมิภาคนี้